ทั่วโลกเผชิญวิกฤตการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตในยุคดิจิทัล ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะลอหรือระงับการผลิต ทั้งนี้สถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในห้วง ก.พ.64 โดยขยายเป็นวงกว้างจนกระทบกับหลายภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน เกมส์ การบิน และตลอดจนอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก โดยผู้ผลิตยานยนต์ อาทิ บริษัท Ford, General Motor, Volkswagen และบริษัท Daimler AG (ผลิต Mercedes-Benz) ในญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องลดกำลังการผลิตและปิดโรงงานบางแห่ง รวมถึงเลิกจ้างแรงงานชั่วคราว
ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เกิดจากหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่ 1) ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกกลับมาเร่งการผลิตหลังเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์จำนวนมาก 2) วิกฤตโรคโควิด 19 ทำให้ความต้องการสินค้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เครือข่าย 5G และ 3) เซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญต่อการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ทำให้หลายประเทศเร่งกักตุนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ทั้งนี้ แม้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ บริษัท TSMC ของไต้หวัน และบริษัท Samsung ของเกาหลีใต้ จะเร่งผลิตเต็มกำลังการผลิต แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมนี ซึ่งพึ่งพาการส่งออกรถยนต์ระดับสูง กำลังเรียกร้องไต้หวันให้เพิ่มกำลังการผลิต และเร่งส่งมอบเซมิคอนดักเตอร์
ขณะที่เดียวกันในช่วง ม.ค.-ก.พ.64 ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมประเภทนี้ในหลายประเทศก็เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทดแทนการพึ่งพาต่างชาติ อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ ร่วมกับบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ[1] เรียกร้องให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ เนื่องจากมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคง กับทั้งการพึ่งพาบริษัทต่างชาติ เฉพาะอย่างยิ่งบริษัท TSMC และบริษัท Samsung มากเกินไป ทำให้สหรัฐฯ เสี่ยงต่อการขาดอำนาจการต่อรอง หากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนอาจสูญเสียความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G 6G และ Quantum Computing
ด้านสหภาพยุโรป (European Union-EU) เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ เนื่องจากกังวลว่า การพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไปจะทำให้ EU ขาดอำนาจอธิปไตยทางดิจิทัล ขณะที่บริษัทในจีนกว่า 90 บริษัท อาทิ Huawei และ Xiaomi ยังรวมตัวกันผลักดันการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เองในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา การพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์จากต่างประเทศทำให้จีนได้รับผลกระทบจากการทำสงครามเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อย่างมาก
สถานการณ์วิกฤตข้างต้นชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อาจเป็นวิกฤตระยะยาว เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์จะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นไปอีกจากการทะยานเติบโตของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งอาจนำไปสู่การกักตุนเซมิคอนดักเตอร์และการแข่งขันผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่อชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี
ท่าทีของประเทศผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ เฉพาะอย่างยิ่งของสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ยังชี้ให้เห็นสัญญาณการเริ่มต้นของการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี การแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศต่างๆ อาจเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตของประเทศอื่น ๆ ยังล้าหลัง Samsung และ TSMC อยู่มาก อีกทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและเงินลงทุนสูง
——————————————–
เรียบเรียงจาก
- https://www.semiconductors.org/semiconductor-industry-leaders-urge-president-biden-to-prioritize-funding-for-semiconductor-manufacturing-research/
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-11/europe-weighs-semiconductor-foundry-to-fix-supply-chain-risk?sref=1rfeVD4E
- https://www.huaweicentral.com/90-chinese-companies-including-huawei-hisilicon-and-xiaomi-wants-to-form-a-community-to-build-chip-industry/
- https://www.ft.com/content/b2d9056e-6168-43e0-bed6-800d3bf0118b
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-02-03/gm-to-temporarily-shut-trio-of-plants-as-chip-shortage-pinches?sref=1rfeVD4E
ที่มาของรูปภาพประกอบ
– https://www.ecitechnology.com/products/semiconductor/
- อาทิ บริษัท Qualcomm บริษัท Nvidia บริษัท GlobalFoundries บริษัท Intel บริษัท Qorvo บริษัท ON Semiconductor และบริษัท Skyworks Solutions ↑