สีพาสเทลคือสีสันของการเดินเลียบถนนนครสวรรค์ในตอนเที่ยงวันที่แดดเปรี้ยง อาคารโบราณจากย่านนางเลิ้งเรื่อยไปจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศมีเอกลักษณ์ที่เหมือนกันคือประตูเหล็กยืด ต่างกันที่ย่านนางเลิ้งทาสีชมพูหวาน จนเมื่อเลยถนนพะเนียงไปแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน
ไม่ใช่แค่สีที่แตกต่าง จากความคึกคักของตลาดนางเลิ้ง ริมถนนนครสวรรค์ฝั่งที่ค่อนมาทางสะพานผ่านฟ้าลีลาศค่อนข้างเงียบเหงา ไม่ต้องกังวลเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมเพราะนานทีจะมีคนเดินสวนผ่าน บรรยากาศยิ่งปลุกเร้าให้เหงาเข้าไปใหญ่ด้วยป้ายชื่อร้านค้าที่คุ้นหูในวัยเด็ก บรรณกิจ เสริมวิทย์ วิบูลกิจย์ บันลือสาส์น ฯลฯ ถนนนครสวรรค์เคยเป็นศูนย์รวมของสำนักพิมพ์มีชื่อ แต่บรรยากาศในปัจจุบันราวกับเป็นสัญลักษณ์ที่จับต้องได้ของการเสื่อมถอยของวงการหนังสือไทย หลายร้านติดป้ายขายอาคาร อีกบางร้านพูดตรงไปตรงมาคือราวกับว่าเปิดเพื่อรอวันสุดท้าย แม้แต่ร้านหนังสือยุคใหม่อย่าง The Gypsy Reader ที่ขายหนังสือดี ๆ คู่กับคราฟท์เบียร์ดี ๆ ยังต้องย้ายออกไปถึงย่านเมืองทอง
ผมเลือกเดินเข้าร้านบรรณกิจที่ติดประกาศเชื้อเชิญด้วยคำว่าลดราคาร้อยละ 50 ทุกเล่ม หนังสือหลากหลายบนชั้นสภาพใหม่เอื่ยมด้วยว่าไม่เคยผ่านมือนักอ่าน แต่เหลืองกรอบตามอายุขัย การเลือกหนังสือของผมมีเสียงประกอบฉากเป็นบทสนทนาระหว่างคุณป้ามีอายุ 3 คนที่น่าจะเป็นเจ้าของร้านและเพื่อนฝูง ตั้งวงแลกเปลี่ยนทัศนะกันเกี่ยวกับการศัลยกรรมของสุรชัย สมบัติเจริญ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้ยินการใช้สรรพนาม “ลื้อ” กับ “อั๊ว” ในชีวิตจริง จึงเลือกหยิบ “จดหมายจากเมืองไทย” ของ “โบตั๋น” ฉบับที่บรรณกิจตีพิมพ์ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2522 เป็นของฝากติดมือให้เข้ากับบรรยากาศ
จดหมายจากเมืองไทย เป็นนวนิยายในรูปแบบของจดหมายถึงแม่ 100 ฉบับ ของตันส่วงอู๋ ชาวจีนจากเมืองโผวเล้ง มณฑลกว่างตง ตันส่วงอู๋เป็นเกษตรกรที่โดยสารมากับเรือเดินสมุทรเพื่อหนีความแร้นแค้นมาหาโอกาสใหม่ มีแผ่นดินไทยเป็นเป้าหมายปลายทางด้วยชื่อเสียงเรื่องความอุดมสมบูรณ์ เรื่องราวไล่เรียงตั้งแต่การใช้ชีวิตบนเรือไล่ไปจนถึงเส้นทางการสร้างตัวด้วยการค้าขายจนร่ำรวย
งานวิจัยเรื่อง “การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่” ของ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา และคณะ ระบุว่าการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนมายังไทยระลอกใหญ่เกิดขึ้นหลังการโค่นล้มราชวงศ์ชิงเมื่อปี 2454 ที่การเมืองจีนขัดแย้งวุ่นวาย ต่อเนื่องไปจนถึงสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ การอพยพระลอกนั้นเป็นระลอกเดียวกันกับตันส่วงอู๋ และเป็นชาวจีนที่ภายหลังกลายเป็นตระกูลนักธุรกิจและนักการเมืองไทยที่มีบทบาทอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ผมเกิดไม่ทันห้วงที่คนจีนอพยพมาไทยระลอกนั้น และเติบโตมากับการมีเพื่อนที่แม้จะมีเชื้อสายจีนแต่ก็ไม่มีความผูกพันใด ๆ กับความเป็นจีนแล้ว การอ่าน “จดหมายจากเมืองไทย” จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเรียนรู้ภาพชีวิตคนจีนในไทยในยุคนั้น
สภาพของสังคมชาวจีนในไทยที่สะท้อนออกมาใน “จดหมายจากเมืองไทย” คือการใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่กับคนไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 2492 ทำให้ไทยและจีนตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน (หันมาเปิดความสัมพันธ์กันเมื่อปี 2518) ตันส่วงอู๋จึงไม่มีโอกาสกลับไปเหยียบแผ่นดินเกิดและเยี่ยมแม่ที่จีน ต้องใช้ชีวิตจนถึงวาระสุดท้ายบนแผ่นดินไทย และมีลูกหลานถือสัญชาติไทย กระนั้นก็เถอะ เขาภาคภูมิใจในความเป็นคนจีน ห้ามลูกพูดไทยในบ้าน และไม่อยากให้สุงสิงคลุกคลีกับคนไทย ที่เป็นคนรักสบาย เกียจคร้าน รักการเป็นลูกจ้าง มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ โดยไม่สนใจความก้าวหน้า (ความคิดของคนจีนมองคนไทย)
“จดหมายจากเมืองไทย” ให้ภาพความพ่ายแพ้ของตันส่วงอู๋ สุดท้ายเขาทานกระแสไม่สำเร็จ ลูกเต้าเปลี่ยนนามสกุลจากแซ่ตันเป็น “ไทยยืนยง” และลูกสาวคนสุดท้องเลือกแต่งงานกับหนุ่มไทยขัดใจพ่อ ผมเกิดไม่ทันจุดเริ่มต้น แต่ได้เห็นตอนจบ ลูกหลานของชาวจีนที่อพยพเข้าไทยระลอกนั้น ปัจจุบันกลมกลืนกลายเป็นคนไทยเต็มตัวไปหมดแล้ว หลายคนทวีตติดแฮชแท็ก “พันธมิตรชานม” เพื่อด่าจีนด้วยซ้ำ สภาพแบบนี้ของสังคมไทย ข้อดีคือทำให้เราไม่เคยมีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวพื้นเมืองกับคนเชื้อสายจีน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ตันส่วงอู๋ตั้งร้านที่เยาวราช ที่ภายหลังกลายเป็น “China town” และเป็นสัญลักษณ์ของชาวจีนอพยพระลอกนั้น ให้หลังมาหลายสิบปี China town แห่งใหม่เกิดขึ้นที่อีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ร้านรวงย่านห้วยขวางเต็มไปด้วยป้ายภาษาจีน จากการเป็นถิ่นฐานของชาวจีนอพยพระลอกใหม่ ที่เริ่มอพยพเข้าไทยห้วงปี 2540 เป็นต้นมา ชาวจีนอพยพระลอกนี้ไม่ได้หิ้วเสื่อมาหนึ่งใบกับใจถึง ๆ เหมือนตันส่วงอู๋ แต่มาพร้อมกับเงินทุนและระดับการศึกษาที่ค่อนข้างสูง มีทั้งเข้ามาทำธุรกิจ มาเป็นนักศึกษา หรือมาเป็นแรงงานระดับมีทักษะ บางส่วนมีรายได้พอที่จะกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่จีนทุกสัปดาห์ก็ยังได้
น่าสนใจว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปในทิศทางทางใด สังคมไทยจะกลมกลืนเอาชาวจีนอพยพรุ่นใหม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยเหมือนลูกหลานของตันส่วงอู๋ ซึ่งเป็นลักษณะของการหลอมรวมวัฒนธรรม (Melting Pot) หรือชาวจีนเหล่านี้จะใช้ชีวิตในไทยโดยรักษาความเป็นคนจีนแท้ ๆ ไว้ และอยู่ร่วมกับคนไทยในลักษณะสังคมหลากวัฒนธรรม (Salad Bowl) หรืออีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ยังค่อนข้างเหนือจินตนาการ คือการก้าวข้ามความเป็นรัฐจนกลายเป็นประชาชนของโลก (Global Citizen)
——————————————————————————-