อเมริกากลับมาแล้ว!! และมาพร้อมกับแผนงานโครงการขนาดใหญ่ B3W
ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนใช้โอกาสการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ที่เมือง Cornwall สหราชอาณาจักรเมื่อ 12 มิ.ย.64 ประกาศข้อริเริ่ม Build Back Better World (B3W) โครงการที่ให้ความหวังกับนานาประเทศว่า สหรัฐฯ และประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 จะแสดงบทบาทด้านการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่ประเทศรายได้น้อยและประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศชัดเจนว่า ข้อริเริ่ม B3W จะเป็นคู่แข่งของจีน โดยสหรัฐฯ จะใช้เครื่องมือด้านการให้ความช่วยเหลือในต่างประเทศทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (USAID) หรือช่องทางอื่น ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
ข้อริเริ่มดังกล่าวมีชื่อสอดคล้องกับ Theme นโยบายหลัก “Build Back Better” ของรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริสที่ประกาศมาตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะร่วมมือกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสหราชอาณาจักรมา “สร้างโลกที่ดีกว่า” ผ่านความร่วมมือในกรอบ B3W นอกจากนี้ การระบุชัดเจนว่า B3W เป็นข้อริเริ่มที่จะมาเป็นคู่แข่งของ Belt and Road Initiative หรือ BRI ของจีนที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี 2556 ก็ถือว่าเป็นการเสนอตัวเป็น “ทางเลือกใหม่” ให้ประเทศกำลังพัฒนา
B3W ในมุมมองของสหรัฐฯ จะเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมของทุกเพศ โดยจะขับเคลื่อนโดยกลุ่ม G7 และหุ้นส่วนที่มีค่านิยมสอดคล้องกัน สนับสนุนการใช้กลไกของรัฐบาล และภาคเอกชนให้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำทั่วโลก ซึ่งสหรัฐฯ และกลุ่ม G7 ประเมินว่ามีความต้องการงบประมาณอย่างน้อย 40 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนหลักการในการดำเนินข้อริเริ่ม B3W จะให้ความสำคัญกับการรักษาค่านิยมร่วมกัน (Values-Driven) ธรรมาภิบาล (Good Governance) การรักษามาตรฐานที่สูง (High-Standard) การพัฒนาและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Climate-Friendly) โปร่งใส (Transparent) ให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก และให้ความสำคัญกับบทบาทสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Institutions-IFIs) เพื่อให้การลงทุนมีมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ กลุ่ม G7 ยังเปิดโอกาสให้จีนเข้าไปมีส่วนร่วมใน B3W ได้ในอนาคตอีกด้วย แต่มีเงื่อนไขว่า จีนจะต้องยกระดับมาตรฐานด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน…นั่นอาจหมายถึงการกดดันจีนให้มีค่านิยมสอดคล้องกับกลุ่ม G7 ซึ่งน่าจะไม่เป็นไปได้โดยง่าย ดูจากการที่จีนแสดงความไม่พอใจทันทีหลังจากที่กลุ่ม G7 วิจารณ์นโยบายของจีนต่อประชาชนในซินเจียงและฮ่องกง
ในตอนนี้ B3W ยังไม่มีรายละเอียดมากพอที่จะบอกได้ว่าจะเป็นคู่แข่งของ BRI ได้มากแค่ไหน อย่างไรก็ดี เรามาลองวิเคราะห์จุดแข็ง (Strengths) จุดอ่อน (Weaknesses) โอกาส (Opportunities) และความท้าทาย (Threats) ของสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อน B3W เพื่อดูทิศทางของข้อริเริ่มดังกล่าว ก็จะพบว่า Strength หรือสิ่งที่สหรัฐฯ ทำได้ดีในการร่วมมือกับกลุ่ม G7 ครั้งนี้ คือ การกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ และสามารถตั้งจุดมุ่งหมายร่วมกันในการแสดงบทบาทผู้นำและตัวอย่างที่ดีในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการทำให้สมาชิก G7 รู้สึกว่าประเทศประชาธิปไตยกำลังถูกแย่งชิงบทบาทผู้นำโลก ดังนั้น นี่คือเวลาที่กลุ่ม G7 จะต้องเคลื่อนไหวเพื่อรักษาระเบียบโลกเสรีให้ดำรงอยู่ต่อไป
ด้าน Opportunities หรือปัจจัยภายนอกที่เอื้อต่อการประกาศ B3W คือ นานาชาติเริ่มตั้งคำถามกับข้อริเริ่ม BRI รวมทั้งรูปแบบการลงทุนและดำเนินธุรกิจของจีน ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ (บางส่วนก็มาจากการชี้นำของสหรัฐฯ!) โดยวิจารณ์ว่า BRI ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่โปร่งใส ไม่มีคุณภาพ และจีนได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว…ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีนในยุคการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้นานาประเทศอาจสนใจ “ข้อเสนอ” หรือทางเลือกใหม่จากฝ่ายสหรัฐฯ มากขึ้น
ส่วน Weaknesses หรือจุดอ่อนของ B3W คือ การที่ยังไม่มีรายละเอียดอีกหลายประการว่า B3W จะระดมทุนหรือจัดสรรงบประมาณอย่างไร มีกรอบเวลาการดำเนินการระยะสั้น กลาง และยาวแค่ไหน และจะมีเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือหรือไม่
ขณะที่ Threats หรือปัจจัยภายนอกที่จะเป็นข้อจำกัดของสหรัฐฯ อาจมาจากการที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำไม่พร้อมที่จะยกระดับมาตรฐาน หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ด้านกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมได้ตามที่กลุ่ม G7 กำหนด รวมทั้งอาจมีอุปสรรคอื่น ๆ ขัดขวางการให้ความช่วยเหลือของกลุ่ม G7 ในต่างประเทศ
นานาประเทศ รวมทั้งไทย ยังคงต้องติดตามทิศทางและความคืบหน้าของ B3W ต่อไป รวมทั้งยังต้องรอดู “ความจริงจัง” ของสหรัฐฯ และกลุ่ม G7 ว่าจะเดินหน้า B3W ต่อไปอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยประกาศโครงการแผนการในลักษณะคล้ายกันเมื่อปี 2562 ชื่อ Blue Dot Network เป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้มีคุณภาพสูง โปร่งใสและยั่งยืน แต่โครงการดังกล่าวมีความเป็นรูปธรรมน้อยมาก และไม่มีความชัดเจนจนเกือบจะจืดจาง…จึงต้องดูว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะผลักดัน B3W อย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการและความพอใจของชาวอเมริกัน ควบคู่ไปกับความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศด้วย
————————————————
เรียบเรียงจาก
China denounces G7 after statement on Xinjiang and Hong Kong – BBC News
To Counter China’s Belt-and-Road, Biden Tries to Unite G7 – The New York Times (nytimes.com)