สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ประกาศแจ้งเตือนกลุ่มบุคคลประสงค์ร้ายจากต่างประเทศได้ใช้เทคโนโลยีการปลอมแปลงข้อมูลข่าวสารขั้นสูง (deepfake) หรือการสังเคราะห์สื่อดิจิทัล อาทิ วีดิโอ เสียง รูปภาพ และข้อความ ในการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิด ส่งผลให้เกิดความกังวลว่า หากไม่มีการควบคุมสื่อที่ถูกบิดเบือนซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ทฤษฎีสมคบคิด และการว่าร้ายกลายเป็นชุดความคิดกระแสหลัก สหรัฐฯ จึงได้ออกกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับ deepfake อาทิ คือ กฎหมาย National Defense Authorization Act of 2021 ซึ่งกำหนดให้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิประเมินเทคโนโลยี deepfake และผลกระทบ
รายงานแจ้งเตือนของ FBI อ้างอิงงานวิจัยของภาคเอกชนซึ่งพบการใช้สื่อที่บิดเบือนในภาษารัสเซียและภาษาจีน กรณีแรก บริษัท กราฟิกา (Graphika) วิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์และพบเครือข่าย Spamouflage Dragon โพสต์ข้อความสนับสนุนจีนและโจมตีผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์จีนด้วยด้วยการใช้บัญชี (accounts) ปลอมซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์สร้างรูปโปรไฟล์ปลอมให้มีความสมจริงและน่าเชื่อถือ
อีกกรณีหนึ่ง พบว่า สำนักงานวิจัยอินเทอร์เน็ต (Internet Research Agency : IRA ) ของรัสเซียเซียซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับอิทธิพลทางออนไลน์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองของรัสเซียได้ใช้เทคนิคโครงข่ายประสาทเทียม (Generative Adversarial Networks) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง (deep fake) สร้างภาพอวตารในเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยกทางความคิดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ เมื่อปี 2563
นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการวิจัยนิติวิทยาดิจิทัล (Digital Forensic Research Lab) ของสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) บริษัทกราฟิกา และเฟซบุ๊กร่วมมือกันตรวจสอบพบเนื้อหาภาพในสื่อสังคมออนไลน์ที่สร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงเพื่อสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ
รัฐบาลสหรัฐฯ นักวิจัย ชาวอเมริกัน และบริษัทสื่อสังคมออนไลน์กำลังพยายามจัดการปัญหาการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในสื่อออนไลน์ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วส่งผลต่อการดำรงชีวิตในโลกความจริง เช่น เหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อ 6 ม.ค. 64 แม้ว่าบางส่วนของผู้ผลิตข้อมูลบิดเบือนอยู่ในสหรัฐฯ แต่ก็มีผู้ผลิตเนื้อหาบิดเบือนจากรัสเซีย อิหร่าน และจีนฉวยโอกาสจากข่าวสาร ในสหรัฐฯ เพื่อแสวงประโยชน์ในการบิดเบือนข่าวสาร ผู้ก่อเหตุจราจลหลายรายระบุว่า สุนทรพจน์ส่งมอบตำแหน่งประธานาธิบดีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในขณะนั้นเป็นของปลอม ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนยังเสพข้อมูลข่าวสารบิดเบือนที่ผลิตโดยผู้ประสงค์ร้ายมากกว่าข้อมูลบิดเบือนที่สร้างจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง (Deep Fake) แต่ FBI ระบุว่าเนื้อหาจากทั้งสองแหล่งปริมาณใกล้เคียงกัน และมีแนวโน้มว่าข้อมูลจาก deep fake จะมากกว่า
FBI ได้เผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชนในการเสพสื่ออย่างมีวิจารณญาณเพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจจับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนบนโลกออนไลน์ อาทิ รูปภาพหรือวีดิโอที่มีการตกแต่ง บิดเบือน หรือมีความไม่ต่อเนื่องในรูปภาพ เช่น ภาพอวตารในทวิตเตอร์ที่ใช้โปรแกรมสร้างออกมาจะมีความแตกต่างจากรูปจริง และเตือนว่าหากเห็นภาพอวตารที่มีฉากหลัง (background) ของภาพไม่ชัดเจนหรือมีการตกแต่งมา อาจเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าภาพนั้นเป็นภาพปลอม
ที่มา : https://www.cyberscoop.com/fbi-foreign-actors-deepfakes-cyber-influence-operations/