ภายหลังการก่อเกิดของรัฐไทยแบบรัฐสมัยใหม่ โครงสร้างอำนาจก็รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง หรือ “กรุงเทพฯ” มาโดยตลอด รวมถึงมิติด้านวัฒนธรรม ที่ “กรุงเทพฯ” ในฐานะผู้ผูกขาดการใช้สื่อ มีอำนาจสมบูรณ์ในการใช้สื่อสร้างเรื่องเล่าเพื่อประกอบสร้าง “ความเป็นอีสาน”
สื่อบันเทิงร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์และละครสามารถเข้าถึงคนได้หลากหลาย และความบันเทิงเริงใจที่ฉาบเคลือบอยู่ช่วยให้สารแทรกซึมเข้าไปฝังลึกในจิตใจผู้รับสารได้โดยไม่รู้ตัว ภาพยนตร์และละครจึงมีอำนาจอย่างมากในการทำให้สิ่งสมมติที่สร้างขึ้นมากลายเป็นความจริง แต่ด้วยความที่สื่อภาพยนตร์และละครถูกผูกขาดโดยกรุงเทพฯ มาโดยตลอด การประกอบสร้างความเป็นอีสานส่วนใหญ่จึงเป็นไปในแบบที่คนกรุงเทพฯ คิดว่ายังเป็นอยู่ และอีสานที่คนกรุงเทพฯ อยากให้เป็น ซึ่งก็มักจะบิดเบี้ยวไปจากสภาพอีสานที่เป็นอยู่จริง
ความเป็นอีสานในสื่อภาพยนตร์และละครไทย โดยมากจะเป็นอีสานที่ถูกแช่แข็งไว้โดยไม่มีพลวัตร อีสานยังคงเป็นอีสานในแบบที่คำพูน บุญทวี ถ่ายทอดผ่านนิยาย “ลูกอีสาน” หรือสุรสีห์ ผาธรรม ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ “ครูบ้านนอก”อย่างไม่เปลี่ยนแปลง สื่อบันเทิง 2 เรื่องข้างต้นผลิตออกมาหลายทศวรรษแล้ว แต่สื่อภาพยนตร์และละครร่วมสมัยที่คนกรุงเทพฯ สร้างเกี่ยวกับอีสาน เช่น “ปัญญา เรณู” ยังคงใช้สัญญะ (Sign) อย่าง “ควาย” แทนความเป็นสังคมชนบทแสนสงบของอีสาน (ซึ่งเป็นภาพฝันแสนสวยของสังคมเกษตรกรรมที่กรุงเทพฯ อยากให้อีสานเป็น) ทั้งที่ในความเป็นจริงหาชาวนาอีสานที่เลี้ยงควายแทบไม่เจอแล้ว หรือภาพยนตร์คุณภาพสูงอย่าง “15 ค่ำ เดือน 11” ก็ยังมุ่งสำรวจและถ่ายทอดอีสานในมิติของความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับบั้งไฟพญานาค ที่แม้จะยังเป็นอีสานที่เป็นอยู่จริง แต่ยิ่งตอกย้ำให้คอหนังต่างถิ่นฝังภาพอีสานที่ “โง่ จน เจ็บ” ไว้ในหัวแค่เพียงมิติเดียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวอีสานในละครไทย ยังผูกขาดบทบาทคนรับใช้ไว้ดังเดิม
จนกระทั่งคนอีสานลุกขึ้นมาปฏิบัติการสร้างตัวตนด้วยตนเอง เสียงของคนอีสานจึงเริ่มถูกบอกเล่าออกไปว่าอีสานไม่ได้มีเพียงมิติเดียว
ปรากฏการณ์สำคัญของวงการภาพยนตร์ไทยในห้วง 10 ปี ที่ผ่านมาคือการที่ภาพยนตร์ภาษาอีสานที่สร้างโดยคนอีสานเองทยอยออกฉายและประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ ภาพยนตร์เล่านี้ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์อิสระที่ไม่ได้สังกัดค่ายใหญ่ และใช้วิธีฉายแบบป่าล้อมเมือง คือเน้นเข้าโรงฉายในจังหวัดภาคอีสานเป็นหลัก จึงเป็นภาพยนตร์อีสานที่สร้างให้คนอีสานดูเอง ดังนั้น การประกอบสร้างความเป็นอีสานในภาพยนตร์เหล่านี้จึงมีความเป็นอีสานร่วมสมัยในแบบที่เป็นอยู่จริง และมีมิติที่หลากหลายขึ้น
อีสานไม่ได้มีแต่ท้องทุ่ง “ฮักนะ สารคาม” ของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ถ่ายทอดชีวิตของนักเรียนนักศึกษาในตัวเมืองของจังหวัดในภาคอีสาน เป็นหนังรักวัยรุ่นแบบฟีลกู๊ดในบรรยากาศที่ไม่แตกต่างจากภาพยนตร์ค่าย GDH ที่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ คุ้นเคย ต่างออกไปเพียงพูดอีสานเป็นภาษาหลัก ส่วน “หน้าฮ่าน” ของฉันทนา ทิพย์ประชาติ เป็นหนัง coming of age แบบอีสาน ถ่ายทอดชีวิตวัยรุ่นอีสานและแตะประเด็นร่วมสมัยที่หลากหลาย เช่น LGBT ผัวฝรั่ง และคุณแม่วัยใส
“ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้” ของอุเทน ศรีริวิ มุ่งฉายภาพของวัยรุ่นอีสานชายขอบที่ถูกทิ้งไว้ในความเงียบเหงาของหมู่บ้านอีสานในชนบทที่ “บ่มีผู้ได๋มาสร้างมาแปง” ชวนให้แตกแขนงความคิดหลากหลายเกี่ยวกับ “การพัฒนา” และ “การอนุรักษ์” ที่กำหนดหรือคิดให้อีสานโดยกรุงเทพฯ ขณะที่ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ของสุรศักดิ์ ป้องศร ทั้ง 3 ภาค เลือกนำเสนอภาพของอีสานร่วมสมัยแบบที่ไม่ได้ถูกทำให้เป็นชนบทแสนสวยสุดโรแมนติกที่ชาวกรุงเทพฯ อยากไปใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่เป็นอีสานที่ผู้คนขับเคลื่อนด้วยเงิน เกลื่อนกลาดไปด้วยขี้เหล้าและเด็กแว๊น
ปรากฏการณ์ที่คนอีสานลุกขึ้นมาทวงอำนาจทางวัฒนธรรมในการประกอบสร้างตัวตน น่าจะช่วยบ่งบอกแนวโน้มความตื่นตัวทางสังคมของคนอีสานยุคใหม่ ที่อยากส่งเสียงของตัวเองออกมามากขึ้น หลังจากที่ถูกกดทับไว้แสนนาน
เมื่อไม่มีกระบอกเสียง คนอีสานพร้อมแล้วที่จะเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเอง
————————————————————