71 total views, 2 views today
รัฐคูเวต
State of Kuwait
เมืองหลวง คูเวตซิตี
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 28-31 องศาเหนือกับเส้นลองจิจูดที่ 46-49 องศาตะวันออก โดยตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาระเบีย บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของอ่าวเปอร์เซีย/อ่าวอาหรับ มีพื้นที่ 17,818 ตร.กม. ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 158 ของโลก และขนาดเล็กกว่าไทย 28.8 เท่า มีชายแดนทางบกยาว 475 กม. และมีชายฝั่งยาว 499 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับอิรัก (254 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวเปอร์เซีย/อ่าวอาหรับ (มีชายฝั่งยาว 499 กม.)
ทิศใต้ ติดกับซาอุดีอาระเบีย (221 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับอิรักและซาอุดีอาระเบีย
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบทะเลทราย ไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 0.84% จุดสูงสุดของประเทศเป็นเพียงเนินที่ยกตัวสูง 306 ม. ไม่มีภูเขา อย่างไรก็ดี อ่าวคูเวตทางตะวันออก
ของประเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคูเวตซิตี เมืองหลวงของประเทศ มีภูมิประเทศตามธรรมชาติที่เหมาะสำหรับการเป็นท่าเรือน้ำลึก นอกจากนี้ ยังมีเกาะ 9 เกาะทอดตัวอยู่ตามชายฝั่งอ่าวคูเวต เกาะที่ใหญ่ที่สุด คือ เกาะบูบิยาน (863 ตร.กม.) ส่วนที่เหลือเป็นเกาะขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีผู้คนอาศัย เนื่องจากเป็นผืนทรายหรือโคลนที่ว่างเปล่า จึงถูกใช้เป็นที่ตั้งของประภาคาร ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และที่จอดเรือขนาดใหญ่
วันชาติ 25 ก.พ. (วันเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตพระองค์ที่ 11 ของเชค อับดุลลอฮ์ อัซซาลีม อาลเศาะบาฮ์ เมื่อปี 2493)
เชค เศาะบาห์ อัลคอลิด อัลฮะมัด อาลเศาะบาฮ์
Sheikh Sabah al-Khaled al-Hamad Al-Sabah
(นรม.คูเวต และสมาชิกพระราชวงศ์อาลเศาะบาฮ์)
ประชากร 4,464,521 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศประมาณ 3,099,350 คน (ประมาณการ ม.ค.2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติคูเวต)
รายละเอียดประชากร เป็นชาวคูเวต (30.4%) ชาวอาหรับชาติอื่น ๆ (27.4%) ชาวเอเชีย (40.3%) ชาวแอฟริกา (1%) และอื่น ๆ (1%) อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 24.3% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 72.78% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 2.92% (ประมาณการปี 2563) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวมประมาณ 78.9 ปี อายุขัยเฉลี่ยของเพศชาย 77.44 ปี อายุขัยเฉลี่ยของเพศหญิง 80.2 ปี อัตราการเกิด 17.9 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 2.23 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.2% (ประมาณการปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ ชนกลุ่มแรกที่เข้าไปตั้งรกรากและสถาปนารัฐคูเวตขึ้นมา คือ เผ่าบะนี คอลิด ที่อพยพจากที่ราบสูงนัจญ์ (บริเวณตอนกลางของคาบสมุทรอาระเบีย) โดยเลือกเชค เศาะบาฮ์ บิน ญาบิร เป็นเจ้า ผู้ครองรัฐคนแรกเมื่อปี 2299 และนำไปสู่การสถาปนาราชวงศ์อาลเศาะบาฮ์ขึ้นปกครองคูเวตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี การทำสนธิสัญญากับสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2442 ส่งผลให้สหราชอาณาจักรเข้าไปมีอำนาจในการกำกับดูแลนโยบายต่างประเทศและการป้องกันประเทศของคูเวต แลกเปลี่ยนกับการที่สหราชอาณาจักรให้ความคุ้มครองแก่คูเวต แต่หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 สหราชอาณาจักรประกาศให้คูเวต ซึ่งมีอำนาจปกครองตนเอง กลายเป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักรอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหราชอาณาจักรจึงยินยอมทำข้อตกลงให้เอกราชแก่คูเวตเมื่อ 19 มิ.ย.2520
การเมือง ปกครองแบบระบอบกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) และถือเป็นประเทศมุสลิมที่มีการปกครองแบบเสรีนิยมมากที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง โดยมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อ 11 พ.ย.2505 ในรัชสมัยเชค อับดุลลอฮ์ เจ้าผู้ครองรัฐคูเวตพระองค์ที่ 11 และใช้มาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นรัชสมัยของ เชค นะวาฟ อัลอะห์มัด อัลญาบิร อาลเศาะบาฮ์ (พระชนมพรรษา 85 พรรษา/ปี 2565) ที่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตพระองค์ที่ 16 เมื่อ 30 ก.ย.2563 การปกครองแบ่งอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐ ออกเป็น 3 ฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายบริหาร : รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจบริหารเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐ (อมีร หรือ Emir) ซึ่งเป็นองค์พระประมุขของรัฐ เจ้าผู้ครองรัฐทรงขึ้นครองราชสมบัติด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ทรงมีพระราชอำนาจในการกำกับดูแลฝ่ายบริหารผ่าน รมว.กระทรวงต่าง ๆ โดยทรงแต่งตั้ง นรม. และอนุมัติ ครม. ที่ นรม.เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ ในภาวะปกติ เจ้าผู้ครองรัฐอาจใช้พระราชอำนาจในการปลด นรม. ครม. ออท. หรือยุบสภา เพื่อรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไว้เองได้ ส่วนกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ หรือตกอยู่ในภาวะสงคราม เจ้าผู้ครองรัฐจะทรงมีอำนาจควบคุมประเทศแบบเบ็ดเสร็จโดยอัตโนมัติ ขณะที่รัฐสภาจะถูกระงับบทบาทไว้ชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง
ฝ่ายนิติบัญญัติ : อำนาจนิติบัญญัติเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐ โดยทรงใช้พระราชอำนาจผ่านรัฐสภา (National Assembly หรือ Majlis al Umma) ซึ่งเป็นสภาเดี่ยว มีสมาชิกสภา 65 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 50 คน ที่เหลืออีก 15 คน มาจากแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งใน ครม. วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ ธ.ค.2563 ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2567 เจ้าผู้ครองรัฐมีอำนาจยุบสภา รัฐสภามีหน้าที่ออกกฎหมาย ร่างกฎหมายทุกฉบับจะไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนี้ รัฐสภายังมีอำนาจในการกำหนดเงินได้ของเจ้าผู้ครองรัฐและการรับรองการเสนอชื่อเจ้าผู้ครองรัฐและมกุฎราชกุมาร ทั้งนี้ี คูเวตเป็นรัฐอาหรับในภูมิภาคอ่าวประเทศแรกที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
ฝ่ายตุลาการ : ใช้ระบบกฎหมายแบบผสมผสานระหว่าง Common law ของสหราชอาณาจักร Civil law ของฝรั่งเศส กับบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม การดำเนินการใด ๆ ของฝ่ายตุลาการต้องเป็นไปในนามเจ้าผู้ครองรัฐ พระราชอำนาจในการอภัยโทษเป็นของเจ้าผู้ครองรัฐ นอกจากนี้ เจ้าผู้ครองรัฐยังทรงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่สามารถล่วงละเมิดได้ ผู้ใดที่วิพากษ์วิจารณ์เจ้าผู้ครองรัฐมีความผิดและต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
พรรคการเมืองสำคัญ : ไม่มีระบบพรรคการเมืองในคูเวต แต่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เช่น กลุ่ม Islamic Constitutional Movement กลุ่ม Shia Islamists of the National Islamic Alliance และกลุ่ม Kuwait Democratic Forum
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ โดยได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกว่าเป็นประเทศที่มีรายได้สูง อย่างไรก็ดี แหล่งรายได้สำคัญของประเทศมาจากอุตสาหกรรมน้ำมัน นับตั้งแต่มีการขุดพบแหล่งน้ำมันเมื่อปี 2480 ปัจจุบันรายได้จากการส่งออกน้ำมันของคูเวตมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมด (ประมาณ 40% ของ GDP) นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตน้ำมัน จากที่ผลิตได้วันละประมาณ 2.80 ล้านบาร์เรล เป็นวันละ 3.5-4 ล้านบาร์เรล ให้ได้ภายในปี 2578 โดย Kuwait Petroleum Corporation ซึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐ เพิ่มการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันด้วยงบประมาณ 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันมีการออกกฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลขายสินทรัพย์ในวิสาหกิจของรัฐแก่นักลงทุนเอกชนได้ และการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปีที่มุ่งส่งเสริมการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันด้วยการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาค การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น
ปัจจุบันคูเวตประกาศใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ “New Kuwait 2035” ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยาวตามพระวิสัยทัศน์ของ เชค เศาะบาฮ์ อดีตเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ที่ทรงต้องการให้คูเวตเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และการเงินอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคภายในปี 2578 โดยริเริ่มโครงการก่อสร้างเมืองเศรษฐกิจใหม่และเขตการค้าเสรี Madinat al-Hareer (Silk City) ทางภาคเหนือของประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งมีแผนสร้างแล้วเสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการภายในปี 2578 ขณะที่เป้าหมายระยะสั้นและระยะกลาง คือ การทำให้คูเวตเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งหนึ่งของโลก มีการลงทุนจากต่างชาติในคูเวตเพิ่มขึ้น 300% โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร บริการ และพลังงานทดแทน รวมทั้งมุ่งพัฒนาภาคการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้และสร้างตำแหน่งงานใหม่ในตลาดแรงงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งในประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานด้วยการส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
อุตสาหกรรมหลัก : ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ การต่อเรือและซ่อมเรือ การสกัดน้ำทะเลเป็นน้ำจืด การแปรรูปอาหาร การผลิตวัสดุก่อสร้าง
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ : น้ำมันดิบ ซึ่งมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 101,500 ล้านบาร์เรล (มากเป็นอันดับ 6 ของโลก) กำลังการผลิตวันละ 2.438 ล้านบาร์เรล โดยส่งออกวันละ 1.826 ล้านบาร์เรล ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 1.784 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (มากเป็นอันดับ 19 ของโลก) กำลังการผลิตวันละ 12,883 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศทั้งหมด (ข้อมูลเมื่อปี 2563 ของ OPEC)
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดีนาร์คูเวต (Kuwaiti Dinar-KWD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 0.303 ดีนาร์ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 109.43 บาท : 1 ดีนาร์ (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 132,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2564 ของ IMF)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 20,511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 44,610 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 3.2%
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 0.9%
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 53,919 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2563 ของธนาคารโลก)
อัตราการว่างงาน : 6.79% (ประมาณการปี 2563 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ)
แรงงาน : 2.386 ล้านคน
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ได้เปรียบดุล 12,378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2563 ขององค์การการค้าโลก)
มูลค่าการส่งออก : 40,116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (81.5%) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่าง ๆ (10.1%) เช่น ปุ๋ย พลาสติก เหล็ก ซีเมนต์ อลูมิเนียม ทองแดง ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร (1.1%) เช่น นม ข้าวและแป้งสาลี เนื้อสัตว์ปีก และอื่น ๆ (7.3%)
ประเทศส่งออกสินค้าสำคัญ : อินเดีย จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิรัก ซาอุดีอาระเบีย
