ฝุ่นควัน เกษตรกรรม ข้าวโพด หมูกระทะ และป่า…ทุกอย่างมีความเกี่ยวข้องกันและส่งผลกระทบต่อกัน โดยมี “มนุษย์” เป็นตัวเชื่อมโยง
เริ่มด้วยฝุ่นควัน…ในช่วงต้นปี 2564 ความสวยงามทางธรรมชาติของ จ.เชียงใหม่ถูกบดบังด้วยหมอกควันหนาแน่นจากการรวมตัวของฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นผลจากไฟป่า มากถึง 201 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (องค์การอนามัยโลกเสนอให้ค่ามาตรฐาน PM 2.5 ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) จนส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน และ จ.เชียงใหม่ติดอันดับ 1 พื้นที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลกเมื่อ มี.ค.64 บนเว็บไซต์ Air Visual
ไฟป่าเกิดจากอะไรได้บ้าง? …การเกิดไฟป่ามาจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุตามธรรมชาติ เช่น ระบบนิเวศป่าเสื่อมโทรมไปเองตามวัฏจักร จนป่าแห้งแล้งทำให้ไฟป่าลุกลามได้ง่าย และอีกส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ การเผาป่าเพื่อทำเกษตร ซึ่งเป็นวิธีการที่เกษตรกรและชาวเขาใช้มานานแล้ว แต่สภาพอากาศปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต เพราะป่าแห้งแล้งกว่าเดิม ดังนั้น แทนที่จะเป็นพื้นที่สร้างงานและรายได้ พื้นที่เกษตรกรรมจากการเผาป่ากลายเป็นพื้นที่สร้างความเสี่ยง เพราะไฟป่าจะลุกลามเร็ว และควบคุมยากขึ้น ส่งผลให้ไฟป่าแต่ละครั้งในช่วงหลัง ๆ มีความรุนแรงและเพิ่มปริมาณควัน จนเกิดเป็นวิกฤต PM 2.5
ทุกครั้งที่ไฟป่ากลายเป็นข่าวใหญ่ เกษตรกรหรือชาวเขาที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่ามักตกเป็น “ผู้ต้องหาหลัก” หรือสาเหตุของการเกิดปัญหาไฟป่า ทั้งที่เกษตรกรและชาวเขาประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่มาโดยตลอด และการเผาป่าเพื่อทำเกษตรก็เป็นวิธีที่ทำมานาน แต่…ทำไมการเผาป่าถึงเพิ่มขึ้น?
นั่นเป็นเพราะเกษตรกรและชาวเขาที่ใช้ชีวิตอยู่กับป่า เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเกษตร จากที่เคยหาเลี้ยงชีพด้วยการหาของป่าและทำเกษตรกรรมแบบหมุนเวียน (Crop rotation) เพื่อการบริโภคภายในครอบครัว ซึ่งมีการสลับให้พื้นที่เกษตรกลับไปเป็นป่า พื้นที่เกษตรกรรมจึงมีเวลาพักเพื่อฟื้นตัวและยังคงอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี เกษตรกรและชาวเขาเปลี่ยนไปการทำเกษตรเชิงเดี่ยว (monoculture) หรือการปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่กว้างมากขึ้น โดยเน้นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง เพราะพืชเหล่านี้จะถูกซื้อในราคาที่ดีกว่า เพื่อไปผลิตในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และผลิตเนื้อสัตว์ ที่จะต้องตอบสนองการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศ ดังนั้น เกษตรกรและชาวเขาจึงปลูกพืชเพื่อความต้องการของตลาดมากขึ้น และต้องเผาป่าเพื่อขยายที่ดินทำกิน
ปัจจุบัน ความต้องการสินค้าเพื่อผลิตผลิตอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ไม่เคยลดลง เพราะ “หมูกระทะ” และ “บุฟเฟ่ต์” ยังคงอยู่คู่กับคนไทยและได้รับความนิยมเสมอ นอกจากนี้ พฤติกรรมลูกค้าสายบุฟเฟต์จำนวนไม่น้อย ก็ยังนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมากเพื่อให้คุ้มกับราคา ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสรรหาวัตถุดิบให้เพียงพอ จึงต้องเพิ่มการเลี้ยงสัตว์และเร่งขุนให้โตทันขาย อาหารสัตว์จึงเป็นสิ่งจำเป็น และนั่นก็เป็นสิ่งจูงใจเกษตรกรและชาวเขาให้เผาป่าเพื่อสร้างพื้นที่ปลูกพืชเพื่อใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ต่อไป
