กองทัพหลายประเทศทั่วโลกกำลังพัฒนาฝูงโดรนโจมตี อาทิ โครงการ Icarus ของฝรั่งเศส โครงการ Lightning ของรัสเซีย RAPAZ ของสเปน ฝูง Blue Bear ของสหราชอาณาจักร N-Raven ของ UAE / South African และสหรัฐฯ ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัยและทดสอบฝูงโดรนในหลายเหล่าทัพ โดยนาวิกโยธินสหรัฐฯ กำลังทดสอบฝูงโดรนกามิกาเซ่ กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือและ สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม ต่างก็ดำเนินการตามโครงการโดรนของตนเอง ปัจจัยหนึ่งที่หลายประเทศเร่งพัฒนาดังกล่าว อาจเนื่องจากกรณีความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานในพื้นที่พิพาทนากอร์โน-คาราบัค ระหว่าง ก.ย.-พ.ย. 64 ซึ่งกองทัพอาร์เมเนียประสบความสูญเสียอย่างหนักจากการโจมตีด้วยโดรนของอาเซอร์ไบจาน
เทคนิคการใช้โดรนบินพร้อมกันเป็นฝูงพบเห็นได้มากตามงานแสดงต่าง ๆ โดยทั่วไป การแสดงแสงและเสียงด้วยฝูงโดรน (ทดแทนการจุดพลุ) จะมีคอมพิวเตอร์ส่วนกลางอยู่ที่ภาคพื้นดินทำหน้าที่ควบคุมและติดตามโดรนทุกตัว แต่การใช้ฝูงโดรนโจมตีทางทหารใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าโดรนเพื่อการแสดงมาก เนื่องจากโดรนแต่ละตัวสามารถประมวลผลได้ด้วยตนเอง และเคลื่อนย้ายทั้งหมดพร้อมเพรียงกันโดยไม่มีการชนกันคล้ายการเคลื่อนที่ของฝูงนก โดยอาศัยกฎ 3 ข้อดังนี้
- รักษาระยะห่างที่แน่นอนกับโดรนที่อยู่รอบข้าง
- จัดแนว: บินไปยังส่วนหัวของโดรนด้านข้างด้วยความเร็วเท่ากัน
- พยายามขยับไปสู่ตำแหน่งเฉลี่ยโดรนรอบข้างเพื่อรักษารูปแบบฝูงไว้
การบินโดรนเป็นฝูงเพื่อโจมตี มีประสิทธิภาพมากกว่าการบินเดี่ยวมาก จากผลการศึกษาของกองทัพสหรัฐฯ เมื่อปี 2561 ชี้ให้เห็นว่าการจับกลุ่มกันเป็นฝูงจะทำให้การโจมตีมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 50 และช่วยลดความสูญเสียจากการยิงป้องกันของฝ่ายศัตรูลงร้อยละ 50 นอกจากนี้การบินโดรนเป็นฝูงยังช่วยเพิ่มรูปแบบการโจมตี เช่น โจมตีจากรอบทิศทาง รวมกลุ่มโจมตีเฉพาะเป้าหมาย ซึ่งต้องอาศัยระบบการสื่อสารระหว่างโดรนที่ช่วยให้โดรนสามารถแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เป้าหมายและใช้เป็นแนวทางในการโจมตี
ที่มา : https://www.forbes.com/sites/davidhambling/2021/03/01/what-are-drone-swarms-and-why-does-everyone-suddenly-want-one/?ss=ai&sh=22b32f662f5c