เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัย “พายุฤดูร้อน” อย่างต่อเนื่อง ให้หลายภาคส่วนระมัดระวังฝนฟ้าคะนอง อุทกภัยและลมพัดแรง ที่อาจทำลายพืชผลเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย ทำให้นึกถึงข่าวเมื่อต้นปี 2564 ที่หลายฝ่ายเตือนผสมขู่ว่า “ปีนี้จะแล้งหนักมาก” หลัก ๆ มาจากปัญหาฝนทิ้งช่วง และฝนที่ไม่ตกในพื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จึงนำไปสู่ความตื่นตัวและการเตรียมพร้อมด้วยมาตรการรับมือและบริหารจัดการน้ำเพื่อจัดสรรปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับความต้องการของคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อมูลว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำ 150,000 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี
ไม่ว่าจะน้ำท่วม หรือน้ำแล้ง ทั้งคู่เป็นปัญหาที่อยู่กับประเทศเรามานาน ได้ยินกันจนคุ้นเคย ..แต่ยังไม่เคยจัดการได้!! แน่นอนว่าการควบคุมธรรมชาติเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้น การบริหารจัดการให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพจึงเป็นทางออกสำหรับไทย
ที่ผ่านมา การบริหารจัดการน้ำทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ เป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญ เพราะน้ำเป็นทรัพยากรสำคัญต่อความมั่นคงและการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากการอุปโภคบริโภค ยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ขณะที่ในทางกลับกัน น้ำยังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจได้อีกด้วย ความแปรปรวนของสภาพอากาศในปัจจุบันทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งและอุทกภัยที่มีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ตั้งแต่เกษตรกรที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมที่โดนน้ำท่วมเสียหาย หรือชุมชนที่เผชิญปัญหาสุขภาวะจากน้ำที่เน่าเสีย
ทั้งหมดล้วนเป็นความท้าทายด้านความมั่นคง ทั้งต่อความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของมนุษย์
รัฐบาลรู้และตั้งกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาแล้วในระยะยาว โดยกำหนดแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2562-2580) อย่างไรก็ตาม แค่มีแผนและองค์กรในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างระบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพราะการบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยความเข้าใจในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำและพฤติกรรมของผู้ใช้น้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน หรือ “เข้าใจธรรมชาติ” และความร่วมมือของทุก ๆ ฝ่าย เพื่อให้การควบคุมปริมาณและคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง
เริ่มต้นด้วยการเข้าใจว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่มีวัฎจักร คือ มีความเปลี่ยนแปลงตามวงจร ทั้งในวงจรระยะสั้น (1 ปี) และวงจรระยะยาว (5-50 ปี) ดังนั้น แผนการรับมือเดิม ๆ จึงอาจใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ เราควรเข้าใจที่มาของแหล่งน้ำในไทย นอกจากน้ำฝน ไทยมีลุ่มน้ำหลายสายทั้งจากแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านประเทศ และที่มีต้นน้ำอยู่ภายในประเทศ โดยส่วนใหญ่จะมีต้นน้ำอยู่ในพื้นที่ป่าที่อยู่บนภูเขาที่ดักความชื้นจากอากาศและซับน้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ป่าไว้ใต้ดิน และค่อย ๆ ไหลซึมออกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ รวมเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านที่ราบลุ่มก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล หล่อเลี้ยงให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ตลอดเส้นทางที่น้ำไหลไป
เมื่อเข้าใจธรรมชาติของน้ำแล้ว ความเข้าใจเกี่ยวกับ “กิจกรรมของมนุษย์” ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะกิจกรรมของมนุษย์ได้เข้าแทรกแซงวัฏจักรของน้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น ถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตร ถมแหล่งน้ำเพื่อขยายเมือง รวมถึงทิ้งขยะเสียสู่แหล่งน้ำ ระบบนิเวศของน้ำจึงค่อย ๆ ถูกทำลายและวัฏจักรของน้ำก็เปลี่ยนแปลงไป การไหลและระบายน้ำไม่เป็นไปตามเดิม จึงจำเป็นต้องอาศัยการ “ตัดสินใจ” เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
เมื่อทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากน้ำ ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องหลายส่วน เพื่อให้การ “ตัดสินใจ” นั้นมีประสิทธิภาพ โดยการบริหารจัดการน้ำครอบคลุมทั้งการรักษาระบบนิเวศของกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ความเท่าเทียมในการจัดสรรน้ำให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ และการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำให้กับทุกภาคส่วนอย่างยุติธรรม ขณะเดียวกัน ก็ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำด้วย “ความเข้าใจ” ถึงวัฏจักรและความสำคัญของทรัพยากรน้ำ
นอกจากนี้ การสร้างความเท่าเทียมในการจัดสรรน้ำในกับภาคส่วนต่างๆ และสร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง เป็นเรื่องสำคัญในการบริหารจัดการน้ำด้วย ไม่ควรเป็นเพียงการจัดการแบบ “top down” ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม