นิวซีแลนด์เป็นประเทศเล็ก ๆ ในซีกโลกใต้ที่ขึ้นชื่อว่ามีทัศนียภาพสวยงาม บรรยากาศที่สงบ ผู้คนเป็นมิตร และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งความสงบสุขและการผสมผสานกันอย่างลงตัวนี้เองทำให้ดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index Survey – GPI) ประจำปี 2563 ของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace – IEP) จัดอันดับให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่สงบสุขเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไอซ์แลนด์ อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 นิวซีแลนด์เผชิญกับเหตุก่อการร้ายที่ไม่มีใครคาดคิดและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจต่อการเผยแพร่แนวคิดสุดโต่งในโลกออนไลน์มากขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มี.ค.62 ในระหว่างพิธีสวดมนตร์วันศุกร์ของชาวมุสลิม ชายผิวขาวที่มีความคิดสุดโต่งก่อเหตุกราดยิงในมัสยิด Al Noor และมัสยิด Linwood ในนครไคร้สท์เชิร์ชของนิวซีแลนด์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 51 ราย และบาดเจ็บ 50 ราย ซึ่งเหตุกราดยิงครั้งนั้นก่อให้เกิดความตื่นตระหนกอย่างมาก เนื่องจาก
ผู้ก่อเหตุได้ถ่ายทอดสด (live stream) การกราดยิงผ่านทาง Facebook เป็นเวลาถึง 17 นาที และมีผู้เข้าชมกว่า 4,000 ครั้ง ก่อนที่การ live stream ดังกล่าวจะถูกลบออกไป เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ในวงกว้าง และตอกย้ำถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งในโลกออน์ไลน์ซึ่งมีแนวโน้มจะพัฒนารูปแบบไปอย่างต่อเนื่อง
เหตุกราดยิงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บริษัทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์มีข้อจำกัดในการควบคุมและรับมือกับการเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ส่งผลให้เมื่อ 15 พ.ค.62 นางจาร์ซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ประกาศริเริ่มแนวคิด Christchurch Call เพื่อยับยั้งการเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งในโลกออนไลน์ พร้อมเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมมือกันสกัดกั้น พร้อมกำหนดแนวทางในการลบเนื้อหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนป้องกันไม่ให้การถ่ายทอดสดแบบ live stream ถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนและเผยแพร่การก่อการร้าย โดย Christchurch Call ครบรอบ 2 ปี เมื่อ 15 พ.ค.64
ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อน Christchurch Call มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปัจจุบันที่มีรัฐบาลถึง 54 ประเทศ ควบคู่กับคณะกรรมาธิการยุโรป สภายุโรป United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) และบริษัทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ (Amazon, Facebook, Google, Microsoft, Dailymotion, Twitter, YouTube และ Qwant) ให้การสนับสนุน Christchurch Call ขณะที่ความร่วมมือ Global Internet Forum to Counter Terrorism (GIFCT) ซึ่งก่อตั้งโดยบริษัท Facebook, YouTube, Twitter และ Microsoft เมื่อปี 2560 ได้ถูกปรับปรุงให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น และเป็นกลไกสำคัญใน Christchurch Call ที่คอยป้องกันผู้ก่อการร้ายหรือผู้มีแนวคิดหัวรุนแรงใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแพร่แนวคิดที่เป็นภัยคุกคามในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันก็มีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยขับเคลื่อนแนวคิดสุดโต่งและการก่อการร้ายในโลกออนไลน์มากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเข้าใจถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ดีขึ้น
Christchurch Call เป็นความริเริ่มที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะกำจัดการเผยแพร่แนวคิดรุนแรงและการก่อการร้ายในโลกออนไลน์ โดยมีความเชื่อมั่นว่าอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง เสรี และปลอดภัยจะส่งเสริมประโยชน์แก่สังคม ควบคู่กับการให้ความเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำ Christchurch Call ครั้งล่าสุดเมื่อ 15 พ.ค.64 เน้นย้ำการดำเนินการ 4 ด้านหลักในระยะต่อจากนี้ ได้แก่ การสร้างกลุ่ม Christchurch Call การส่งเสริมความโปร่งใส การตอบสนองต่อวิกฤติ และประเด็น algorithms
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ Christchurch Call ยังมีข้อจำกัดในหลายประเด็น อาทิ การให้คำจำกัดความต่อแนวคิดสุดโต่งรุนแรงที่แตกต่างกันต่อบริษัทผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ข้อห่วงกังวลว่าการเพิกถอนเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการที่เว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ขนาดเล็กอาจตกเป็นเป้าหมายในการใช้เผยแพร่แนวคิดสุดโต่งที่ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่สกัดกั้น เป็นต้น
การเผยแพร่แนวคิดสุดโต่งบนโลกออนไลน์เป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงการสกัดกั้นหรือเพิกถอนเนื้อหา แต่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปสกัดกั้นหรือบรรเทาต้นตอที่ก่อให้เกิดการผลิตเนื้อหาในลักษณะดังกล่าวเป็นอันดับแรก ซึ่งประชาชนและภาคประชาสังคมจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างสรรค์สังคมที่ตระหนักถึงภัยคุกคามและร่วมต่อต้านแนวคิดสุดโต่งอย่างยั่งยืน
——————————————————
อ้างอิงและรวบรวมข้อมูลจาก
- https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/can-violent-extremist-content-online-be-eliminated
- https://www.rnz.co.nz/news/political/442616/christchurch-call-second-anniversary-summit-gets-underway
- https://www.christchurchcall.com/
- https://www.diplomatie.gouv.fr/en/french-foreign-policy/digital-diplomacy/news/article/the-christchurch-call-what-progress-has-been-made-12-may-2021