Constructive Engagement หรือนโยบายพัวพันอย่างสร้างสรรค์ของอาเซียนต่อเมียนมา (หรือพม่าในขณะนั้น) ที่ผุดขึ้นมาจากแนวคิดของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กูรูอาเซียนและอดีตเลขาธิการอาเซียนสัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก ได้ทำให้อย่างน้อย อาเซียนก็สามารถกำกับดูแลความเป็นไปของปัญหาที่เกิดจากการเมืองภายในของเมียนมา เช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันลงได้บ้าง และที่สำคัญ ได้ทำให้แรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่อาเซียนจากนานาชาติตะวันตก ที่พากันชี้นิ้วมายังอาเซียนแล้วบอกว่า You’ve got to do something, ASEAN !! ลดลงได้ในระดับหนึ่ง ทำให้อาเซียนมีเวลาหายใจและตั้งสติ จับเข่าคุยกันว่าจะช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกเราได้อย่างไรกันบ้าง
การพัวพันอย่างสร้างสรรค์ หรือที่สมาชิกอาเซียนขอให้ปรับเป็นการพัวพันที่ยืดหยุ่น หรือ Flexible Engagement เกิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 8888 ที่พม่าในขณะนั้น ใช้วิธีการรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างหนัก แม้แนวมตินี้จะเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น และใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาทิ เมียนมาจะลองหันมาเดินในเส้นทางของประชาธิปไตย จนนำไปสู่การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก เมื่อปี 2533 (แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วผู้ชนะการเลือกตั้งจะไม่ได้บริหารประเทศก็ตาม) หรือแม้กระทั่งการทำตัวดี ๆ ตามที่อาเซียนร้องขอ และนำไปสู่การให้สมาชิกภาพของเมียนมาในอาเซียนเมื่อปี 2540 โดยมีผู้สนับสนุนหลักคือมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีเดียวกันนั้น
กับสถานการณ์ในปัจจุบันของเมียนมา หลายท่านอาจจะมองว่า ก็เป็นเรื่องเดิม ๆ เกิดจากปัญหาเดิม ๆ ใช้วิธีการหยุดผู้ประท้วงในแบบเดิม ๆ และอาเซียนก็ยังคงถูกมองว่าต้องทำอะไรบางอย่าง..เหมือนเดิม แต่ในความเป็นไปของโลกปัจจุบัน การรวมกลุ่มประท้วงของประชาชนก็มิได้จำกัดวงอยู่ภายในประเทศเหมือนเดิมอีกต่อไป ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีผนวกกับพลังของคนรุ่นใหม่ที่กระหายความเปลี่ยนแปลงในประเทศตนแบบล้มกระดาน เพื่อเปลี่ยนเกมกันเสียที ทำให้เกิดแนวร่วมทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น โลกภายนอกมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจชาวเมียนมามากขึ้น คำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นจุดอ่อนที่สามารถโจมตีรัฐบาลทหารเมียนมาได้มากที่สุดแล้วในปัจจุบัน
ปัญหาภายในของเมียนมาที่ปะทุขึ้นมาในลักษณะเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลกระทบต่อการเป็นประชาคมอาเซียนในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การยังคงให้การยอมรับเมียนมาในฐานะสมาชิกอาเซียนเป็นสิ่งที่อาเซียนต้องกระทำต่อไป อาเซียนคงไม่สามารถตัดขาดหรือทิ้งเมียนมาไว้ข้างหลังได้ การยังคงช่องทางพูดคุยหรือช่องทางการทูตของอาเซียนกับเมียนมาไว้ตามวิถีอาเซียนอาจจะเป็นวิถีที่ชาติตะวันตกไม่เข้าใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับอาเซียน โดยเฉพาะ ไทย ซึ่งหากไม่สามารถรักษาช่องทางพูดคุยกับเมียนมาได้อย่างฉันท์มิตรแล้วล่ะก็ยิ่งยุ่งยาก
อย่างไรก็ดี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่อาเซียนจะยกระดับการพูดคุยกับเมียนมาที่มีเป้าประสงค์ชัดเจนว่า อยากให้เมียนมาทำอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไรที่จะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างสง่าผ่าเผย มั่นคงและแข็งแกร่งในประชาคมโลก มาตกลงกันให้เป็นเรื่องเป็นราวไหมว่าเมียนมาจะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นทั้งกับเมียนมาเอง และกับอาเซียนด้วย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ ASEAN Way ควรจะมีอิทธิฤทธิ์บ้าง ไม่ใช่แค่การพูดคุย รับฟังปัญหา แล้วจบ แยกย้ายกันไป เป็นไปได้หรือไม่ที่อาเซียนจะพูดคุยกับเมียนมาโดยถือไม้เรียวไว้ในมือบ้างสักครั้ง (แต่ก็นั่นล่ะ อาเซียนก็คงตกลงกันไม่ได้อีกว่าใครจะเป็นคนฟาด หากเมียนมาเกิดดื้อดึงขึ้นมาอีก ไทยคงไม่ฟาดแน่นอนอยู่แล้ว)
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เมียนมาจะโดนฟาดหรืออาเซียนจะโดนเมียนมากล่อม เราอาจจะได้รู้กันในการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ หรือภายในเดือนเมษายนนี้ ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็น ASEAN Way แนวใหม่ของอาเซียนเกิดขึ้นก็ได้ หรือจะยังไม่เกิด……..
……………………………………………………