น้ำตาเหล่านักร้องฝึกหัดและแฟนคลับต้องหลั่งเพราะน้ำนม รายการแข่งขันเฟ้นหาวงบอยแบนด์หน้าใหม่ “Youth with You” ซีซั่น 3 ของจีน ต้องยุติการออกอากาศกะทันหันโดยคำสั่งของทางการจีน หลังปรากฏคลิปวิดีโอการซื้อนมแล้วเททิ้งเพื่อเอา QR Code ใต้ฝามาลงคะแนนให้นักร้องที่ชื่นชอบ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องราวดราม่าในวงการบันเทิง แต่เอาเข้าจริงเชื่อมโยงเกี่ยวพันไปถึงเรื่องใหญ่ระดับยุทธศาสตร์ชาติของจีน จนอาจจะพูดได้ว่าเป็นประกาศิตของสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีน ที่ประหารความฝันของหนุ่มสาวชาวจีนหลายล้านคน
รูปแบบของรายการ “Youth with You” คือการเอาศิลปินฝึกหัดมาแข่งขันเพื่อเฟ้นหา 9 คนสุดท้ายที่จะได้รวมตัวกันเป็นบอยแบนด์มืออาชีพ รายการออกอากาศผ่านช่อง iQIYI ที่มีให้บริการในไทยด้วย และยังมี “ลิซ่า Black Pink – ลลิษา มโนบาล” เป็นครูพี่เลี้ยง แฟนคลับชาวไทยจึงรู้จักรายการนี้ดีและร่วมเฝ้าลุ้นว่าหนุ่มคนไหนจะไปถึงฝั่งฝัน
การแข่งขันดำเนินมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว แต่ฟ้าก็ผ่าลงมาเสียก่อน คลิปวิดีโอต้นเรื่องที่เหล่าอาแปะอาอึ้ม (สันนิษฐานว่าเป็นกำลังพลที่เหล่าแฟนคลับจ้างมา) ช่วยกันแกะนมหลักแสนขวดเพื่อเอา QR Code ใต้ฝาไปโหวตแล้วเทน้ำนมที่เหลือทิ้งลงท่อระบายน้ำ ทำให้สำนักวิทยุและโทรทัศน์กรุงปักกิ่ง ออกคำสั่งด่วนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2564 ห้ามรายการเรียลลิตี้โชว์ใช้ระบบการทุ่มเงินโหวตเพื่อคัดเลือกเพื่อผู้ชนะ ซึ่งทำให้รายการ “Youth with You” ต้องยุติลงทันทีทั้งที่แข่งกันมาจนถึงตอนสุดท้ายแล้ว คำสั่งดังกล่าวสะเทือนอุตสาหกรรมไอดอลของจีนทั้งระบบเลยทีเดียว เพราะเป็นผลให้รายการรูปแบบเดียวกันนี้ต้องยุติไปทั้งหมดด้วยเช่นกัน
การเล่นใหญ่ของทางการจีนไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น สำนักงานบริหารกิจการไซเบอร์สเปซของจีน ที่กำกับดูแลกิจการอินเทอร์เน็ตของประเทศ ออกคำสั่งต่อเนื่องกันทันทีว่าจะกวาดล้างปราบปรามพฤติกรรมการสนับสนุนไอดอลอย่างไร้เหตุผลบนโลกอินเทอร์เน็ต ต่อไปนี้จีนจะไม่ทนแล้วกับพฤติกรรมการทุ่มเทเปย์เงินขายตับขายไตมาโหวตให้ไอดอล สื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกระพือซ้ำด้วยว่าพฤติกรรมแบบนั้นมันทุนนิยมเกินไป สร้างค่านิยมว่าเงินเอาชนะทุกสิ่งซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับเยาวชน
การเทนมทิ้งเป็นแสนขวดมันน่าโมโห แต่การตอบโต้ของทางการจีนเล่นใหญ่ไปหรือเปล่า? ความฝันของหนุ่มสาวชาวจีนหลายล้านคนที่อยากเป็นไอดอลหลุดลอยไปทันที การพยายามตีตลาดโลกของอุตสาหกรรมไอดอลจีนตามรอยเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ชะงักไปเช่นเดียวกัน
คำถามนี้หากมองในภาพใหญ่จะตอบได้ว่าไม่ได้เล่นใหญ่ หากแต่กำลังพยายามสนองวิสัยทัศน์ท่านสี จิ้นผิง และยุทธศาสตร์ชาติ
