เมื่อ 19 มี.ค.64 ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ออกมาแถลงการณ์ประณามเหตุกราดยิงที่เมือง Atlanta รัฐจอร์เจียเมื่อ 17 มี.ค.64 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย พร้อมทั้งใช้โอกาสเดียวกันนี้เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ อนุมัติกฎหมายปกป้องชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจากอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Covid-19 Hate Crimes Act) และเรียกร้องให้ชาวอเมริกันร่วมกันแก้ไขปัญหาเหยียดเชื้อชาติ และกระตุ้นชาวอเมริกันด้วยการระบุว่า “การนิ่งเฉยต่อปัญหา ถือว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิด”
จากนั้น ประธานาธิบดีไบเดน และรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คามาลา แฮร์ริส ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนรัฐจอร์เจีย พบหารือกับสมาคมชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในพื้นที่ เช่น Asian American and Pacific Islander และ Asian Americans Advancing Justice เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเหยียดผิวและเชื้อชาติในสังคมอเมริกัน
ท่าทีของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีแฮร์ริส เป็นการแสดงออกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ สนใจ และจะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน รวมทั้งลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชุมนุมของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ที่อาจจะออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน สถานที่ราชการ หรือสวนสาธารณะต่าง ๆ มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่เป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต อยู่ในความวิตกกังวลและหวาดระแวงต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ขณะเดียวกันก็กำลังโกรธแค้น เนื่องจากตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และชาวเอเชียที่อยู่ในสหรัฐฯ ตกเป็นเป้าหมายการก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง การเหยียด และการข่มขู่คุกคามมากยิ่งขึ้น
การตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรวดเร็วและเป็นทางการครั้งนี้ (ไม่ได้แถลงการณ์ด้วยการทวีตข้อความเหมือนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) น่าจะทำให้ประธานาธิบดีไบเดนได้รับความเชื่อใจจากชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา แม้หลายฝ่ายจะพยายามชี้ให้รัฐบาลสหรัฐฯ เห็นว่า การเหยียดเชื้อชาติเป็นภัยคุกคามสำคัญ รวมทั้งเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมอเมริกันแตกแยกและไม่ปลอดภัย ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวในสื่อออนไลน์ด้วย #StopAsianHate แต่ยังไม่มีแรงมากพอที่จะทำให้รัฐบาลต้องมีถ้อยแถลงเหมือนเหตุการณ์ครั้งนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่ามูลเหตุจูงใจของผู้ก่อเหตุกราดยิงในเมือง Atlanta นั้นคืออะไร ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังไม่ยืนยันว่านาย Robert Aaron Long ผู้ก่อเหตุมีแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ ขณะที่เจ้าตัวก็ปฏิเสธ แต่ประธานาธิบดีไบเดนและสื่อของสหรัฐฯ ก็ได้ใช้จังหวะนี้หยิบยกปัญหาการเหยียดเชื้อชาติขึ้นมาส่งสัญญาณต่อชาวอเมริกันและชาวเอเชียในสหรัฐฯ ว่าจะแก้ไข ซึ่งเป็นการใช้จังหวะที่ดีทั้งต่อการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน ขณะเดียวกันก็ดีต่อภาพลักษณ์รัฐบาลชุดใหม่ที่ตั้งใจจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว
และประธานาธิบดีไบเดนและสื่อมวลชนสหรัฐฯ ก็ไม่พลาดที่จะเชื่อมโยงว่า ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นเป็นมรดกจากรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประธานาธิบดีไบเดนกำลังใช้เทคนิคพื้นฐานของนักการเมืองที่จะกล่าวโทษฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะ “รัฐบาลชุดที่แล้ว” ว่าเป็นต้นเหตุ หรือเป็นผู้สะสมปัญหาที่เกิดขึ้น
แม้ว่าครั้งนี้ประธานาธิบดีไบเดนจะได้ใจชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และได้เริ่มโอกาสแก้ไขปัญหาที่อยู่ในหมวดความแตกแยกในสังคมอเมริกัน แต่รัฐบาลชุดใหม่ยังมีปัญหาท้าทายภายในประเทศจากคนอีกหลายกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือและความสนใจจากรัฐบาลด้วย ไม่ว่าจะเป็นชาวอเมริกันไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ตามที่ตกงานหลังจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ชาวอเมริกันที่ยังเข้าไม่ถึงการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรค และปัญหาใหญ่อย่างการเหยียดสีผิวที่ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันต้องเผชิญและเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมอเมริกันเมื่อปี 2563
เรียบเรียงจาก
https://edition.cnn.com/2021/03/19/politics/biden-harris-atlanta/index.html
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-56433181