“ผมออกจากกะลาแล้วครับ”
“หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมตาสว่าง”
คำพูดประมาณนี้เริ่มได้ยินผ่านหูมากขึ้นในระยะสัก 1-2 ปีที่ผ่านมา คำว่าตาสว่างและออกนอกกะลา ถูกขยับขยายขอบเขตของความหมายออกไป จนกลายเป็นคำที่สื่อถึงการตื่นตัวทางการเมือง หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Woke Culture”
ไม่ใช่เพียงแค่ในไทยที่การตื่นตัวทางการเมือง หรือ Woke Culture เติบโตเป็นกระแสครอบงำสังคม ในสหรัฐฯ ก็เช่นกัน การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งเป็นชนวนเหตุการก่อกำเนิดขบวนการ Black Lives Matter ทำให้ Woke Culture เกาะกุมจิตใจชาวอเมริกันกลุ่มใหญ่สายเสรีนิยม ที่ส่วนใหญ่มีจุดร่วมคือเป็นคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาดี และอาศัยในเขตเมือง
ด้วยความที่ขบวนการ Black Lives Matter มีจุดเริ่มต้นจากการเรียกร้องสิทธิของชาวผิวสี ความตื่นตัวทางการเมืองในสหรัฐฯ จึงมุ่งประเด็นความยุติธรรมในสังคม ความเท่าเทียม และการเคารพสิทธิของคนกลุ่มน้อย จนภายหลังก็ขยายขอบเขตเรื่อยมา ครอบคลุมประเด็นทางสังคมที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเรื่องของกลุ่มชายขอบ (Marginal People) เป็นสำคัญ
เมื่อ Woke Culture หรือวัฒนธรรมตาสว่างกลายเป็นแฟชั่นกระแสหลัก ก็ย่อมดึงดูดคนหลากหลายเข้ามาสมาทานเข้าลัทธิเพื่อไม่ให้กลายเป็นคนตกยุคตกกระแส คนหนุ่มสาวต้องพยายามแสดงออกว่าตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียม ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องดีที่ประเด็นทางสังคมเป็นที่สนใจมากขึ้น และคนชายขอบจะมีช่องทางส่งเสียง ความเท่าเทียมกลายเป็นกระแส แต่มันก็ตามมาด้วยผลกระทบในแง่ลบเช่นกัน ทั้งในเรื่องการตาสว่างแต่เปลือก และการตาสว่างอย่างสุดโต่ง
การที่ Woke Culture เป็นแฟชั่นกระแสหลัก ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่าตาสว่างแต่เปลือก คือการเกาะกระแสโดยไม่ได้เข้าใจความหมายที่แท้จริง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น การเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กเป็นสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิ LGBT แต่ในไทม์ไลน์กดไลก์กดแชร์ fake news ที่ว่าการเป็นเกย์สามารถรักษาหายได้ด้วยการพบจิตแพทย์ ปรากฏการณ์แบบนี้มีอันตรายคือทำให้สารที่คนชายขอบต้องการจะสื่อถูกลดทอนลง และสุดท้ายจะไม่ก่อให้การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิและความเท่าเทียม
อีกประเด็นหนึ่งคือการตาสว่างอย่างสุดโต่ง ประเด็นนี้ยังมีความพร่ามัวจึงสามารถถกเถียงกันได้อีกหลากหลาย ยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่คนกลุ่มหนึ่่งเห็นว่าสุดโต่ง แต่คนอีกกลุ่มอาจเห็นว่าถูกต้องแล้ว เช่น การฟ้องร้องร้านเค้กเนื่องจากไม่มีเค้กแต่งงานรูปคู่รักเลสเบียนไว้จำหน่าย หรือกระแสต่อต้าน Cultural Appropriation (การที่คนกลุ่มใหญ่ในสังคมรับเอาวัฒนธรรมคนกลุ่มน้อย เช่น ชาวผิวขาวถักผมเดรดล็อก) รวมไปถึงการด่าหรือประจานคนที่ไม่ยอมออกมาร่วมเคลื่อนไหวว่าเป็นพวก ignorant (ย้ำว่าเพียงไม่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ใช่คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว)
ทั้งการตาสว่างแต่เปลือก และการตาสว่างอย่างสุดโต่ง ทำให้เกิดกระแสตีกลับเป็นแนวร่วมมุมกลับ
คำยอดนิยมอีกคำในสังคมอเมริกันคือ “Social Justice Warrior” หรือนักรบผู้ปกป้องความยุติธรรม ซึ่งเป็นคำประชดประชัน ที่ฝ่ายตรงข้ามเอาไว้กระแหนะกระแหน Woke Culture แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยังเอ่ยปากขอให้คนอเมริกันเลิกอาการตาสว่างทางการเมืองแบบที่ด่าคนอื่นไปหมดโดยไม่ประนีประนอมเสียที
เข้าใจว่า Woke Culture เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งบรรทัดฐานทางสังคมขยับไปมาได้ไม่สิ้นสุด จึงตัดสินถูกผิดไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ๆ ว่า Woke Culture ช่วยให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสิทธิความเท่าเทียม แต่บางทีก็กลายเป็นว่าด่ากราด และกลับยิ่งกีดกันคนส่วนใหญ่ออกจากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสังคม หรือยิ่งไปกว่านั้นก็นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังกัน
——————————————————