มูลค่าการนำเข้า : 27,738 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่าง ๆ (80%) เช่น ยานยนต์และอะไหล่ เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรศัพท์ รวมถึงเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร (16%) เช่น นม ข้าวและแป้งสาลี เนื้อสัตว์ปีก น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (4%)
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : สหภาพยุโรป จีน สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ไทย
การทหาร งบประมาณทางทหารเมื่อปี 2563 มีจำนวน 7,763 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.14% ของ GDP) ทั้งนี้ รัฐสภาคูเวตมีมติรับรองพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในห้วง 10 ปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมูลค่ารวม 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับกระทรวงกลาโหมมาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของกองทัพ อาทิ การจัดซื้อครื่องบินรบ รุ่น Typhoon เข้าประจำการในกองทัพ
รัฐธรรมนูญคูเวตกำหนดให้เจ้าผู้ครองรัฐทรงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่งและห้ามกองทัพทำสงครามรุกรานประเทศอื่น ภารกิจของกองทัพคูเวตจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก กองทัพคูเวตอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงกลาโหม มีกำลังพลรวมทั้งสิ้น 17,500 นาย กำลังพลสำรอง 23,700 นาย และมีกองกำลังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ US Central Command (USCENTCOM) ประจำการในค่ายทหารและฐานทัพต่าง ๆ 13 แห่งทั่วคูเวต รวมประมาณ 13,500 นาย นอกจากนี้ คูเวตได้รับสถานะเป็นพันธมิตรหลักนอกเนโต (Major Non-NATO Ally – MNNA) ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2547
– ทบ. มี บก. อยู่ที่ Al Jiwan Camp กำลังพล 11,500 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถัง (MBT) รุ่น M1A2 Abrams จำนวน 218 คัน รุ่น M-84 จำนวน 75 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะ (IFV) รุ่น BMP-2 จำนวน 76 คัน รุ่น BMP-3 จำนวน 122 คัน และรุ่น Desert Warrior จำนวน 236 คัน รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ (APC) รุ่น M113A2 จำนวน 260 คัน รุ่น M577 จำนวน 30 คัน และรุ่น TH 390 Fahd จำนวน 40 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะเอนกประสงค์ รุ่น Sherpa Light Scout จำนวน 118 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะกู้ภัย (ARV/MW) รุ่น M88A1/2 มากกว่า 19 คัน รุ่น Type-653 รุ่น Warrior และรุ่น Aardvark (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ยานยนต์ลาดตระเวนหุ้มเกราะ (NBC) รุ่น TPz-1 Fuchs NBC จำนวน 11 คัน ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ARTY) รุ่น M109A3 จำนวน 37 กระบอก รุ่น Mk F3 จำนวน 18 กระบอก รุ่น PLZ45 จำนวน 51 กระบอก รุ่น AU-F จำนวน 18 กระบอก รุ่น 9A52 Smerch จำนวน 27 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด (MOR) ขนาดและรุ่นต่าง ๆ รวม 78 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถัง (MSL) รุ่น HMMWV TOW จำนวน 66 ลูก รุ่น M901 จำนวน 8 ลูก รุ่น 9K123 Kornet รุ่น TOW-2 รุ่น M47 Dragon และรุ่น Carl Gustav (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านอากาศยาน (SAM) รุ่น Starburst และรุ่น FIM-92 Stinger (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
– ทร. มี บก. อยู่ที่ฐานทัพเรือ Ras al-Qulayah กำลังพลประมาณ 2,000 นาย (ในจำนวนนี้รวมกองกำลังรักษาชายฝั่ง 500 นาย) ยุทโธปกรณ์สำคัญที่ประจำการใน ทร. ได้แก่ เรือตรวจการณ์ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ (PCFG) ชั้น Al Sanbouk จำนวน 1 ลำ ชั้น Istiqlal จำนวน 1 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (PBF) ชั้น Al Nokatha จำนวน 10 ลำ เรือตรวจการณ์ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านเรือ (PBG) ชั้น Um Almaradim จำนวน 8 ลำ เรือระบายพล (LCT) ชั้น Assafar จำนวน 2 ลำ (LCM) ชั้น Abhan จำนวน 1 ลำ เรือลำเลียงยานยนต์และกำลังพล (LCVP) ชั้น ADSB จำนวน 5 ลำ และเรือสนับสนุน (AG) ชั้น Sawahil จำนวน 1 ลำ
