70 total views, 2 views today
สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
(Democratic Socialist Republic of Sri Lanka
เมืองหลวง โคลัมโบ
ที่ตั้ง อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียประมาณ 80 กม. โดยมีอ่าวแมนนาร์ และช่องแคบพอล์กคั่นกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 7 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูดที่ 81 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 65,610 ตร.กม. ชายฝั่งทะเลยาว 1,340 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดกับอ่าวเบงกอล
ทิศใต้และทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
ภูมิประเทศ ลักษณะเป็นเกาะรูปหยดน้ำหรือไข่มุก ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 24 ของโลก มีเทือกเขาตอนกลาง และตอนใต้ของประเทศมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน บริเวณเชิงเขาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เป็นแหล่งเพาะปลูกใบชาที่สำคัญ ทางตอนเหนือของเทือกเขาเป็นที่ราบแห้งแล้ง และที่ราบริมฝั่งทะเลทางตอนใต้ รอบเกาะเป็นหาดทรายสวยงาม
วันชาติ 4 ก.พ.
นายโกตาบายา ราชปักษา
Gotabaya/Gotabhaya Rajapaksa
(ประธานาธิบดี)
มหินทรา ราชปักษา
Mahinda Rajapaksa
(นรม.ศรีลังกา)
ประชากร 21,445,123 คน (พ.ย.2563)
รายละเอียดประชากร สิงหล 74.9% ทมิฬศรีลังกา 11.2% มัวร์ 9.2% ทมิฬอินเดีย 4.2% อื่น ๆ 0.5% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 23.68% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 65.08% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 11.23% อายุเฉลี่ยของประชากร 77.56 ปี อายุเฉลี่ยเพศชาย 74.3 ปี อายุเฉลี่ยเพศหญิง 80.7 ปี อัตราการเกิด 6.4 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 6.3 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.73% (ปี 2561)
ประชากร 21,535,624 คน (พ.ย.2564)
รายละเอียดประชากร สิงหล 74.9% ทมิฬศรีลังกา 11.2% มัวร์ 9.2% ทมิฬอินเดีย 4.2% อื่น ๆ 0.5% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 23.68% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 65.08% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 11.23% อายุเฉลี่ยของประชากร 77.56 ปี อายุเฉลี่ยเพศชาย 74.3 ปี อายุเฉลี่ยเพศหญิง 80.7 ปี อัตราการเกิด 6.4 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 6.3 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.73% (ปี 2561)
การเมือง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหาร รมว.กระทรวงกลาโหม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 6 ปี และจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายไมตรีพละ สิริเสนา ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อ 9 ม.ค.2558
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีสภาเดียว ส.ส. 225 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 6 ปี สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิในการถอดถอนประธานาธิบดี โดยเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของ ส.ส.
ฝ่ายตุลาการ : ระบบศาล ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคณะกรรมการตุลาการ ประกอบด้วย สมาชิก 5 คน ประธานศาลฎีกาทำหน้าที่ประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คนได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญและหลักความยุติธรรม
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) พรรค Sri Lanka Freedom Party (SLFP) 2) พรรคสหชาติ (United National Party-UNP) 3) พรรค Janatha Vimukthi Peramuna (JVP) และ 4) พรรคทมิฬแห่งชาติ (Tamil National Party-TNA)
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยใช้กลไกตลาด ภาคบริการเป็นรายได้หลัก จากเดิมที่มีรายได้หลักจากภาคการเกษตร ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ใบชา ยางพารา มะพร้าว ใบยาสูบ อ้อย และการประมง ส่วนอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ สิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณี เครื่องหนัง และปิโตรเลียม
เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับประโยชน์จากการยุติของสงครามกลางเมือง โดยเฉพาะ
การพัฒนาการคมนาคมและการท่องเที่ยว โอกาสของศรีลังกา คือ การได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายบริหารกิจการสำคัญต่างๆ เอง และมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งต้องการเงินทุนจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้ เงินช่วยเหลือให้เปล่า และเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ญี่ปุ่นและอื่น ๆ อิหร่านเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือมากที่สุด จีนเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ศรีลังกาตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในมหาสมุทรอินเดีย โดยปรับปรุงท่าเรือให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ยกเว้นภาษี 3-15 ปี ยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ธุรกิจที่เป็นเป้าหมายส่งเสริม ได้แก่ สิ่งทอ ซอฟต์แวร์ อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว และยางพารา
ปีงบประมาณ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูปีศรีลังกา (Sri Lanka Rupee/LKR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 201.35 รูปีศรีลังกา
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 6.14 รูปีศรีลังกา (พ.ย. 2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2564)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 82,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -4.6%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 548.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,950 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 8,971,002 คน
อัตราการว่างงาน : 4.2%
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 4.7%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 525 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 10,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : เสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ ชา เครื่องเทศ ยางพารา เพชรและอัญมณี
