การเงินแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized Finance-DeFi) ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี Blockchain ทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรมแทนตัวกลางทางการเงิน (เช่น ธนาคารพาณิชย์) พัฒนาอย่างรวดเร็วและเติบโตสูง เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ในตลาดการเงินโลกที่เชื่อว่า ระบบการเงินโลกแบบรวมศูนย์ที่นำโดยสหรัฐฯ ล้มเหลว เพราะการพิมพ์เงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบการเงินโลก เฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ดอลลาร์สหรัฐเสื่อมค่า เกิดหนี้สูง และเงินเฟ้อสูงตามมา ทำให้ความมั่งคั่งของคนทั่วโลกลดลง และกดดันรายได้จากการลงทุนในรูปดอกเบี้ยทั่วโลกให้ตกต่ำยาวนาน ธุรกิจ DeFi จึงได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการกำเนิดขึ้นของ Bitcoin (BTC) ในระบบการเงินโลกเมื่อปี 2553 หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ จนพัฒนามาสู่การออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ Cryptocurrency อาทิ การทำ Yield Farming หรือ Platform เพื่อปล่อยกู้ Cryptocurrency ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจสูงกว่าร้อยละ 10-20 ต่อปี มีการพัฒนา Exchange ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีผู้เข้าเก็งกำไรจากราคา Cryptocurrency สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ตลาด Cryptocurrency โลกพัฒนาอย่างรวดเร็วใน Ecosystem ของ DeFi ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเติบโตสูงสุดในเอเชีย ซึ่ง Bitcoin (BTC) มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ร้อยละ 60 ของสกุลเงินทั้งหมด 8,900 สกุล ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการมี BTC เมื่อ 2553 (Wave 1) ผู้ถือครอง BTC ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อยเพื่อเก็งกำไร ต่อมา (Wave 2) เริ่มมีนักลงทุนสถาบันและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้าซื้อ BTC เก็บเป็นสินทรัพย์ เพื่อเลี่ยงเงินเฟ้อและการเสื่อมค่าของดอลลาร์สหรัฐ รวมถึง (Wave 3) ธุรกิจหลายแห่งอนุญาตให้มีการชำระเงินด้วย BTC เนื่องจากมีการพัฒนาการเก็บสินทรัพย์ในรูป Cryptocurrency ที่ปลอดภัยมากขึ้น ทำให้มีจำนวน Digital Wallet เติบโตแบบยกกำลัง ตลอดจน (Wave 4) ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency-CBDC) ทำให้เกิดการยอมรับ Cryptocurrency มากขึ้นทั่วโลก จนราคา BTC เมื่อ 12 เม.ย.64 ปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 2 ล้านบาท ต่อ 1 BTC จากเพียงประมาณ 300,000 บาทต่อ BTC เมื่อต้นปี 2563
ปัจจุบัน Cryptocurrency มีหน้าที่หลัก ได้แก่ 1) โอนเงินข้ามประเทศแบบ Real-Time และมีต้นทุนต่ำมาก 2) เก็งกำไรได้ผลตอบแทนสูง และ 3) ใช้เพื่อชำระเงิน ทั้งนี้ แม้มูลค่าตลาดของ Cryptocurrency ยังน้อยมากที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกที่ 500 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ผู้เชี่ยวชาญในวงการ DeFi ไทยเชื่อมั่นอย่างมากว่า Cryptocurrency ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและจะเติบโตสูงอีกมากจนอาจมีมูลค่ามากกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐทั้งโลก
Cryptocurrency มีจุดแข็งที่เหนือว่าเงินกระดาษ ได้แก่ ไม่สามารถด้อยค่า ไม่สามารถทำปลอมหรือเปลี่ยนแปลงได้ และมีความเป็นอิสระจากระบบการเมือง ไร้พรมแดน รัฐไม่สามารถปิดกั้นการใช้ได้ยกเว้นจะปิดระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อ มีมูลค่าตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง กล่าวคือ มูลค่ามาจากเครือข่ายของจำนวนผู้ใช้งาน (Network Effect) หากมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น มูลค่าก็จะสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบ และลดเชื้อโรคจากการสัมผัสธนบัตร อย่างไรก็ดี การเก็งกำไร Cryptocurrency แม้ให้ผลตอบแทนสูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนส่วนใหญ่จึงแนะนำให้นักลงทุน/นักเก็งกำไร