“…ขณะนี้องค์การอนามัยโลกไม่เพียงกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคร้าย
แต่ยังกำลังต่อสู้กับ Infodemic ด้วย…”
Tedros Adhanom Ghebreyesus
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก
Infodemic หมายถึง ข้อมูลข่าวสารที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมากในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งเกิดขึ้นจากการสนธิคำระหว่าง Information (ข้อมูลข่าวสาร) และ Pandemic (โรคระบาดครั้งใหญ่) โดยถือเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ปรากฏขึ้นเมื่อปี 2563 จากการประชุมความมั่นคงมิวนิกหารือปัญหาความมั่นคงระดับโลก (Munich Security Conference : MSC) ที่ข่าวปลอมในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในวาระพิเศษของการประชุมครั้งนั้นด้วย เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญ และการระมัดระวังร่วมกัน เนื่องจาก Infodemic มีลักษณะการแพร่กระจายเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่าย รวดเร็ว จำนวนมาก วงกว้าง และอันตราย นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้ใช้โอกาสจากสถานการณ์แพร่กระจายของข่าวปลอมในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ยกระดับ Infodemic ให้เป็นศาสตร์ใหม่ภายใต้ชื่อ infodemiology เพื่อแสดงให้เห็นว่า การแพร่กระจายของข่าวปลอมเป็นประเด็นสำคัญระดับโลกที่พัฒนาขึ้นจากปัญหาด้านสุขภาพสู่ปัญหาทางสังคมและความมั่นคงอันมีเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ
ปี 2563 ถือเป็นปีสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์โลก เนื่องจาก 216 ประเทศต่างประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่มาพร้อมกับความรุนแรงของ Infodemic ที่สร้างความท้าทายอย่างยิ่งแก่ภาครัฐโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่ต้องรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน ตื่นตระหนก และมีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งนี้ องค์การอนามัยภาคพื้นอเมริกา (Pan American Health Organization : PAHO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดของ WHO พบว่า เมื่อมีนาคม 2563 มีผู้นำคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ COVID-19 เผยแพร่ลงใน YouTube กว่า 361,000,000 คลิป บทความมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ COVID-19 เผยแพร่ลงใน Google Scholar กว่า 19,200 บทความ และข้อความที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 เผยแพร่ลงใน Twitter กว่า 550 ล้านทวีตข้อความ นอกจากนี้ Instagram และ Facebook ยังรายงานว่าได้ดำเนินการลบข้อความที่เป็นข่าวปลอมไปแล้วกว่า 7 ล้านข้อความ พร้อมติดป้ายกำกับเตือนกว่า 98 ล้านข้อความว่าเป็นข้อความที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี แม้ทางผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์จะพยายามสกัดข่าวปลอม แต่ระหว่างมกราคม-สิงหาคม 2563 กลับพบว่า มีชาวอเมริกันกว่า 6,000 คน ยังคงต้องเข้าโรงพยาบาลจากการประพฤติตามข้อแนะนำของข่าวปลอม เช่น ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า COVID-19 เป็นเรื่องหลอกลวงที่คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา และการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกัน COVID-19 เป็นต้น
ข่าวปลอมที่เผยแพร่มักเล่นกับความรู้สึกของคน สร้างความสับสน ความตื่นตระหนก ความตื่นเต้นความหวาดกลัว และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการปฏิบัติตนของประชาชน ยิ่งมีระดับความเชื่อถือมากเท่าไหร่ ระดับการป้องกันให้ห่างไกลจาก COVID-19 ยิ่งมีน้อยลง เช่นเดียวกันยิ่งระดับผู้ติดเชื้อ COVID-19 มีมากเท่าไหร่ ระดับจำนวนข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ก็จะมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งความหวาดกลัวดังกล่าวทำให้ “COVID-19”
เป็นคำค้นหาจากทั่วโลกถึง 2.1 พันล้านครั้ง มากกว่าโรคติดต่ออันตรายที่คล้ายกันในอดีต เช่น SARS 66.5 ล้านครั้ง MERS 33.1 ล้านครั้ง และ HIV 69.5 ล้านครั้ง เป็นต้น
สถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 อาจทำให้ผู้คนวิตกกังวลจนมองข้ามการพิจารณาความถูกต้องความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้รับมา และทำการส่งต่อข้อมูลผิด ๆ เหล่านั้นไปยังเพื่อนฝูงญาติพี่น้องด้วยเจตนาดี ตั้งแต่เรื่องข่าวสารทั่วไปเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค ไปจนถึงวิธีการรักษาหรือป้องกันต่าง ๆ เช่น “COVID-19 สามารถแพร่ระบาดผ่านระบบ 5G” “โรงพยาบาลศิริราชแนะนำให้กักตุนอาหาร” “แรงงานเมียนมาทุบกำแพงเพื่อหลบหนีที่ จ.สมุทรสาคร” “ดื่มน้ำมะนาวสามารถป้องกัน COVID-19 ได้” “รับประทานฟ้าทลายโจรป้องกัน COVID-19 ได้” และ “ยืนตากแดดฆ่าเชื้อ COVID-19 ในร่างกายได้” เป็นต้น
