คนไทยกระหายการท่องเที่ยวขนาดไหน? คำถามนี้น่าจะพอตอบได้จากการที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย แถลงประกาศความสำเร็จในการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินตามโครงการ “ตั๋วบินรัว ๆ ทั่วไทย” ที่เปิดให้บินได้ไม่จำกัดเป็นเวลาเกือบ 9 เดือนในราคา 3,599 บาท โดยขายตั๋วหมดทั้ง 80,000 สิทธิ์ ภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง กวาดเงินไปทีเดียวรวม 287 ล้านบาท โดยไม่ต้องขายปาท่องโก๋หรือครัวซองต์
ไม่ใช่แค่ที่ไทย การจำกัดการเดินทางเพราะโรค COVID-19 ทำให้อาการกระหายการท่องเที่ยวแพร่ระบาดทั่วโลกพอ ๆ กับโรค COVID-19 สถาบันการท่องเที่ยวแห่งชาติจีนระบุว่า การเดินทางทางอากาศในจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งมีวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน มีผู้โดยสารรวมทั้งหมด 23.95 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้นมหาศาลถึงร้อยละ 187.1 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (ซึ่งเป็นห้วงที่โรค COVID-19 กำลังระบาดในจีนหนักมาก) แนวโน้มนี้ทำให้คาดว่าตลอดปี 2564 จะมีการเดินทางท่องเที่ยวภายในจีน 4,100 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากปี 2563 คาดว่าจะสร้างรายได้รวม 3.3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 507,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ความอดอยากปากแห้งขาดแคลนการท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตามานาน โดยเฉพาะบางประเทศที่ระบาดหนัก ๆ ต้องล็อกตัวเองอยู่ในบ้านออกไปไหนไม่ได้โดยไม่จำเป็น บางคนหนักหนาถึงขั้นกระทบต่อสุขภาพจิตเลยทีเดียว ทำให้พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จึงระเบิดออกมาเป็นอาการที่เรียกว่า “Revenge Travel” หรือขอเรียกเป็นภาษาไทยว่าอาการ “เที่ยวไปให้หายแค้น” อารมณ์ประมาณว่า ไม่ไหวแล้ว! ฉันจะเที่ยว! ฉันจะใช้เงิน!
แนวโน้มของปรากฏการณ์ “Revenge Travel” จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศเราที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว แม้ตอนนี้ประเทศไทยจะยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้าง แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้หลาย ๆ อย่าง เช่น แนวคิดการจับคู่ทำข้อตกลงเดินทางระหว่างประเทศ (Travel Bubble) หรือแนวคิดจัดทำหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อให้ผู้ที่ฉีดแล้วเดินทางข้ามประเทศได้ (Vaccine Passport) ส่วนในตอนนี้ที่ยังปิดประเทศอยู่ เศรษฐกิจไทยก็ได้อานิสงส์จากอาการ “Revenge Travel” ของนักท่องเที่ยวไทยด้วยกันเอง ดูได้จากความสำเร็จของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาล ที่ประชาชนตอบรับดีเยี่ยมใช้สิทธิ์สนับสนุนค่าโรงแรมจนหมดเกลี้ยงทั้ง 2 ระยะ และอยู่ระหว่างพิจารณาขยายโครงการระยะที่ 3 กระทรวงการคลังคาดว่าการท่องเที่ยวจากต่างประเทศน่าจะฟื้นตัวราว ๆ ปลายปี 2564 ซึ่งน่าจะเริ่มทยอยเปิดประเทศกันแล้ว
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะ “Revenge Travel” เป็นกลุ่มแรกน่าจะเป็นกลุ่มไหน? พิจารณาจากการที่การเดินทางข้ามประเทศในระยะแรกน่าจะยุ่งยากพอสมควร อาจต้องมีใบตรวจโรค ใบรับรองการฉีดวัคซีน ส่วนค่าตั๋วเครื่องบินก็คงไม่ถูกนักเนื่องจากสายการบินยังทำการบินได้ไม่เต็มที่ ทำให้เป็นไปได้สูงว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง (Luxury Travel) น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาประเทศไทยก่อน ส่วนแบ็กแพ็กเกอร์ที่แบกเป้โบกรถเมล์คงต้องรออีกสักระยะ
แนวโน้มที่จะเป็นแบบนั้น ทำให้หวนนึกถึงภาพราว ๆ 20-30 ปีที่แล้ว ที่การเดินทางไปต่างประเทศเป็นเรื่องพิเศษมาก จะขึ้นเครื่องบินกันทีญาติพี่น้องต้องยกขบวนกันไปคล้องพวงมาลัยก่อนขึ้นเครื่องที่ดอนเมือง จนเมื่อสายการบินต้นทุนต่ำถือกำเนิดขึ้นช่วยให้มนุษย์เงินเดือนทั่ว ๆ ไปสามารถท่องเที่ยวต่างประเทศได้โดยไม่ลำบากนัก
โรค COVID-19 อาจถ่างช่องว่างทางสังคมให้การเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศกลับมาจำกัดเป็นอภิสิทธิ์ของคนฐานะดีดังเช่นในอดีตกาลก็เป็นได้