ถือครอง Cryptocurrency เพียงร้อยละ 5-10 ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญด้าน DeFi ในไทยยังประเมินว่า การให้บริการทางการเงินผ่าน Social Media (Social Banking) ซึ่งอยู่ใน Ecosystem ของ DeFi เช่นเดียวกัน มีแนวโน้มพัฒนารวดเร็วจนอาจสามารถทำลายระบบธนาคารในปัจจุบันได้ในอนาคต การโอนเงินทั่วโลกจะสะดวกมากจนสามารถโอนเงินถึงผู้รับที่ใดก็ได้ในโลกเหมือนส่งสติ๊กเกอร์ถึงกัน ไม่มีค่าธรรมเนียมและรวดเร็วแบบ Real Time ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของ Platform Social Media และแอปพลิเคชันที่รวมบริการหลายด้านไว้ที่เดียว (Super App) ที่มีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาลได้สำเร็จ เช่น Facebook และ Instagram จะทำให้ Social Banking สามารถให้บริการกับลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงธนาคารเพราะไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือกู้เงินไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ ไม่มีเรื่องอธิปไตยของแต่ละประเทศมาเกี่ยวข้อง ช่วยลดต้นทุนและเวลาในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ และทำให้การหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจรวดเร็วขึ้นจนสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้มหาศาล
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของ DeFi และ Social Banking ข้างต้น แม้จะส่งผลดีต่อประชาชนให้สามารถโอนเงินได้รวดเร็วต้นทุนต่ำ ส่งเสริมให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ก็อาจทำให้รัฐบาลทั่วโลกเผชิญปัญหาครั้งใหญ่ในระบบการเงินโลก เนื่องจากการโอนเงินที่สะดวกเหมือนการส่งสติ๊กเกอร์ถึงกันจะเป็นการ “ฉีกตำรา” ทางเศรษฐศาสตร์ โดยรัฐบาลแต่ละประเทศจะไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยควบคุมทั้งปริมาณเงินเข้าออกประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ Cryptocurrency ยังจะทำให้อาชญากรรมเปลี่ยนรูปแบบเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ อาทิ การแฮกบัญชี Cryptocurrency และการแฮกแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน Cryptocurrency
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในวิธีที่รัฐจะป้องกันมิให้เกิดผลเสียจาก Cryptocurrency คือ หลายประเทศได้เร่งพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency-CBDC) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลที่ใช้ภายในแต่ละประเทศที่ไม่มีความผันผวนด้านมูลค่าเหมือน Cryptocurrency สามารถเก็บฐานข้อมูลด้านธุรกรรมทางการเงินของคนในประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความโปร่งใสด้านธุรกรรมทางการเงินอีกด้วย แต่การพัฒนา CBDC ในระดับโลกยังล่าช้าและไม่เป็นเอกภาพ โดยมีเพียงธนาคารกลางของไทย จีน สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฮ่องกงเท่านั้นที่มีความพร้อมสูงสุดที่จะสามารถโอนเงินดิจิทัลระหว่างกันได้ ขณะที่บางประเทศไม่สนใจพัฒนา CBDC เช่น อินเดีย ทำให้การกำหนดทิศทางของ CBDC ในระดับโลกในทิศทางเดียวกันยังเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก
สุดท้ายแล้ว DeFi ซึ่งรวมถึง Cryptocurrency และ Social Banking จะเติบโตและสามารถทำลายระบบการเงินโลกนำโดยสหรัฐฯ และระบบการเงินของแต่ละประเทศตามอำนาจอธิปไตยได้หรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องติดตาม เฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของรัฐบาลแต่ละประเทศในการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุม DeFi และเร่งพัฒนา CBDC นอกจากนี้ คำถามที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ รัฐบาลแต่ละประเทศประเมินศักยภาพและอุดมการณ์อันแรงกล้าของนักพัฒนาและ Starup ต่างๆ ในวงการ DeFi ที่เชื่อว่า DeFi จะเปลี่ยนระบบการเงินโลกมากน้อยเพียงใด อีกทั้งประเมินความกระหายของนักลงทุนในการแสวงหาผลตอบแทนในตลาดการเงินที่สูงขึ้นพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเพียงใด
———————————————–