ในบรรยากาศของสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ที่เริ่มลุกลามเป็นการจัดตั้งกองกำลังทหารเพื่อสู้รบกัน เริ่มมีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในเมียนมา แม้ว่ายังไม่มีแนวโน้มที่มหาอำนาจใดจะส่งทหารเข้าไปช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนขยายตัวเป็นสงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจ แต่ก็พอมองภาพได้ว่ามหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างมีผลประโยชน์และเป้าหมายในใจเป็นของตัวเอง และกำลังขับเคลื่อนเต็มกำลังเพื่อรักษาผลประโยชน์นั้น
บรรยากาศของสงครามและบทบาทของมหาอำนาจที่แผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคใกล้บ้านเรา ชวนให้หวนคิดถึงสงครามเวียดนามระหว่างปี 2498-2518 ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ครั้งสุดท้ายที่สหรัฐฯ ส่งกองทัพเข้ามาในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็พอดีกับที่ว่า Netflix มีภาพยนตร์ 3 เรื่องที่สร้างในต่างกรรมต่างวาระแต่มีจุดร่วมคือมีสงครามเวียดนามเป็นฉากหลัง คือ “The Trial of the Chicago 7” (ฉายปี 2563) “First They Killed My Father” (ฉายปี 2560) และ “Da 5 Bloods” (ฉายปี 2563)
ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องพูดถึงสงครามเวียดนามจากต่างมุมมอง และมีประเด็นหลักของเรื่องที่ต่างกันออกไป “The Trial of the Chicago 7” ของผู้กำกับ Aaron Sorkin เล่าเรื่องความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ระหว่างการพิพากษาคดีกรณีกลุ่มนักกิจกรรม-บุปผาชน-นักศึกษา ปะทะกับตำรวจระหว่างประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม ขณะที่ “First They Killed My Father” ของผู้กำกับ Angelina Jolie เสนอภาพชีวิตของครอบครัวของเด็กหญิงวัย 7 ขวบที่มีบิดาเป็นทหารประจำกองทัพสาธารณรัฐเขมร (นำโดยลอน นอล ที่มีนโยบายนิยมสหรัฐฯ) ที่ต้องเผชิญสภาพชีวิตเลวร้ายในค่ายผู้ใช้แรงงาน หลังสหรัฐฯ ถอนกำลังจากภูมิภาคและเขมรแดงขึ้นปกครองกัมพูชา และ “Da 5 Bloods” ของผู้กำกัย Spike Lee มุ่งเน้นที่ชีวิตทหารอเมริกันผิวดำ ที่ถูกเกณฑ์มาร่วมรบในสงครามเวียดนาม ทั้งที่มีคำถามอยู่ในใจว่าทำไมต้องเสียสละมาสู้รบในสงครามที่ไม่ใช่สงครามของตนเอง
ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องมีเส้นเวลาทาบทับกันที่ห้วงใกล้สิ้นสุดสงครามเวียดนาม จึงฉายให้เห็น “Political Dilemma” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องตัดสินนโยบายท่ามกลางการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มพลังต่าง ๆ ที่มีอุดมการณ์ต่างกันออกไป
Political Dilemma คือความยุ่งยากใจทางการเมือง เปรียบเทียบเหมือนกับว่าผู้กำหนดนโยบายยืนอยู่บนทางแยก ที่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกทางเดินทางใดทางหนึ่งโดยทั้งสองทางต่างมีผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์รอคอยอยู่ การตัดสินนโยบายในสถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นการชั่งใจว่าเลือกเส้นทางใดที่เป็นความเสียหายน้อยกว่า หรือเป็นความเสียหายที่ยังอยู่ในเกณฑ์พอรับได้เมื่อเทียบกับอีกทาง
เพื่ออธิบายความหมายของคำว่า “Dilemma” ให้เห็นภาพชัดเจน ขออนุญาตยกตัวอย่างคลาสสิกของ “Ethical Dilemma” กรณีพนักงานสับรางรถไฟมองเห็นแต่ไกลว่ารถไฟเบรกแตกกำลังจะพุ่งชนคน 5 คน แต่ให้เผอิญมีทางเลือกว่าถ้าเขาสับรางรถไฟเลี่ยงไปอีกทางที่มีคนยืนอยู่เพียงคนเดียว จะทำให้มีคนตายน้อยลงถึง 4 คน แต่พนักงานสับรางคนนั้นจะมีตราบาปติดในใจไปตลอดชีวิตเลยว่าเขาคือผู้ตัดสินใจพิพากษาฆ่าเหยื่อผู้นั้นด้วยตนเอง
ในขณะที่กลุ่มนักกิจกรรม-บุปผาชน-นักศึกษาใน “The Trial of the Chicago 7” ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเวียดนาม พร้อมตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจรัฐเพื่อกดขี่เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ตัดภาพไปที่กัมพูชาใน “First They Killed My Father” ครอบครัวของนายทหารสาธารณรัฐเขมรโกรธแค้นและผิดหวังที่ไว้ใจว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนการต่อสู้กับเขมรแดง แต่กลับถอนทหารออกไป ปล่อยให้เขมรแดงปกครองกัมพูชาด้วยความโหดร้าย โดยไม่ต้องพูดถึงเสรีภาพใด ๆ ของประชาชน
กองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตร (รวมทั้งไทย) ส่งกำลังเข้าไปในอินโดจีนเพื่อต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ ที่สหรัฐฯ เห็นว่าเป็นระบอบการปกครองที่จำกัดเสรีภาพของประชาชน ตัดภาพกลับไปที่สังคมสหรัฐฯ ชาวอเมริกันผิวสีในยุคนั้นยังถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสองของสหรัฐฯ แต่กลับถูกเกณฑ์ให้มาเสียสละชีวิตทำสงครามเพื่อสหรัฐฯ “Da 5 Bloods” บอกเราว่าทหารอเมริกันผิวดำคิดเป็นร้อยละ 32 ของกองกำลังสหรัฐฯ ในเวียดนาม ทั้งที่สหรัฐฯ มีพลเมืองผิวดำเพียงร้อยละ 11
Political Dilemma เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก มองไปทางเลือกใดก็เห็นแต่ผลเสียที่รออยู่ เมื่อตัดสินใจไม่ถูกจึงทำให้ตกอยู่ในสภาวการณ์ชะงักงัน ซึ่งอาจพูดได้ว่าประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะไทยก็กำลังตกที่นั่งดังกล่าวในกรณีวิกฤติเมียนมาเช่นเดียวกัน
————————————-