นาง Kamala Harris (คามาลา แฮร์ริส) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
นอกจากการก้าวเข้าครองทำเนียบขาวของครอบครัวนายโจเซฟ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่แล้ว เรื่องที่มีกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียมากหน้าหลายตาก้าวเข้าทำงานในทำเนียบขาวไปพร้อมกัน โดยเฉพาะรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ที่โดดเด่น ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ จนเป็นที่สังเกตกันว่า อินเดียอาจได้ประโยชน์โดยจะมีช่องทางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ และย้ำความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น ทั้งนี้ อินเดียจะใช้โอกาสดังกล่าว ทำให้ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดียทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีเอื้อประโยชน์ให้กับอินเดีย ซึ่งรวมทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ร่วมกับสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน
ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียที่เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลสหรัฐฯ มีจำนวนมาก และในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับกับการกำหนดนโยบายถึง 15 ตำแหน่ง อาทิ รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ซึ่งจะเป็นช่องทางของอินเดียในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ และใช้ในการล็อบบี้รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่ออินเดีย
ส่วนนโยบายที่อินเดียมีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์จากของประธานาธิบดีไบเดน อาทิ 1) การผ่อนคลายนโยบายผู้อพยพที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับชาวอินเดียที่ศึกษาและประกอบอาชีพอยู่ในสหรัฐฯ 2) นโยบายการค้าที่มีแนวโน้มจะผ่อนคลายลง เนื่องจากอินเดียได้รับผลกระทบจากการดำเนินโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เช่นเดียวกับจีน 3) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาพลังงานทางเลือกของอินเดีย 4) การที่สหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการฝึกร่วมในมหาสมุทรอินเดีย ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เช่น Malabar และ Tiger Triumph จะเป็นการช่วยป้องปรามไม่ให้จีนขยายอิทธิพลทางทหารเข้ามาในมหาสมุทรอินเดีย และ 5) การสนับสนุนอินเดียในประเด็นขัดแย้งกับจีนบริเวณชายแดน เนื่องจากรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน ให้ความสำคัญกับการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลทางทหารของจีน โดยอาจมีการออกข้อมติประณามจีนในประเด็นดังกล่าว
นาง Neera Tanden
ผู้อำนวยการสำนักงานการจัดการและงบประมาณ ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ
นาย Vinay Reddy
ผู้อำนวยการด้านการร่างสุนทรพจน์
อินเดียต้องการสานต่อความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระดับโลกรอบด้าน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่จีนขยายอิทธิพลรุกคืบอย่างรวดเร็วเข้ามาในภูมิภาคเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย เนื่องจากสหรัฐฯ และพันธมิตรมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยอินเดียสกัดกั้นจีนไม่ให้ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคจนสามารถปิดล้อมอินเดียได้ในอนาคต โดยอินเดียเร่งดำเนินความสัมพันธ์เชิงรุกกับรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ทราบผลการนับคะแนนเลือกตั้งในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อเดือน พ.ย.63 (รัฐสุดท้ายที่นับคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง) รวมทั้ง นรม.นเรนทรา โมดิของอินเดียเป็นผู้นำประเทศในลำดับแรกที่ทวีตข้อความแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีไบเดน และโทรศัพท์แสดงความยินดีกับประธานาธิบดีไบเดนอีกครั้ง ในโอกาสที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 17 พ.ย.63 รวมทั้งทวีตข้อความแสดงความยินดีเมื่อ 20 ม.ค.64 เนื่องในโอกาสที่ประธานาธิบดีไบเดนสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-สหรัฐฯ จะไม่ราบรื่น โดยอินเดียอาจต้องเผชิญกระแสกดดันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากกว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์