คนไทยเชื้อสายจีนคุ้นเคยกับเนื้อเทียมกันมาเนิ่นนาน ในฐานะวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารเจ เอาไว้สำหรับบรรเทาความกระหายอยากเนื้อในช่วงเวลาที่ต้องถือศีลกินเจเพื่อชำระจิตใจ (ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าการยังมีเจตนาต้องการกินเนื้อ ยังถือเป็นการชำระจิตใจหรือไม่?)
หมูย่างเจที่ทำมาจากโปรตีนถั่วเหลืองมีไว้ตอบสนองความเชื่อทางศาสนา ขณะที่กระแสในระดับโลก เนื้อเทียมที่ทำมาจากพืช (Plant-based meat) กำลังเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมากเช่นกัน ว่าอาจเป็นทางออกของมนุษยชาติสำหรับตอบสนองเป้าหมายความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และยังรักษ์โลกไปพร้อมกันอีกต่างหาก
เดิมทีความมั่นคงทางอาหารก็เป็นความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่สนใจกันมากอยู่แล้ว ข้อมูลของสหประชาชาติเมื่อปี 2562 ระบุว่ามนุษย์โลกประมาณร้อยละ 9.7 อยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหาร ส่วนอีกประมาณร้อยละ 16.3 ต้องยอมทนกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อเอาชีวิตรอด คน 2 กลุ่มนี้รวมกันแล้วคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลกทั้งหมด (ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7,674 ล้านคน) เลยทีเดียว ตัวเลขที่สูงขนาดนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สหประชาชาติกำหนดให้การสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็น 1 ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มนุษยชาติต้องช่วยกันฝ่าฟันบรรลุเป้าหมาย ส่วนมหาอำนาจอย่างจีนก็กำหนดให้การจัดหาเมล็ดพันธุ์และสถานที่เพาะปลูกเป็นวาระสำคัญแห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้จงได้
ยิ่งเมื่อโรค COVID-19 ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก ปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ถาโถมอย่างการตกงาน การขาดความสามารถในการชำระหนี้ ห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) หยุดชะงัก วัตถุดิบขึ้นราคา เหล่านี้ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก
มนุษย์จำเป็นต้องบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเอาโปรตีนมาบำรุงร่างกาย เมื่อมนุษย์โบราณเปลี่ยนวิธีสรรหาแหล่งโปรตีนจากการล่าสัตว์เป็นการเลี้ยงสัตว์ การปศุสัตว์ของมนุษย์ก็พัฒนาเรื่อยมา จนเดี๋ยวนี้แหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ของมนุษย์ได้มาจากการปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่
ปัญหาก็คือ การปศุสัตว์ใช้ต้นทุนสูงมาก เทียบกันไม่ได้เลยกับการเพาะปลูกที่ถูกกว่ากันเยอะ (คิดง่าย ๆ คือ การปลูกพืชเพื่อเอามากินตรง ๆ ย่อมประหยัดต้นทุนกว่าการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องปลูกพืชไปให้มันกินอีกทีหนึ่ง) ประกอบกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ขยายวงออกทุกวัน ยิ่งทำให้คนจนส่วนหนึ่งเข้าถึงเนื้อสัตว์ได้ยากขึ้น
“เนื้อเทียม” ที่ผลิตจากพืชจึงเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้มนุษย์สามารถเข้าถึงโปรตีนได้ในราคาถูกลง และยังตอบสนองกระแสรักษ์โลกด้วย เพราะการกินพืชช่วยให้ลดการเบียดเบียนสัตว์ (ค่อยมาว่ากันอีกทีเมื่ออารยธรรมมนุษย์ก้าวหน้าไปถึงขั้นเรียกร้องสิทธิพืช และก็เป็นที่รู้กันว่าการปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)
มนุษย์เป็นสัตว์สุนทรีย์ เราไม่ได้กินเพื่ออิ่มอย่างเดียว เนื้อเทียมจึงเคยมีจุดอ่อนเรื่องรสชาติและรสสัมผัส แต่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ทำให้มนุษย์รับบทพระเจ้าได้แนบเนียนขึ้น ตอนนี้เราสามารถใช้พืชมาผลิตเนื้อเทียมชนิดที่แยกไม่ออกทั้งหน้าตา รสชาติ และรสสัมผัส แม้กระทั่งเบอร์เกอร์เนื้อวัวแบบเลือดซิบ ๆ ยังผลิตเลียนแบบได้ด้วยการใช้น้ำบีทรูทเลียนแบบเลือด ส่วนราคาก็ลดลงทุกวันจากการแข่งขันที่รุนแรงจนไม่ได้แพงไปกว่าเนื้อสัตว์จริง ๆ และมีแนวโน้มจะถูกกว่าเนื้อสัตว์ในที่สุด บริษัทขายเนื้อเทียมอย่าง Impossible Foods และ Beyond Meat ของสหรัฐฯ จึงมีมูลค่าเติบโตจนน่าอิจฉาผู้ถือหุ้น
แต่เนื้อเทียมก็ไม่ได้นำพาแต่ด้านสดใสมาให้เรา เนื้อเทียมที่ดูจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารและปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็มีจุดอ่อนสำคัญเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค ถึงแม้ว่าเนื้อเทียมจะมีคุณค่าทางอาหารเหมือนเนื้อแท้ แต่การผลิตเนื้อเทียมต้องผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมเยอะมาก และต้องใช้สารเคมีหลากหลายกว่าจะได้เนื้อที่เหมือนธรรมชาติ
เมื่อมนุษย์ต้องตัดสินใจเลือก จะเกิดสภาวะที่เรียกว่าได้อย่างเสียอย่าง หรือหลักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Trade-Off ก็คือไม่ว่าจะเลือกทางใด ก็จะมีต้นทุนที่จะต้องเสียไปจากการไม่เลือกอีกทางเลือกหนึ่งอยู่เสมอ
การเลือกที่จะรักษ์โลก และการเลือกสร้างความมั่นคงทางอาหาร ก็อาจจะต้องแลกด้วยผลกระทบต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน
————————————————————