– ทอ. มี บก. อยู่ที่ฐานทัพอากาศ Al Mubarak กำลังพล 2,500 นาย ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น F/A-18C Hornet จำนวน 31 เครื่อง และรุ่น F/A-18D Hornet จำนวน 8 เครื่อง เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ (TKR) รุ่น KC-130J Hercules จำนวน 3 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง (TPT) รุ่น C-17A จำนวน 2 เครื่อง และรุ่น L-100-30 จำนวน 3 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี (ATK) รุ่น AH-64D Apache จำนวน 16 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ติดตั้งขีปนาวุธ (MRH) รุ่น SA-342 Gazelle จำนวน 13 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (TPT) รุ่น AS532 Cougar จำนวน 3 เครื่อง รุ่น SA330 Puma จำนวน 7 เครื่อง และรุ่น S-92 จำนวน 3 เครื่อง อาวุธปล่อยแบบอากาศสู่อากาศ (AAM) รุ่น AIM-9L Sidewinder รุ่น R-550 Magic รุ่น AIM-7F Sparrow และรุ่น AIM-120C7 AMRAAM (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยแบบอากาศสู่พื้น (ASM) รุ่น AGM-65G Maverick และรุ่น AGM-114K Hellfire (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยต่อต้านเรือ (AShM) รุ่น AGM-84A Harpoon (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) รวมทั้งยังประจำการระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล รุ่น MIM-104 Patriot PAC-2 GEM จำนวน 40 ชุด และระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยใกล้รุ่น Skyguard/Aspide จำนวน 12 ชุด ในกองบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศของ ทอ. ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังความมั่นคงอื่น ๆ ที่มิใช่ทหาร ได้แก่
ตำรวจ ซึ่งรับผิดชอบการรักษาความมั่นคงภายใน อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย (ไม่ปรากฏข้อมูลกำลังพลและอาวุธประจำการ)
กองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) ซึ่งรับผิดชอบภารกิจสนับสนุนกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดน ทำงานเป็นอิสระจากกองทัพ เนื่องจากอยู่ภายใต้การกำกับของสภากลาโหมสูงสุด (Supreme Council of Defense) ที่มีสมาชิกพระราชวงศ์ชั้นสูงเป็นประธาน มีกำลังพลประมาณ 6,600 นาย
ปัญหาด้านความมั่นคง
ในอดีตหน่วยงานความมั่นคงของคูเวตเน้นภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในประเทศเป็นหลัก และไม่ได้ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามจากภายนอกมากนัก จนเป็นเหตุให้คูเวตเผชิญกับวิกฤติการณ์ครั้งร้ายแรงที่สุดจากการรุกรานของอิรัก เมื่อ 2 ส.ค.2533 โดยไม่ทันตั้งตัวและถูกอิรักประกาศผนวกคูเวตเข้าเป็นจังหวัดที่ 19 ของอิรัก ขณะที่เจ้าผู้ครองรัฐและมกุฎราชกุมารต้องทรงลี้ภัยไปซาอุดีอาระเบียแบบฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี ประชาคมระหว่างประเทศที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ ร่วมกันส่งกองกำลังพันธมิตรจาก 34 ประเทศ โดยอาศัยข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งประชาชาติ (UNSC) ที่ 678 (1990) ซึ่งนำไปสู่การทำสงครามอ่าว (Gulf War) หรือปฏิบัติการ Desert Storm ระหว่าง ม.ค.-ก.พ.2534 เพื่อผลักดันกองกำลังอิรักออกจากคูเวตจนเป็นผลให้คูเวตได้รับการปลดปล่อย ทั้งนี้ ภัยคุกคามรูปแบบเดิมต่อคูเวตจากการโจมตีของกองกำลังต่างชาติลดความสำคัญลง หลังจากสหรัฐฯ โค่นล้มระบอบการปกครองของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุเซน ของอิรักเมื่อปี 2546
ปัจจุบันคูเวตกำลังเผชิญกับภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ เฉพาะอย่างยิ่งการก่อการร้ายจากกลุ่ม Islamic State (IS) ที่เข้าไปเคลื่อนไหวและพยายามก่อเหตุโจมตีในคูเวต ตั้งแต่ปี 2558 ได้แก่
