สถานการณ์การเมืองในเมียนมาหลังจากกองทัพควบคุมอำนาจทางการเมืองจากรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD) เมื่อ 1 ก.พ.64 ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมาจะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว แต่การเปลี่ยนแปลงของเมียนมาทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยต้องพิจารณาวางตัวอย่างเหมาะสม
สำหรับสถานการณ์ที่น่าสนใจล่าสุดเมื่อ 16 เม.ย.64 คณะกรรมการผู้แทนรัฐสภา (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw-CRPH) ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองเมียนมาที่เคยสังกัดพรรค NLD ที่ปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ประกาศตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government-NUG) เป็นรัฐบาลคู่ขนาน เพื่อเคลื่อนไหวท้าทายอำนาจของสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council-SAC) และกองทัพเมียนมา พร้อมประกาศรายชื่อ ครม.จำนวน 26 คน ประกอบด้วย ประธานาธิบดี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย 11 รัฐมนตรีสำหรับ 12 กระทรวง และมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีก 12 ตำแหน่ง พร้อมกับประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่า นานาประเทศพร้อมที่จะประกาศรับรองสถานะของ NUG ในเร็ว ๆ นี้ โดยระบุถึงประเทศตะวันตก และประเทศใน ตอ.กลาง ที่เคยมีประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง ‘อาหรับสปริง’
การจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนานของ CRPH เป็นไปเพื่อบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและกองทัพเมียนมาต่อประชาชนและประชาคมระหว่างประเทศ โดย CRPH มียุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยรอเวลาที่เหมาะสม เลือกประกาศการตั้งรัฐบาลดังกล่าวในวันปีใหม่ของเมียนมา เลือกที่จะให้ Win Myint ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและให้อองซานซูจีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐเช่นเดิม เพื่อแสดงถึงความยังคงเป็นหนึ่งเดียวกันกับพรรค NLD ขณะเดียวกัน ก็เลือกที่จะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีโดยให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยสมาชิก ครม.จำนวน 13 จาก 26 คนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะ CRPH เชื่อว่าพลังและอำนาจต่อรองทางการเมือง รวมทั้งมวลชนของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาจะเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มความยุ่งยากให้กับรัฐบาลเมียนมาได้
นอกจากนี้ หลังจากการเปิดตัวได้ 2 วัน NUG ก็ได้ส่งสัญญาณมาถึงอาเซียนโดยตรง โดยสมาชิกคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลคู่ขนานดังกล่าวก็ให้ความเห็นกับสื่อมวลชนต่างประเทศเมื่อ 18 เม.ย.64 เกี่ยวกับกรณีอาเซียนจะจัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยสถานการณ์เมียนมา ที่จาการ์ตา ใน 24 เม.ย.64 ว่า “อาเซียนไม่ควรรับรองสถานะรัฐบาลเมียนมาในปัจจุบัน และอาเซียนจะไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา หากอาเซียนยังไม่มีการเจรจากับ NUG ที่มีความชอบธรรมและได้รับการสนับสนุนจากประชาชน” ขณะเดียวกันก็เสนอแนะให้อาเซียนเชิญตัวแทนของ NUG เข้าร่วมการประชุมแทน
ท่าทีดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนว่า NUG อาจเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้ไทยและอาเซียนต้องอยู่ในสภาวะรับความคาดหวังจากนานาประเทศในเรื่องเมียนมาอีกครั้ง
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ในเมียนมา การเกิดขึ้นของ NUG ที่กำลังเดินเกมต่อสู้กับรัฐบาล SAC และกองทัพเมียนมาอย่างเข้มข้นอีกครั้ง อาจเป็นความหวังให้ประชาชนที่ยังไม่ยอมรับการควบคุมอำนาจให้ต่อต้านรัฐบาล SAC และกองทัพต่อไป จนทำให้สถานการณ์การปะทะที่เริ่มผ่อนคลายลงไปกลับมาซับซ้อน ตึงเครียดและรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มสถานการณ์จะร้ายดี/มากน้อยเพียงใดต่อไปขึ้นอยู่กับท่าทีของ NUG ว่าจะวางบทบาทเป็นผู้สั่งการ หรือเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล SAC กับประชาชนเมียนมา และชนกลุ่มน้อย
ทั้งนี้ หาก NUG เคลื่อนไหวในลักษณะที่ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา อาจทำให้ NUG เองไม่มีความชอบธรรมมากพอที่จะได้รับการยอมรับเป็นรัฐบาลชั่วคราวในสายตานานาชาติ เนื่องจากบทบาทของรัฐบาลชั่วคราวที่ชอบธรรมที่ผ่านมานั้นจะต้องเป็นเครื่องมือส่งเสริมสันติภาพ ประชาธิปไตย ยุติการต่อสู้ ฟื้นฟูประเทศ ช่วยเหลือประชาชน และเป็นองค์ประกอบที่พร้อมด้วยผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างครอบคลุม
นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับมุมมองของชาวเมียนมาต่อ NUG และ CRPH ว่าได้รับการยอมรับมากน้อย และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
เรียบเรียงจาก
Myanmar unity government says it must be part of any ASEAN bid to end crisis | Reuters
Interim Governments: Lessons and Guidelines (ifit-transitions.org)
CRPH – Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (crphmyanmar.org)
CRPH announces lineup of interim ‘national unity government’ | Myanmar NOW (myanmar-now.org)