นอกจากการเผาป่า การใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมเพื่อเร่งผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอ ทำให้พื้นดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ และไม่สามารถปลูกพืชได้ดีเท่าเดิม เกษตรกรและชาวเขาจึงต้องหาพื้นที่เพาะปลูกใหม่ไปเรื่อย ๆ ทำให้ป่าถูกเผาเพิ่ม ขณะที่พื้นที่ที่ถูกทิ้งไว้ไม่สามารถพื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ จึงกลายเป็น “ภูเขาหัวโล้น” รอการชะล้างทำลายตามธรรมชาติ นอกจากเป็นพื้นที่ถูกทิ้ง ภูเขาหัวโล้นยังเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดเหตุดินถล่ม และเป็นสาเหตุของน้ำท่วม เพราะหน้าดินบนภูเขาหัวโล้นจะถูกฝนชะล้างไหลลงสู่แม่น้ำ จนทำให้แม่น้ำตื้นเขินขึ้นและมีความจุไม่เพียงพอ เมื่อเข้าฤดูฝน ก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมในชนบทและในเมืองเป็นภัยพิบัติซ้ำ ๆ
จะเห็นได้ว่า กระบวนการ “เผาป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดสำหรับเลี้ยงหมูที่ใช้บริโภค” ค่อย ๆ กัดกินธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
มนุษย์ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ สัตว์ต้องการอาหารที่ทำจากข้าวโพด ข้าวโพดต้องปลูกในพื้นที่กว้าง และพื้นที่กว้างอาจต้องมาจากการเผาป่า ดังนั้น ป่าไม้จึงถูกบุกรุกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้ง “ป่าต้นน้ำ” หลายแห่งก็ถูกเผาเพื่อเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ไร่ข้าวโพดที่ถูกทิ้งกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ภูเขาหัวโล้นถูกฝนชะล้างทำให้ตะกอนดินไหลลงแม่น้ำสะสมจนเกิดน้ำท่วม น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ…ทุกกระบวนการมี “มนุษย์” เชื่อมโยงอยู่
แน่นอนว่า การบริโภคหมูกระทะไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้มีการเผาป่า ยังมีกระบวนการอื่น ๆ อีกมากมายที่มนุษย์ดำเนินการแล้วส่งผลกระทบต่อป่า แต่บทความนี้มุ่งหวังให้ทุกคน “ใส่ใจ” สักนิดว่า การใช้ชีวิตประจำวันของเราอาจส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ และเราก็เลือกได้ที่จะเร่งหรือชะลอกระบวนการดังกล่าว เพราะมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อป่าและวงจรธรรมชาติเท่านั้น แต่มันจะย้อนกลับมากระทบความเป็นอยู่ของเราเองในรูปแบบภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ไฟป่า หมอกควัน ดินถล่ม น้ำท่วม และภัยแล้ง
ปัจจุบันได้มีการสื่อสารเรื่องราวของธรรมชาติให้รู้ทั่วกัน เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำลายธรรมชาติได้ตระหนัก และ “เลือก” วิธีที่จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลป่า เช่น
- ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและเลือกที่จะมีพฤติกรรมที่จะบริโภคอย่างมี “คุณค่า”
- เกษตรกรเลือกวิธีการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ปลอดสารเคมีได้
- ภาครัฐเลือกจะให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ และส่งเสริมกลไกด้านเศรษฐกิจ สังคมและกฎระเบียบที่จะเอื้อต่อนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทยให้ได้ร้อยละ 40 ในปี 2570 (ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าร้อยละ 31.7 ของพื้นประเทศ)
นโยบายดังกล่าวถือว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (Direction) แต่อาจไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูความเสียหายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นไปแล้ว
ปัจจุบันเราทุกคนรู้ว่าการอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดี แต่เราไม่รู้ว่าเราจะมีบทบาทได้อย่างไร ดังนั้น เราอาจต้องปรับวิธีการสื่อสารแบบใหม่ เพื่อฟื้นฟู 2 อย่างควบคู่กันไป ได้แก่ “ป่าและมนุษย์” ด้วยการเน้นย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วม (Alignment) และความรับผิดชอบ (Commitment) เพื่อให้การอนุรักษ์ป่าอยู่ในความรับผิดชอบของทุก ๆ คน
———————————————————