ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีเป็นช่วงเวลาของ ‘Pride Month’ หรือการเฉลิมฉลองของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกร่วมกันตระหนักว่า ความหลากหลายนั้นเป็นสิ่งสวยงาม พร้อม ๆ กับรณรงค์ให้ทุกสังคมร่วมกันเคารพเสรีภาพและสิทธิของมนุษย์ ตลอดจนยอมรับสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งเลือกอย่างภูมิใจ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรง
มิถุนายนถูกกำหนดให้เป็น Pride Month เนื่องจากเป็นช่วงเวลารำลึกเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ใน Greenwich Village เขตแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อมิถุนายน 2512 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในคลับสโตนวอลล์ ที่เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในช่วงเวลานั้น การใช้ความรุนแรงครั้งนั้นซึ่งถูกมองว่าไม่เป็นธรรม และเกิดขึ้นใน Greenwich Village ซึ่งเป็นเมืองแห่งแรงบันดาลใจ และศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม จึงสามารถปลุกกระแสการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในหลายประเทศ
เสน่ห์ของกิจกรรมในช่วง Pride Month คือ สีสันที่จัดจ้าน เป็นศิลปะและพาเหรด ที่ไม่ได้จำกัดแค่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่เข้าร่วมได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ก็สามารถร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองที่เต็มไปด้วยสีสันครั้งนี้ได้ เพราะทุกเพศนั้นเกิดมา ‘เท่าเทียมกัน’
นอกจาก Pride Month จะเต็มไปด้วยพลังและสีสันของมนุษย์ ทั้งในแบบปัจเจกบุคคลและแบบกลุ่มสังคม (Community) ก็เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นของโลกศิลปะและการออกแบบ รวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่เพื่อประกาศว่าบริษัทตนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และถ่ายทอดการสนับสนุนนั้นผ่านการออกผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคสำคัญ ๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับ เป็นผู้ผลิตรายแรก ๆ ที่ออกแบบสินค้าให้เข้ากับ Pride Month ด้วยการใช้สัญลักษณ์ธงสีรุ้ง หรือ Rainbow Flag ที่เป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศ
สัญลักษณ์ดังกล่าวออกแบบโดยนาย Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกันที่เป็นนักเคลื่อนไหวและใช้การรณรงค์ครั้งแรกที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ เมื่อมิถุนายนปี 2521 ตอนแรก นาย Baker เลือกใช้สีรุ้ง 8 สีเพื่อแทนความหมายเพศสภาพ (สีชมพู) ชีวิต (สีแดง) การเยียวยา (สีส้ม) แสงอาทิตย์ (สีเหลือง) ธรรมชาติ (สีเขียว) ศิลปะ (สีน้ำเงินอมเขียว) ความสงบ (สีน้ำเงินเข้ม) และจิตวิญญาณ (สีม่วง) ธงสีรุ้งได้ทำหน้าที่ส่ง message ที่ทรงพลัง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทุกเพศมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ธงสีรุ้งถูกเปลี่ยนเป็น 6 สี เพื่อให้ผลิตง่ายขึ้น โดยนาย Baker ยอมรับและเรียกธงเวอร์ชั่น 6 สีว่า “commercial version”
นอกจากสินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ล่าสุด บริษัทเลโก้ (LEGO Group) ผู้ผลิตของเล่นตัวต่อพลาสติกหลากสีเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการสำหรับเด็กและผู้ใหญ่มากว่า 80 ปี ได้ขยับเข้าร่วมการรณรงค์เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศด้วย โดยเป็นครั้งแรกที่เลโก้เปิดตัวของเล่นชุด ‘Everyone is Awesome’ ประกอบด้วยตัวต่อรูปคน 11 ตัวใน 11 สียืนเรียงกันบนแผ่นกระดาน 11 แถว ตัวต่อแต่ละตัวมีทรงผมที่แตกต่างกัน แสดงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละตัว ซึ่งผู้เล่นสามารถสลับปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ
นาย Matthew Ashton รองประธานฝ่ายออกแบบของบริษัทฯ ระบุว่า ของเล่นชุดนี้ทำเพื่อส่งเสริมความหลากหลาย ความเข้าใจ และให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง และสามารถเป็นตัวของตัวเองที่ยอดเยี่ยม! เขาหวังว่ากลุ่มลูกค้าของเขาทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะชื่นชอบของเล่นชุดนี้ ทั้งนี้ บริษัทเลโก้ไม่ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อขายของทำกำไรอย่างเดียว ทางบริษัทยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความหลากหลายภายในองค์กรด้วย โดยร่วมมือกับ NGO เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรให้เป็นแบบอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและยอมรับกันและกัน
แม้บริษัทเลโก้จะไม่ใช่ผู้ผลิตของเล่นเจ้าแรกที่ทำผลิตภัณฑ์ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม เพราะบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้เคยผลิตตุ๊กตาที่ไม่มีผม และตุ๊กตามี่มีภาวะโรคด่างขาว ขณะที่ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่บริษัทเลโก้ทำก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทำกำไรให้บริษัท แต่ความกระตือรืนร้นของบริษัทของเล่นนี้ก็ได้รับความสนใจและการชื่นชมจากมูลนิธิ LGBT ในหลายประเทศ โดย LGBT ในสหราชอาณาจักรมองว่าของเล่นชุดนี้อาจเป็นวิธีสื่อสารที่ดีต่อเด็ก ๆ และเยาวชนว่าพวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองและเป็นที่รักของสังคมได้ รวมทั้งมองว่าผลิตภัณฑ์ของเลโก้จะสร้างแรงบันดาลใจให้บริษัทอื่น ๆ ได้ในอนาคต
ความจริงจังและกล้าแสดงออกของบริษัทเลโก้ อาจเป็นผลลัพธ์จากการที่พนักงานและผู้บริหารเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และ ‘ความเชื่อมั่น’ ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นช่วยเสริมทักษะทางสังคม (social) อารมณ์ (emotional) และกระบวนการรับรู้ (cognitive) ของทุกเพศทุกวัยได้ จึงทำให้ Pride Month ในปี 2564 มีเรื่องราวดี ๆ ให้กล่าวถึงเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการที่อังกฤษประกาศเมื่อ 13 พ.ค.64 จะห้ามการบำบัดเพศ (Conversion Therapy) เพราะส่งผลกระทบต่อจิตใจ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นการกดขี่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าช่วยเหลือ และประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งผู้บริหารเมื่อ ม.ค.64 ห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศ และอนุญาตให้กลุ่มคนข้ามเพศสมัครรับราชการทหารในสหรัฐฯ ได้เท่ากับเพศอื่น ๆ
——————————————————————–
เรียบเรียงจาก