70 total views, 2 views today
สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
Federal Democratic Republic of Nepal
เมืองหลวง กาฐมาณฑุ
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนที่ราบสูงทางทิศใต้ของเทือกเขาหิมาลัย บริเวณเส้นละติจูดที่ 28 องศาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 84 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 147,181 ตร.กม. ไม่มีทางออกทะเล
อาณาเขต ความยาวของเส้นพรมแดนทั้งหมด 3,159 กม.
ทิศเหนือ ติดกับทิเบต และจีน (1,389 กม.)
ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ติดกับอินเดีย (1,770 กม.)
ภูมิประเทศ ทางตอนใต้เป็นที่ราบ มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน ทางตอนกลางและเหนือเป็นเทือกเขา ที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาหิมาลัย
วันชาติ 29 พ.ค. (เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐเมื่อปี 2551)
นายคัดกา ปราสาท โอลิ
Khadga Prasad Sharma Oli
(นรม.เนปาล)
ประชากร ประมาณ 29,8710,031 คน (พ.ย. 2564)
รายละเอียดประชากร ประกอบด้วยชนหลากหลายเชื้อชาติ (เมื่อปี 2554 มีประมาณ 125 เชื้อชาติ) ที่สำคัญ คือ เชื้อสาย Chhetri 16.6% Brahman-Hill 12.2% Magar 7.1% Tharu 6.6% Tamang 5.8% Newar 5% Kami 4.8% Yadav 4% และอื่น ๆ 32.7% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 28.81% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 65.36% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 5.83% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรเนปาลโดยรวมประมาณ 71.74 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชายประมาณ 70.1 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิงประมาณ 73.2 ปี อัตราการเกิด 23.4 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 27.7 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.07%
การก่อตั้งประเทศ เนปาลก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 โดยสมเด็จพระราชาธิบดี Prithvi Narayan Shah แห่งราชวงศ์ชาห์ ผู้ปกครองแคว้น Gorkha รวบรวมรัฐต่าง ๆ ก่อตั้งเป็นอาณาจักร Gorkha หลังจากนั้น
ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ของสมเด็จพระราชาธิบดี Prithvi Narayan Shah ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพการปกครองราชอาณาจักรไว้ได้ เกิดความไม่สงบภายใน ส่งผลให้สหราชอาณาจักรสามารถยึดครองอาณาจักร Gorkha ได้ตั้งแต่ปี 2357-2359 หลังจากปี 2389 ตระกูลรานา (Rana) กอบกู้เสถียรภาพกลับคืนมาสู่เนปาล ตั้งตนเป็น นรม. และสืบทอดอำนาจทางสายเลือด รวมทั้งลดทอนอำนาจกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ การปกครองของตระกูลรานายึดแนวการบริหารประเทศจากส่วนกลาง และดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวเนปาลจากอิทธิพลภายนอก ทำให้เนปาลรอดพ้นยุคล่าอาณานิคมมาได้โดยที่ไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใด แต่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ในช่วงปี 2493 สมเด็จพระราชาธิบดีตรีภูวัน ผู้สืบสกุลโดยตรงของสมเด็จพระราชาธิบดี Prithvi Narayan Shah ซึ่งหลบหนีไปยังอินเดียได้จับอาวุธขึ้นต่อต้านการปกครองของตระกูลรานา ส่งผลให้สามารถรื้อฟื้นการปกครองโดยราชวงศ์ชาห์ และเข้าสู่ยุคการปกครองแบบกึ่งรัฐธรรมนูญ มีการจัดตั้ง
พรรคการเมือง ซึ่งตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา มีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาล โดยยึดแนวทาง
การปกครองแบบสหราชอาณาจักร จนกระทั่งปี 2533 เนปาลมีประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองโดยพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย
ตั้งแต่ปี 2539 กลุ่มนิยมลัทธิเหมาทำสงครามประชาชน และมีการสู้รบยืดเยื้อ จนกระทั่งปี 2549 ได้จัดทำข้อตกลง และจัดการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลเนปาลกับกลุ่มนิยมลัทธิเหมา ต่อมา เมื่อปี 2544 เกิดเหตุปลงพระชนม์หมู่ราชวงศ์โดยเจ้าชายฑิเปนทรา และการสถาปนาสมเด็จพระราชาธิบดี คเยนทราขึ้นครองราชย์ สร้างความไม่พอใจให้ประชาชน ขณะเดียวกันกลุ่มนิยมลัทธิเหมาสามารถขยายอิทธิพลเข้ามายังเมืองหลวง และยุยงให้มีการประท้วงต่อต้านสถาบันกษัตริย์ จน เม.ย.2549 สมเด็จพระราชาธิบดี คเยนทรายอมคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ
การเมือง ปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และ นรม. เป็นผู้บริหารประเทศ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 14 เขต
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการสรรหาของสมาชิกรัฐสภา ส่วน นรม. มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน มีอำนาจแต่งตั้ง ครม. การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 11 ก.พ. 2557