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ท่านสีบ่นออกสื่อว่าปริมาณอาหารที่ชาวจีนกินเหลือทิ้งช่างเยอะจนน่าตกใจ ชาวจีนควรจะมีจิตสำนึกว่าการกินเหลือทิ้งมันน่าอาย และก็ควรจะกินกันให้ประหยัดกว่านี้ เสียงบ่นของท่านสีฟังดูสมเหตุสมผลถ้าพิจารณาจากธรรมเนียมการกินเลี้ยงของชาวจีนที่ต้องสั่งอาหารหลายจานแสนอลังการเพื่อแสดงความมั่งคั่ง เมื่อท่านผู้นำเห็นว่าธรรมเนียมแบบนั้นควรจะเลิกไปได้แล้ว กลไกรัฐของจีนทั้งระบบจึงตื่นตัวจัดทำ “โครงการกินให้หมดจาน” (Clean Your Plate Campaign) เป็นวาระแห่งชาติ มีมาตรการต่าง ๆ เช่น สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารขอให้สมาชิกเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าแต่พอดี นักเรียนนักศึกษาต้องเข้าร่วมการอบรมสร้างจิตสำนึก แอป TikTok ขึ้นคำเตือนเมื่อผู้ใช้เสิร์ชหาคลิปการแข่งขันกินจุ ฯลฯ ไปจนถึงการออกกฎหมายต่อต้านอาหารเหลือทิ้งเป็นการพิเศษ ที่กำหนดค่าปรับสำหรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น ลูกค้าที่กินเหลือ ร้านอาหารที่ออกโปรโมชันส่งเสริมการกินเกินจำเป็น หรือการทำคลิปวิดีโอโชว์กินจุ
การที่ผู้นำจีนสนใจใยดีมากมายกับการกินทิ้งกินขว้าง นั่นก็เพราะ “ความมั่นคงทางอาหาร” เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติที่สำคัญมากของจีน คนจีนมีมากมายถึง 1,400 ล้านคน ถ้าไม่วางแผนให้ดีก็คงไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับทุกปากท้อง ยิ่งจีนมีบาดแผลจากนโยบาย “Great Leap Forward” ที่ผิดพลาดของประธานเหมา เจ๋อตง ว่ากันว่านโยบายนั้นที่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนด้วยการยึดที่ดินส่วนตัวมาทำเป็นนารวม ทำให้ชาวจีนตายเพราะขาดอาหารถึงราว ๆ 20-45 ล้านคนในห้วงปี 2501-2505
“ความมั่นคงทางอาหาร” จึงเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ท่านสีเน้นย้ำมาก สำคัญในระดับที่ว่าระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 14 ปี 2564-2568) ที่กำหนดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารเป็นวาระแห่งชาติว่าจีนจะต้องพึ่งพาตัวเองด้านอาหารให้ได้ผ่าน 2 แนวทาง คือการรักษาพื้นที่เพาะปลูกไม่ให้น้อยกว่า 120 ล้านเฮกตาร์ และยกระดับผลผลิตธัญพืชทุกชนิด นอกจากนั้น รัฐสภาจีนยังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายความมั่นคงทางอาหารด้วย
จากจุดเริ่มต้นเรื่องการแบนรายการไอดอล โยงใยไปถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้นำจีน ขณะเดียวกันก็ฉายภาพให้เห็นระบบการปกครองของจีนที่ยังควบคุมพฤติกรรมประชาชนลึกลงถึงรายละเอียด แม้นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่าจีนก้าวพ้นสู่ยุคใหม่แล้ว ชาวจีนมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตตราบใดที่ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง-ความมั่นคง แต่เสรีภาพนั้นมีอยู่จริงหรือไม่? ในยุคสมัยนี้ที่ “ความมั่นคง” ขยายขอบเขตของความหมายครอบคลุมทุกมิติของชีวิต
———————————————————————