ความไม่ไว้วางใจ และข้อกังขาที่ว่าเหรียญ Bitcoin ก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง และเผาผลาญพลังงานไฟฟ้าในปริมาณมหาศาลต่อปีนั้น กลายเป็นเรื่องที่ถูกดึงขึ้นมาถกเถียงกันไม่จบสิ้นตลอด 2 ปีมานี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหรียญ Bitcoin กำลังอยู่เทรนด์ขาขึ้นก่อนหน้านี้ บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนักเคลื่อนไหวรณรงค์ด้านพลังงานสีเขียวต่างก็พร้อมกันตบเท้าออกมาโจมตีเหรียญ Bitcoin และการทำธุรกรรมของ Bitcoin ว่าเป็นภัยร้ายที่สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติขั้นรุนแรง บ้างก็ถึงกับเอาขนาดของประเทศมาอ้าง ทำภาพปริมาณการบริโภคพลังงานไฟฟ้ามาเทียบเป็นแผนภูมิ กล่าวหาว่าระบบวงจรและระบบนิเวศของเหรียญ Bitcoin นั้นใช้พลังงานถึง 127 TWh (terawatt-hours) มากกว่าประเทศอาร์เจนตินา และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีตัวเลขการบริโภคพลังงานเพียงแค่ 120 TWh และ 110 TWh ตามลำดับ ทำให้เหรียญ Bitcoin และเหรียญ Cryptocurrency อื่น ๆ พลอยถูกนักกิจกรรมเหล่านั้นเหมารวมไปด้วยว่าเป็นสินทรัพย์ที่นอกจากจะไม่มีมูลค่าแท้จริงแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอีกด้วย
เมื่อมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในมิติด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมาพร้อมกับตัวเลขเทียบกันเป็นแท่งเป็นกราฟสูง-ต่ำเช่นนี้ ผู้อ่านส่วนใหญ่มักจินตนาการภาพตามถึงแต่ ‘ตัวเลข’ การบริโภคพลังงาน เช่น ไฟฟ้า พอได้เห็นข้อความพาดหัวว่าเหรียญเหรียญหนึ่งมีปริมาณการบริโภคมากกว่าประเทศทั้งประเทศ แล้วก็พากันตื่นตระหนกหลงไปกับตัวเลขข้อมูลเชิงสถิติที่นักสิ่งแวดล้อม และนักล็อบบี้จงใจนำขึ้นมาเป็นวาระทางด้านเศรษฐกิจ-การเมืองไปโดยอัตโนมัติ แต่ในความเป็นจริงนั้น การพาดหัวข่าวว่าเหรียญ Bitcoin สูบผลาญพลังงานมากกว่าประเทศอย่างอาร์เจนตินา มาเลเซีย หรือเนเธอร์แลนด์นั้น แทบไม่ได้มีนัยใด ๆ ถึงความ ‘มหาศาล’ ที่ถูกปลุกปั่นเหล่านั้นเลย เพราะขนาดของประชากรในประเทศที่ถูกอ้างถึงนั้นมากสุดก็เพียงใกล้ ๆ 50,000,000 คน อย่างเนเธอร์แลนด์ก็มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 17,000,000 กว่าคนเพียงเท่านั้น หากไปเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่บริโภคถึงปีละ 3,000 กว่า TWh และจีนอีกประมาณ 6,000 TWh จะเห็นว่า ระบบเครือข่ายของเหรียญ Bitcoin ทั้งวงจรนี้มีการบริโภคน้อยกว่า 2 ประเทศมหาอำนาจข้างต้นนี้หลายเท่า
ประเด็นข้างต้นนี้จึงน่าจะเป็นความพยายามเบี่ยงประเด็นทางเมืองของกลุ่มนักล็อบบี้ และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งใจจะออกมาโจมตีเทคโนโลยีของสินทรัพย์ดิจิทัลและเหรียญ Cryptocurrency เพื่อลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนจำนวนมากที่มีต่อตัวระบบในภาพรวมปัจจุบันนี้เสียมากกว่าที่จะแสดงออกถึงความเป็นห่วงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนจากการใช้พลังงานกันจริง ๆ เนื่องจาก Bitcoin และ Cryptocurrency นี้เป็นเทคโนโลยีที่หากมีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้มีผู้เสียผลประโยชน์จำนวนมาก ไม่ว่าจะระบบธนาคาร และระบบการเงินแบบยุคเก่า (traditional financial system) เพราะหากสินทรัพย์ดิจิทัลและเหรียญกลุ่มนี้สามารถสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือในระบบเศรษฐกิจโลกได้จริงในอนาคต นักลงทุนรายใหญ่จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปริมาณสินทรัพย์เกินกว่า 1,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ อาจโยกสินทรัพย์จำนวนมากกว่า 50% เข้าไปไว้ที่สินทรัพย์ดิจิทัลได้ จากเดิมที่ในปัจจุบันยังมีอัตราเพียง 5-10% เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารและกลุ่มทุนในเครือข่ายหลายแห่งขาดรายได้ไปมหาศาล