ฝ่ายนิติบัญญัติ : สภาร่างรัฐธรรมนูญมีสมาชิก 601 คน โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 240 คน ตัวแทนจากทั่วประเทศ 335 คน และมาจากการสรรหาของ ครม. 26 คน การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 19 พ.ย. 2556
ฝ่ายตุลาการ : ศาลสูงสุด นอกจากทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดยังทำหน้าที่เป็นศาลอุทธรณ์ด้วย
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ พรรคคองเกรสเนปาล (Nepali Congress-NC) พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลหรือเหมาอิสต์ (Communist Party of Nepal/Maoist-CPN/M) พรรคสามัคคีมาร์ซิสต์-เลนินนิสต์ (Communist Party of Nepal/United Marxist Leninist-CPN/UML)
เศรษฐกิจ เนปาลเป็นประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลก ประชากรเกือบ 1 ใน 4 มีรายได้ต่ำกว่าระดับมาตรฐานความยากจน เนปาลเริ่มพัฒนาไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในช่วงปี 2493 และพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี เนปาลดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังคงพึ่งพาความช่วยเหลือ
ด้านการเงินจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณการพัฒนาประเทศ ขณะที่รัฐบาลเนปาลให้คำมั่น
ในการบริหารประเทศอย่างโปร่งใส ธรรมาภิบาล และเชื่อถือได้ โดยเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
การเกษตรยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจเนปาล โดยจ้างงานกว่า 71% ของจำนวนประชากร และมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 25% ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวและข้าวสาลี อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น ถั่ว ปอ อ้อย ยาสูบ เมล็ดพืช ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ แร่ควอทซ์ ไม้ ไฟฟ้า พลังน้ำ แร่ลิกไนต์ ทองแดง โคบอลต์ และแร่เหล็ก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเนปาลขยายตัวเพียงเล็กน้อยเพราะได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว และการที่อินเดียปิดกั้นทางการค้าเมื่อปี 2558
เนปาลใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตได้ปีละประมาณ 42,000 เมกะวัตต์ แต่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เทคโนโลยีที่ยังคงล้าสมัย พื้นที่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ความไม่สงบทางการเมือง การชุมนุมประท้วงของผู้ใช้แรงงานและชนพื้นเมือง ตลอดจนภัยธรรมชาติเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนของต่างประเทศ
ปีงบประมาณ 16 ก.ค.-15 ก.ค.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เนปาลรูปี (Nepal Rupee/NPR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 118.41 เนปาลรูปี
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 3.61 เนปาลรูปี (พ.ย. 2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2564)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 27,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 0%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 830 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 17,407,517 คน
อัตราการว่างงาน : 1.5%
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 6.71%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : เกินดุล 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 695.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 818.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : เสื้อผ้าสำเร็จรูป พรม ผ้าปาสมีนา สิ่งทอ น้ำผลไม้ และสินค้าจากปอ
คู่ค้าสำคัญ : อินเดีย สหรัฐฯ และตุรกี
มูลค่าการนำเข้า : 11,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เครื่องจักรและส่วนประกอบ ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเวชภัณฑ์
คู่ค้าสำคัญ : อินเดีย และจีน
การทหาร กองทัพเนปาลมีกำลังพล 96,600 นาย แบ่งเป็น ทบ. และ ทอ. (เนปาล ไม่มี ทร. เนื่องจากไม่มีทางออกทะเล) นอกจากนี้ ยังมี กกล.ตำรวจ ที่เป็นตำรวจพลเรือน 47,000 นาย กกล.ตำรวจติดอาวุธ 15,000 นาย และการรวมกำลังพลของกลุ่มนิยมลัทธิเหมากว่า 3,000 นาย เข้ามาประจำการในกองทัพของเนปาล (ถือเป็นครั้งแรกของเอเชียใต้ที่อดีตกำลังพลของกองกำลังกบฏได้เข้ามาประจำการในกองทัพของรัฐซึ่งต้องผ่านการอบรมถึง 2 ปี) ส่วนยุทธปัจจัยทางการทหารของกองทัพเนปาลส่วนใหญ่มาจากจีน อินเดีย และสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 253 คัน ปืนใหญ่อย่างน้อย 92 กระบอก บ.รบ 7 เครื่อง และ ฮ. 12 เครื่อง
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาลกำหนดให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเนปาลมาจากสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนการเกณฑ์กำลังพลเป็นการรับอาสาสมัครชายอายุขั้นต่ำ 18 ปี งบประมาณทางทหาร 1.52% ของ GDP (ปี 2559)