การที่กลุ่ม IS อ้างเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีศาสนสถานของชาวชีอะฮ์ในคูเวตซิตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย เมื่อ 26 มิ.ย.2558 (มีผู้เสียชีวิต 27 คน และบาดเจ็บหลายร้อยคน) การที่กระทรวงมหาดไทยคูเวตสามารถขัดขวางแผนก่อเหตุของกลุ่ม IS ซึ่งมีเป้าหมายโจมตีศาสนสถานชาวชีอะฮ์ในคูเวตและที่ทำการกระทรวงมหาดไทยด้วยระเบิด เมื่อ 4 ก.ค.2559 โดยจับกุมสมาชิกและผู้สนับสนุนกลุ่ม IS ได้หลายราย การจับกุมหญิงชาวฟิลิปปินส์เมื่อ 6 ส.ค.2559 ซึ่งเข้าไปทำงานเป็นแม่บ้านในคูเวต แต่หันไปเข้าร่วมกับกลุ่ม IS และวางแผนจะก่อเหตุก่อการร้ายในคูเวต การที่ชายชาวอียิปต์ซึ่งสนับสนุนกลุ่ม IS พยายามก่อเหตุขับรถบรรทุกติดตั้งระเบิดพุ่งชนรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ในคูเวต เมื่อ 9 ต.ค.2559 และครั้งหลังสุดคือ การจับกุมเยาวชน 6 คน ในข้อหาต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่ม IS เมื่อ ธ.ค.2563
การเผชิญภัยคุกคามจากกลุ่ม IS ทำให้รัฐบาลคูเวตยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการถาวรทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย การเผยแพร่แนวคิดหัวรุนแรงทุกรูปแบบ และการทำลายแหล่งทุน การเพิ่มศักยภาพของหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพ และเร่งดำเนินมาตรการจับกุมและลงโทษสมาชิกเซลล์ก่อการร้ายทั้งกลุ่ม IS และกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่ม Muslim Brotherhood และกลุ่มอัลกออิดะฮ์ (Al Qaida-AQ) ที่เคยพยายามก่อเหตุโจมตีค่าย Arifjan ของสหรัฐฯ ในคูเวต (กองบัญชาการส่วนหน้าของ US Central Command ที่รับผิดชอบการส่งกำลังบำรุงแก่กองกำลังสหรัฐฯ ที่เข้าไปปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของหน่วยข่าวกรองคูเวต (State Security Service-SSS) และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลเมื่อ ส.ค.2552 แต่ไม่สำเร็จ
นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มชีอะฮ์ในคูเวตที่มีความเชื่อมโยงกับอิหร่านยังคงเป็นประเด็นที่คูเวตห่วงกังวล เนื่องจากมีการตรวจพบและจับกุมสมาชิกเครือข่ายจารกรรมของอิหร่านในคูเวตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญเช่น กรณีการจับกุมชาวคูเวตและชาวอิหร่าน รวม 25 คน เนื่องจากมีพฤติการณ์ลักลอบติดต่อกับอิหร่านและกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน สะสม และซ่อนอาวุธ รวมถึงระเบิดจำนวนมากไว้ในบ้านพักบริเวณชายแดนคูเวต-อิรัก เมื่อ ก.ย.2558 กรณีรัฐบาลคูเวตมีคำสั่งเมื่อ 20 ก.ค.2560 ปิดสำนักงานวัฒนธรรมประจำ สอท.อิหร่าน/คูเวต และให้ลดจำนวนนักการทูตอิหร่านประจำ สอท.อิหร่าน/คูเวต (ในทางปฏิบัติ คือ การขับนักการทูตอิหร่านจำนวนหนึ่งออกจากคูเวต) เนื่องจากตรวจพบว่านักการทูตอิหร่านในคูเวตติดต่อกับเซลล์ก่อการร้ายที่ถูกจับกุมเมื่อปี 2559 และกรณีหลังสุด คือ การจับกุมผู้ต้องสงสัยในคูเวตในข้อหาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ รวม 18 คน เมื่อ 10-18 พ.ย.2564
ความสัมพันธ์ไทย-คูเวต
คูเวตกับไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 14 มิ.ย.2506 โดยไทยเปิด สอท. ณ คูเวตซิตี เมื่อ 15 ส.ค.2526 ขณะที่คูเวตแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำมาเลเซีย เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อ ม.ค.2540 จึงมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตคูเวตประจำประเทศไทยคนแรก ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมาโดยตลอด เฉพาะอย่างยิ่งคูเวตตระหนักถึงบทบาทของไทยที่เคยช่วยเหลือคูเวตตลอดช่วงสงครามอ่าวเมื่อปี 2533-2534 ด้วยการสนับสนุนข้อมติ UNSC ทุกข้อที่เกี่ยวข้องกับกรณีอิรักรุกรานคูเวต รวมทั้งส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังสังเกตการณ์แห่งสหประชาชาติประจำชายแดนอิรัก-คูเวต (UN Iraq-Kuwait Observer Mission-UNIKOM) ด้วยเหตุนี้ คูเวตจึงให้การสนับสนุนไทยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ต่อองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เป็นอย่างดี
การแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างเป็นทางการของทั้งสองฝ่ายยังมีน้อย โดยการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของฝ่ายคูเวตที่สำคัญ เช่น เชค เศาะบาฮ์ อดีตเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต เสด็จฯ เข้าร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ระหว่าง 11-14 มิ.ย.2549 และเสด็จฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 2 (Asia Cooperation Dialogue -ACD) ระหว่าง 8-10 ต.ค.2559 ขณะที่นาย Mohamad A. Al-Mijrin Al-Roumi อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศคูเวต เยือนไทยในฐานะผู้แทนพิเศษของรอง นรม. และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศคูเวต เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย-ตะวันออกกลาง (Asia-Middle East Dialogue-AMED) ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 14-16 ธ.ค.2553 ส่วนการเยือนคูเวตอย่างเป็นทางการของฝ่ายไทยที่สำคัญครั้งหลังสุด คือ การเยือนของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นรม. เพื่อเข้าร่วมการประชุม ACD ครั้งที่ 1 ซึ่งคูเวตเป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 15-17 ต.ค.2555
ความร่วมมือด้านการพัฒนา กองทุนคูเวตเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอาหรับ (Kuwait Fund for Arab Economic Development-KFAED) ซึ่งรัฐบาลคูเวตก่อตั้งขึ้นเมื่อตั้งแต่ ธ.ค.2504 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ในการพัฒนาประเทศแก่ประเทศอาหรับ ประเทศกำลังพัฒนา และองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก เคยให้เงินกู้แก่ไทยเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาภายในประเทศ ได้แก่ โครงการไฟฟ้าสำหรับหมู่บ้านใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทยเมื่อปี 2519 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปัตตานีเมื่อปี 2520 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเชี่ยวหลานเมื่อปี 2525 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกงเมื่อปี 2522 และปี 2524 รวมเป็นเงินประมาณ 2,409 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลคูเวตยังให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการพัฒนาด้านสังคมและการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เช่น กระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลามของคูเวตสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักวิทยบริการของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี วิทยาเขตปัตตานี เป็นเงินจำนวน 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 108 ล้านบาท) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2557
การพบหารือระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศของไทย กับเชค เศาะบาฮ์ อัล คอลิด อัล ฮะมัด อาลเศาะบาฮ์ รอง นรม. และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศของคูเวต นอกรอบการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ สมัยที่ 74 ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อ 26 ก.ย.2562
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น โดยคูเวตแสดงความสนใจจะร่วมมือกับไทยในด้านเกษตรกรรมและการประมง เนื่องจากเห็นว่า ไทยมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการประมงอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม และทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) ไทย-คูเวต ระดับรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นกลไกในการติดตามความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ ทั้งด้านการค้าการลงทุน สังคม วัฒนธรรม และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ
ด้านเศรษฐกิจ การค้าไทย-คูเวต เมื่อปี 2563 มีมูลค่า 826.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (25,753.12 ล้านบาท) ลดลงจากเมื่อปี 2562 ที่มีมูลค่า 1,130.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (35,555.44 ล้านบาท) โดยปี 2563 ไทยส่งออกมูลค่า 269.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (8,320.68 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 557.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (17,732.43 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 288.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (135,013 ล้านบาท) ขณะที่มูลค่าการค้าห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 อยู่ที่ 832.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (26,376.89 ล้านบาท) โดยไทยส่งออกมูลค่า 237.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,377.21 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 594.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18,999.67 ล้านบาท) ซึ่งไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเดียวกันของปี 2563
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สินค้านำเข้าสำคัญจากคูเวต ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ
ด้านการท่องเที่ยว คูเวตเป็นตลาดท่องเที่ยวที่เล็ก แต่มีศักยภาพสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวระหว่างไทย-คูเวต โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) โดยเมื่อปี 2562 มีชาวคูเวตเดินทางมาไทยรวมประมาณ 80,446 คน ในจำนวนนี้ เป็นชาวคูเวตที่ขอรับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทนักท่องเที่ยวและได้รับยกเว้น VISA จำนวนประมาณ 77,514 คน อย่างไรก็ดี ห้วงปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ทั่วโลก รวมถึงไทยและคูเวต ต้องใช้มาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทำให้มีชาวคูเวตเดินทางมาไทยลดลง อยู่ที่ 10,766 คน ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2564 มีชาวคูเวตเดินทางมาไทย รวม 1,672 คนส่วนแรงงานชาวไทยในคูเวต มีประมาณ 3,000 คน (ข้อมูลเมื่อ มี.ค.2562 ของกระทรวงแรงงานไทย) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกึ่งฝีมือในธุรกิจรับเหมาขุดเจาะและประกอบท่อส่งน้ำมัน รับเหมาก่อสร้างอู่ต่อเรือ อู่ซ่อมรถยนต์ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ร้านเสริมสวย และร้านตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนและนักศึกษาชาวไทยประมาณ 55 คน
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการบิน (27 เม.ย.2519) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (7 มี.ค.2530) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (29 ก.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับคูเวต (13 ส.ค.2551) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวิชาการ (13 ส.ค.2551) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางพิเศษ และหนังสือเดินทางราชการ (17 พ.ย.2564)
- สถานการณ์การเมืองภายในคูเวตจากปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างรัฐสภา (มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน) กับรัฐบาล (มาจากการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต) ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของ เชค นะวาฟ เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต เมื่อ 30 ก.ย.2563 และหลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาคูเวตชุดใหม่เมื่อ ธ.ค.2563 ทั้งนี้ ปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างรัฐสภากับรัฐบาลคูเวต เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 นำไปสู่การเปลี่ยน นรม. และ ครม.ชุดใหม่หลายครั้ง ส่งผลให้การผลักดันนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องผ่านรัฐสภาเผชิญภาวะชะงักงัน ครั้งล่าสุด คือ การยื่นหนังสือลาออกของ เชค เศาะบาฮ์ อัลคอลิด อัลฮะมัด อาลเศาะบาฮ์ นรม.คูเวต พร้อม ครม. ทั้งคณะต่อเจ้าผู้ครองรัฐคูเวตเมื่อ 9 พ.ย.2564 ซึ่งเป็นการยื่นขอลาออกครั้งที่ 2 ในห้วงปี 2564
- ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงคูเวต โดยนับตั้งแต่คูเวตพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกในประเทศ เมื่อ 26 ก.พ.2563 จนถึง
31 ต.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อเชื้อ COVID-19 ในคูเวต รวม 412,678 ราย และเสียชีวิต 2,461 ราย (มากเป็นอันดับ 8 ของประเทศในตะวันออกกลาง อันดับ 26 ของประเทศเอเชีย และอันดับ 71 ของโลก)