นอกจากนี้ หากจะกล่าวโทษว่าระบบนิเวศของ Bitcoin และเหรียญ Cryptocurrency ทั้งหมดนั้น สร้างปัญหาการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองแล้ว ควรพิจารณาปริมาณการบริโภคพลังงานและไฟฟ้าของระบบการเงินอย่างธนาคาร และทองคำด้วย โดยจากการศึกษาขององค์กร Galaxy Digital นั้นเผยว่า ระบบธนาคาร ทั้งระบบที่รองรับการใช้งานบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตร ATM การเปิดสาขาของธนาคาร และระบบฐานข้อมูลธนาคารทั่วโลก ฯลฯ นั้นรวมแล้วใช้พลังงานไม่ต่ำกว่า 250 TWh ต่อปี ซึ่งยังไม่ได้รวมระบบอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อและผูกโยงเข้ากับระบบนิเวศของธนาคารที่กลุ่มทุนธนาคารทั่วโลกยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะอีก โดยมีอ้างในการปกปิดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องรักษาความลับขั้นสูง ทำให้บริษัทออดิทหรือตรวจสอบนั้นไม่สามารถคำนวณตัวเลขการบริโภคพลังงานที่แท้จริงได้ ยิ่งถ้านำตัวเลขการบริโภคพลังงานของระบบนิเวศทองคำ เช่น การขุดเหมืองทองคำนั้นจะเท่ากับว่าการบริโภคพลังงานของอุตสาหกรรมการเงินในโลกเก่าอย่างเช่น ธนาคาร และทองคำ อาจมีสูงมากกว่า 600 TWh ต่อปี ด้วยซ้ำไป
ที่สำคัญคือหากพิจารณาจากแง่มุมเชิงภูมิศาสตร์ และภูมิรัฐศาสตร์ของพลังงาน (geopolitics of energy) นั้น จะเห็นว่ากลุ่มทุนที่วนเวียนอยู่ในสารบบของ Bitcoin และเหรียญ Cryptocurrency นั้นพยายามหลีกเลี่ยงข้อกังวลเรื่องการบริโภคพลังงานไฟฟ้ามากแล้ว ด้วยการพากันไปเช่าพื้นที่ทำเหมืองขุด Bitcoin กันที่ประเทศจีนมากกว่า 60% ของอุตสาหกรรมเหมืองทั้งหมด เพื่อใช้ประโยชน์จากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 20,000 แห่ง และแหล่งพลังงานทางเลือกอีกนับไม่ถ้วน ทั้งนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าที่จีนสามารถผลิตได้ต่อปีนั้นมีกว่า 8,000 TWh มากกว่าปริมาณการบริโภคทั้งประเทศ (ประมาณ 2,000 TWh) ซึ่งจีนเองก็ไม่ได้ส่งพลังงานเหล่านั้นออกไปขายที่ไหน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของประธานาธิบดี Xi Jinping ที่มีความต้องการให้จีนผลิตพลังงานเอง สำหรับเก็บไว้ใช้เอง เพื่อการพึ่งพาตนเองในอนาคต ดังนั้น Supply Chain ที่อุตสาหกรรม Bitcoin ในปัจจุบันกำลังใช้อยู่จึงไม่เข้าข่ายการสิ้นเปลือง อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้มีการบริโภคพลังงานไฟฟ้าปริมาณมหาศาลที่จีนนั้นผลิตออกมาเกินความต้องการของตลาดภายในประเทศตนเองด้วย
ดังนั้นคงต้องกล่าวว่าปัจจุบันการใช้พลังงานของระบบนิเวศ Bitcoin ยังไม่ได้มีปริมาณมากอย่างที่หลาย ๆ ฝ่ายเข้าใจกัน แต่น่าจะเป็นเพียงความพยายามต้องการเบี่ยงประเด็นทางเศรษฐกิจการเมืองของกลุ่มทุนที่เสียผลประโยชน์โดยเลือกใช้เหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าฉากและใช้ตัวเลขทางสถิติมาเป็นข้อมูลสนับสนุน