สิ่งที่เหมือนกันของการแพร่กระจายของข่าวปลอมกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 คือความรวดเร็ว และเจตนา ซึ่งมีทั้งกระทำโดยเจตนาและไม่เจตนา แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาคือผลร้ายมากกว่าผลดี อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างกัน คือ เชื้อไวรัสสามารถป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข ขณะที่การป้องกันข่าวปลอมกระทำได้ยากกว่า เนื่องจากยังไม่มีมาตรการป้องกันข่าวปลอมที่ชัดเจน เมื่อมีการแพร่กระจายข่าวปลอมแล้วยากอย่างยิ่งที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง สืบค้นที่มาของข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ข่าวปลอมมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจึงทำให้ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหามาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเนื้อข่าวสามารถสร้างความเข้าใจผิดด้านการป้องกัน การควบคุมเชื้อ และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งปัญหาอาจจะบานปลายจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปัญหา Infodemic ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต่างกำหนดแนวทาง และมาตรการในการป้องกันข่าวปลอมในสถานการณ์ COVID-19 ดังนี้
– สหรัฐอเมริกา เปิดโอกาสให้สื่อและประชาชนตรวจสอบกันเอง โดยสื่อสำนักต่าง ๆ อาทิ The New York Times Washington Post The Atlantic และ CNN เป็นต้น ต่างจัดตั้งทีมข่าวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งมีภาคประชาสังคมหลายกลุ่มได้ก่อตั้งเว็บ Fact-checking เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเท็จที่เผยแพร่
บนโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ดี ระหว่าง 2-15 มีนาคม 2563 นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
กลับเป็นผู้เผยแพร่ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ถึง 33 ครั้ง จนทำให้เกิดความสับสนในข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดอันส่งผลต่อมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกตามมา
– ไต้หวัน มุ่งเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนและโปร่งใส และดำเนินการจัดการกับข่าวปลอมอย่างจริงจัง โดยมีนายเฉินเจี้ยนเหริน รองประธานาธิบดี ทำหน้าที่บัญชาการและผู้แถลงข่าวสถานการณ์ COVID-19 ประจำวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และสั่งการให้รายการโทรทัศน์และวิทยุเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ COVID-19 ทุกชั่วโมง รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอมเป็นการเฉพาะขึ้นในหน่วยข่าวกรองเพื่อทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบข่าวปลอมภายใน 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวัน (CDC) ยังได้กำหนดให้ผู้เผยแพร่ข่าวปลอม มีโทษปรับสูงถึง 3,000,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 3,066,267.69 บาท และถูกควบคุมตัวนานสูงสุด 3 วัน
– เกาหลีใต้ มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลจากภาครัฐให้มากที่สุดและสร้างความโปร่งใสแก่ข้อมูล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ และรณรงค์ให้ประชาชนรับฟังข่าวสารจากรัฐบาลเป็นหลัก เช่น การอัปเดตสถานการณ์ปัจจุบัน และมาตรการที่รัฐบาลประกาศ เป็นต้น โดยสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย และข้อความ SMS พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานกำกับการสื่อสาร ผู้จัดทำบล็อก และเว็บไซต์ ดำเนินการลบหรือบล็อกข้อความที่เป็นเท็จ ตลอดจนมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ปฏิบัติการตรวจตราโซเชียลมีเดียอย่างเข้มข้น โดยเน้นการดำเนินการต่อผู้กระทำผิดรายใหญ่ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะเป็นวงกว้าง
– จีน มุ่งเน้นควบคุมและตรวจสอบการแสดงความคิดเห็น/การแสดงออกของประชาชนและสื่อ รวมทั้งดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด พร้อมทั้งกำหนดให้บริษัทโซเชียลมีเดียของจีน ได้แก่ Weibo WeChat และ YY ดำเนินการลบข้อความที่ผิดกฎหมายและข้อความที่เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหวทางการเมือง
– ไทย มุ่งเน้นมาตรการตรวจสอบ มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการสื่อสาร โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน และบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิด และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นช่องทางการสื่อสารเพื่อนำเสนอสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 รายวัน ทั้งนี้ ระหว่าง 25 มกราคม 2563 – 5 มกราคม 2564 พบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมดำเนินการเผยแพร่ทั้งหมด 333 เรื่อง โดยมีสัดส่วนข่าวปลอม จำนวน 255 เรื่องข่าวจริง จำนวน 33 เรื่อง และข่าวบิดเบือน จำนวน 45 เรื่อง ขณะที่การดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ในปี 2563 มีเพียง 30 คดี ซึ่งกำหนดให้ผู้เผยแพร่ข่าวปลอมมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากการตรวจสอบข่าวปลอมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และรวดเร็วก็จะยิ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือแก่ประชาชนเมื่อเกิดความสับสนจากการรับรู้ข่าวสารบนโลกออนไลน์ ดังนั้น ข่าวปลอมถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผยแพร่ข่าวปลอมในสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ณ สภาวะที่จิตใจผู้คนไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติ ซึ่งพร้อมยินดีที่จะเชื่อและแชร์ก่อนเช็กความถูกต้อง
—————————————————————