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ เยอรมนี และอิตาลี
มูลค่าการนำเข้า : 21,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : ปิโตรเลียม สิ่งทอ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง วัสดุก่อสร้าง และแร่โลหะพื้นฐาน
คู่ค้าสำคัญ : อินเดีย จีน สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น
ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ : หินปูน แร่แกรไฟต์ ทราย แร่อัญมณี ฟอสเฟต และดินเหนียว
การทหาร กองทัพศรีลังกามีกำลังพล 243,000 นาย แยกเป็น ทบ. 200,000 นาย ทร. 15,000 นาย และทอ. 28,000 นาย นอกจากนี้ มีกำลังพลสำรอง 5,500 นาย และกองกำลังกึ่งทหาร 62,200 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ถ.หลัก 62 คัน รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะอย่างน้อย 211 คัน รถรบทหารราบหุ้มเกราะ 62 คัน ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ปืนใหญ่นำวิถี เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มม. 82 มม. และ 120 มม. เรือตรวจการณ์ เรือรบสะเทินน้ำสะเทินบก เรือลำเลียงพล บ.รบ 30 เครื่อง บ.ลำเลียงพล และ ฮ. 45 เครื่อง งบประมาณด้านการทหาร 2.44% ของ GDP (ปี 2559)
ความสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูตเมื่อ 20 พ.ย.2498 และยกระดับเป็นระดับ ออท. เมื่อ 27 ธ.ค.2504 ความสัมพันธ์ราบรื่นและใกล้ชิด มีความสัมพันธ์ทางด้านศาสนามากที่สุด ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า การท่องเที่ยว และวิชาการเพิ่มขึ้น
ด้านการเมือง ไทยสนับสนุนการสร้างสันติภาพในศรีลังกา โดยเฉพาะในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างปี 2526-2552 โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่ม LTTE 3 ครั้ง ระหว่างปี 2545-2546 และปัจจุบันไทยยังคงให้การสนับสนุนศรีลังกาในเวทีต่างประเทศด้วยดีเสมอมา โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติ (UN) และในกรอบสิทธิมนุษยชนที่ศรีลังกาโดนกดดันจากสหรัฐฯ และ UN ให้เร่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2552
ด้านเศรษฐกิจ ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศตามลำดับ การค้ารวมในหลายปีที่ผ่านมามีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อปี 2564 (ถึงเดือน ต.ค.) ไทยส่งออกสินค้าไปศรีลังกามูลค่า 9,044 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากศรีลังกามูลค่า 1,715 ล้านบาท สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ ปลาแห้ง ผ้าผืน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากศรีลังกา ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่ง และทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
นอกจากนี้ ไทยและศรีลังกาอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกาโดยเริ่มการเจรจารอบแรกเมื่อ ก.ค.2561 ซึ่งแผนปฏิบัติการความร่วมมือทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานของการเจรจาข้อบทความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ FTA ไทย–ศรีลังกา รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับศรีลังกาด้วย
ด้านการท่องเที่ยว ไทยและศรีลังกาเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและวัฒนธรรม โดยศรีลังกายังมองไทยเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เมื่อปี 2562 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง หลังเหตุระเบิดครั้งใหญ่ใจกลางโคลัมโบและ 2 เมืองใหญ่เมื่อวันอีสเตอร์ (21 เม.ย.2562) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 258 คน บาดเจ็บเกือบ 500 คน
ข้อตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับศรีลังกา ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยบริการขนส่งทางอากาศ
(ปี 2493) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ปี 2533) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ปี 2539) ความตกลงว่าด้วย
ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ (ปี 2539) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมง (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการสารสนเทศ (ปี 2547) สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับการลงทุน (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวกรองระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพบกศรีลังกา (ปี 2548) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างไทยกับศรีลังกา (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ปี 2556) และบันทึกความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (ปี 2561) สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ในคดีอาญาระหว่างไทยและศรีลังกา (ปี 2561) แผนการดำเนินโครงการความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศรีลังกา (ปี 2561) บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าพื้นฐาน ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานศรีลังกากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ปี 2561)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
- รัฐบาลศรีลังกาประเมินว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีลัม (Liberation Tigers of Tamil Eelam–LTTE) ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของศรีลังกา หลังจากปรากฏความเคลื่อนไหวทั้งในศรีลังกาและในต่างประเทศ โดยรัฐบาลศรีลังกาเชื่อว่า LTTE ยังคงมีความพยายามก่อเหตุรุนแรง รวมกลุ่มใหม่ และจัดตั้งเขตปกครองตนเองในศรีลังกา
- ความขัดแย้งทางด้านศาสนาระหว่างชาวพุทธสิงหล ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ กับมุสลิมซึ่งเป็น ชนส่วนน้อยยังคงมีอยู่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามของรัฐบาลศรีลังกาในการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ และยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศ
- ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวทมิฬต้องการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียม และการแก้ไขการแบ่งเขตการปกครอง
- การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยทำให้ GDP ติดลบ -4.6% ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 เมื่อ 13 พ.ย.2563 มีจำนวน 15,723 ราย เสียชีวิต 48 ราย