ปัญหาด้านความมั่นคง เนปาลมีปัญหาความไม่สงบที่เกิดจากความขัดแย้งภายในเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งชนพื้นเมือง/ชนกลุ่มน้อยต้องการให้เพิ่มอำนาจปกครองตนเองแก่ชนพื้นเมือง เพื่อมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชุมชนที่ด้อยโอกาสในสังคมมานาน ขณะที่หลายพรรคการเมืองเห็นว่า การแยกเขตการปกครองสำหรับชนพื้นเมืองจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเนปาลมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ (ประมาณ 125 ชาติพันธุ์) นอกจากนี้ เนปาลเผชิญภัยคุกคามจากยาเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะกัญชา และอาจถูกใช้เป็นจุดลำเลียงยาเสพติดจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเอเชียใต้และตะวันออกกลาง
ความสัมพันธ์ไทย-เนปาล
ไทยและเนปาลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูตเมื่อ 30 พ.ย.2502 และยกระดับเป็นระดับ ออท.เมื่อปี 2512 ไทยยังส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังของสหประชาชาติ (United Nations Mission in Nepal-UNMIN) เพื่อตรวจสอบอาวุธและกองกำลังของกลุ่มนิยมลัทธิเหมา และกองทัพเนปาลในเนปาล และสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อ 10 เม.ย.2551
เนปาลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา และมัลดีฟส์ และแม้ว่าการค้า การลงทุน ของทั้งสองประเทศไม่สูงมากนัก แต่เนปาลพร้อมให้การต้อนรับและสนับสนุนนักลงทุนไทยอย่างเต็มที่ โดยโอกาสที่จะได้รับ คือ สามารถลงทุนเพื่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ 3 ได้ เช่น ชายแดนทางเหนือติดกับจีน ซึ่งจีนให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับเนปาลในสินค้ากว่า 100 รายการ ส่วนด้านชายแดนทางใต้ติดกับอินเดีย ผู้ส่งออกจะได้สิทธิพิเศษทางภาษี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการส่งออกได้อย่างมาก
มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เนปาล เมื่อปี 2564 (ถึงเดือน ต.ค.) ไทยนำเข้าสินค้าจากเนปาลมูลค่า 28,925,254 บาท และไทยส่งออกสินค้ามูลค่า 1,477,973,972 ล้านบาท สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเนปาล ได้แก่ เครื่องดื่ม เส้นใยประดิษฐ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเนปาล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เนปาลขอให้ไทยส่งเสริมให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเนปาล โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าไหม กาแฟ ผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง โครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนที่จะพัฒนาพืชสวนและไม้ตัดดอก
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือด้านศาสนาและวัฒนธรรม เนื่องจากเนปาลมีสถานที่สำคัญทาง
พุทธศาสนา ได้แก่ เมืองลุมพินีหรือเมืองจานักปูร์ ขณะที่ไทยและเนปาลตกลงจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือ
ด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นช่องทางนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและเชิงนิเวศ
ข้อตกลงสำคัญระหว่างไทยกับเนปาล ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของแต่ละฝ่ายและพ้นจากนั้นไป (29 ต.ค.2514) หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับเนปาลว่าด้วยการได้มาซึ่งที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพื่อใช้เป็นที่ทำการและที่พักของ สอท. (14 ก.ค.2526) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (2 ก.พ.2541) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (พิเศษ) ซึ่งลงนามเมื่อ 8 ม.ค.2542 บังคับใช้เมื่อ 22 ก.พ.2542
สถานการณ์ที่น่าติดตาม
ปัญหาภายในจากกรณีชนกลุ่มน้อยชาวมเธสีเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558 ในประเด็นการกำหนดเขตการปกครอง และการกระจายอำนาจทางการปกครองให้แก่ชนพื้นเมือง/ชนกลุ่มน้อย ซึ่งเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศ
เนปาลอยู่ระหว่างการเร่งฟื้นฟูบูรณะประเทศจากเหตุอุทกภัยและดินโคลนถล่มเมื่อ ส.ค.2560 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลัก และยังมีผลให้เนปาลไม่สามารถยกระดับคุณภาพจากประเทศด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทั้งนี้ มีการประเมินว่าเนปาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การที่เนปาลเป็นประเทศยากจน ทำให้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศอยู่มาก นอกจากนี้ ผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าวยังทำให้ชาวเนปาล โดยเฉพาะเด็กและสตรีเสี่ยงตกเป็นเป้าหมายของขบวนการค้ามนุษย์สูงขึ้น ส่วนใหญ่ถูกชักนำไปเป็นแรงงานทาสและค้าประเวณีในอินเดีย
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เนปาลหรือเหมาอิสต์ (Communist Party of Nepal/Maoist-CPN/M) ระหว่างกลุ่มของอดีต นรม. นาย KP Sharma Oli กับพรรคคองเกรสเนปาล (Nepali Congress-NC) ภายใต้การนำของ นรม. Sher Bahdur Deuba และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19