ปรากฏการณ์เทขายเหรียญ Cryptocurrency จากความตื่นตระหนกในประกาศกวาดล้างกลุ่มนักขุด/ค้าขายเหรียญ Bitcoin ของรัฐบาลจีนในช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ของเดือน พ.ค.64 และประกาศถึงแนวทางการเก็บภาษีเหรียญ Cryptocurrency ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.64 ทำให้กราฟแท่งเทียนทิ่มลงดิ่งจนหลุดเส้น Support ของทั้งเหรียญ Bitcoin และเหรียญทางเลือกตัวอื่น ๆ ในสารบบ จนการซื้อ-ขายเหรียญในตลาด Cryptocurrency นั้นเงียบในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.64 และยิ่งพิจารณาร่วมกับดัชนีความกลัว/ความโลภในตลาด Cryptocurrency (Crypto Market Fear & Greed Index) ที่ประเมินสภาพอารมณ์ของตลาดเป็นตัวเลข 0-100 จากการใช้ข้อมูลด้านปริมาณการซื้อ-ขาย ความผันผวน ท่าทีในสื่อสังคมออนไลน์ และอัตราการครองตลาดของเหรียญ ฯลฯ ก็จะยิ่งเห็นว่าเข็มได้ชี้ลงไปที่เลข 10 ซึ่งหมายถึงจุดที่เกือบต่ำสุด (extreme fear) จากเดิมที่เคยอยู่เหนือเลข 37-40 ในช่วงสัปดาห์ที่ 1 ของเดือน พ.ค.64 และเลข 85-95 (extreme greed) ในช่วงต้นปี 2564
อารมณ์ของตลาดในห้วงนี้จึงบ่งบอกอย่างชัดเจนว่านักลงทุนจำนวนมากในตลาดกำลังหวาดกลัว โดยเฉพาะรายย่อยกับรายปานกลางที่มีอัตราการถือครองเหรียญ Bitcoin อยู่ระหว่าง 0-10 เหรียญ แต่ไม่ถึง 100 เหรียญ ที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในตลาด Cryptocurrency กำลังหวาดวิตกกันว่าจะมีการขยับของรายใหญ่ที่ถือครองเหรียญ Bitcoin มากกว่า 10,000 เหรียญจนทำให้ตลาดปั่นป่วนอย่างหนักอีกหรือไม่ เนื่องจากระยะนี้ ต่างมีนักลงทุนรายใหญ่ขนเงินเข้า-ออกจากตลาด และโอนจากบัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่งถี่ขึ้น นักลงทุนจำนวนมากจึงตัดสินใจชะลอการซื้อ-ขายไปชั่วคราวเพื่อสังเกตการณ์ทิศทางของกราฟและเหรียญ Bitcoin ว่าจะถูกทุบราคาให้ต่ำลงจนแตะเส้น Support ที่ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 620,000 บาทได้หรือไม่ แล้วรอเข้าช้อนซื้อที่ราคาต่ำสุดในจุดนั้น โดยหวังว่าการดิ่งลงของราคาครั้งใหญ่จะเป็นครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมนี้ก่อนดีดตัวออกข้างเป็นตลาด Sideways ไปอีก 1-2 เดือน
อีกทั้งความตึงเครียดในตลาดขณะนี้ ยังถูกเสริมด้วยคำให้สัมภาษณ์ของ Vitalik Buterin ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ด้วยว่าเหรียญ Cryptocurrency อาจกำลังอยู่ในภาวะฟองสบู่ที่เสี่ยงจะแตกในอนาคตก็เป็นได้ ความเชื่อมั่นที่นักลงทุนจำนวนมากมีต่อเหรียญ Bitcoin จึงลดต่ำลงอย่างมากภายในเวลารวดเร็ว ตามมาด้วยบทความรายงานข่าวจำนวนมากที่พยายามปลุกปั่นกระแสด้านลบเกี่ยวกับเหรียญ Bitcoin โดยกลุ่มทุนที่เสียผลประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain และระบบนิเวศของเหรียญ Cryptocurrency เช่น กลุ่มทุนธนาคาร กลุ่มทุนประกันภัย และกลุ่มทุนเหมืองทองคำ ที่เคยเป็นอุตสาหกรรมที่มีอำนาจกำหนดนโยบายรัฐและการเมืองในยุคก่อนหน้านี้ เป็นต้น นักลงทุนหน้าใหม่ที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เงื่อนไขพลวัต และธรรมชาติของตลาด Cryptocurrency จึงตกเป็นเหยื่อของกระแสดังกล่าวนี้ไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยและตัวแปรบางชุดที่นักลงทุน/ผู้สังเกตการณ์ด้านราคาสมควรนำเข้ามาร่วมในการพิจารณาสภาวะและแนวโน้มของตลาดหลังจากนี้ คือ ปริมาณการถือครองเหรียญ Cryptocurrency ที่มีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหนุนหลัง (stablecoins) ทั้งหมดในตลาด อาทิ เหรียญ Tether (USDT) เหรียญ USDC และเหรียญ BUSD อ้างอิงจากกระดานของ CryptoQuant จะเห็นว่าสัดส่วนปริมาณการถือครองเหรียญดังกล่าวเริ่มขยายตัวขึ้นสวนทางกับมูลค่าของเหรียญ Bitcoin ตั้งแต่ช่วงวันที่ 12 พ.ค.64 ที่ 10,900,000,000 ดอลลาร์สหรัฐไปอยู่ที่ 13,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 21 พ.ค.64 ทำสถิติจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาล (All-Time High) ในวันที่มูลค่าของเหรียญ Bitcoin ตกทะลุเส้น Support ไปอยู่ที่ราคาต่ำกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ปรากฏการณ์นี้กำลังบ่งชี้อย่างเป็นนัยว่า แม้ว่านักลงทุนจำนวนมากจะตกอยู่ในสภาวะตื่นกลัวตลาด Bearish ครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อยที่อาศัยจังหวะที่มูลค่าของเหรียญ Bitcoin และอัตราการเป็นเจ้าตลาด (Bitcoin Dominance Index) ตกต่ำลงนี้อัดเงินลงทุนเพิ่มด้วยการซื้อและถ่ายโอนเหรียญ stablecoins สำหรับใช้เป็นคู่เงินในการซื้อ-ขายในตลาดเตรียมรอไว้ในปริมาณมหาศาลแล้ว (เส้นสีแดงตามกราฟที่ 2) กล่าวอย่างพื้นฐานที่สุด คือ อารมณ์ของตลาดขณะนี้อาจจะกำลังตื่นกลัว แต่หากสามารถพบจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าซื้อได้ นักลงทุนจำนวนมากที่ถือเงินสดอยู่ก็พร้อมที่จะเทแรงซื้อกลับเข้ามาสู่ตลาดเหรียญ Cryptocurrency อีกครั้ง เพื่อเข้าช้อนซื้อเหรียญ