นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 มาตรการทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เป็นเครื่องมือสำคัญที่พยุงธุรกิจให้รอดพ้นจากภาวะถดถอยและส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคงระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0 รวมถึงอัดฉีดเงินซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ภาคเอกชน อาจเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่จากการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเก็งกำไรจนผลักดันราคาสินทรัพย์หลายประเภทสูงเกินกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
โดยหากพิจารณาจาก “Cyclically Adjusted Price to Earnings Ratio” (CAPE ratio) หรือ “Shiller PE Ratio” ซึ่งคิดค้นโดย Robert J. Shiller นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าซึ่งเคยทำนายการเกิดวิกฤตการเงินในอดีตและเป็นผู้วางรากฐานให้กับสาขาวิชาจิตวิทยาการเงิน (Behavioral Finance) พบว่าอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ต่อผลกำไรเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 37.94 เท่า (ข้อมูล ณ 25 มิ.ย.64) เป็นอัตราส่วนที่ใกล้เคียงระดับสูงสุดตลอดกาล ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์โดยรวมที่มีสาเหตุจากการเก็งกำไรอย่างไร้เหตุผลใน “บริษัทผีดิบ” ซึ่งไร้ปัจจัยพื้นฐานใด ๆ รองรับ
ทั้งนี้ งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์มักกำหนดคำนิยาม “บริษัทผีดิบ” หรือ “Zombie Firm” ว่า “บริษัทที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน จนเกิดปัญหาในการสร้างผลกำไรที่เพียงพอต่อภาระหนี้สิน” โดยทั่วไปกิจการในลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มต้องล้มละลาย แต่บริษัทเหล่านี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้จากการที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐและธนาคารซึ่งกังวลว่าการล้มลงของบริษัทเหล่านี้จะสร้างหนี้เสียจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือของรัฐเพื่อเยียวยาธุรกิจจากสถานการณ์โรค COVID-19 ทั้งการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การยืดเวลาชำระหนี้ รวมถึงการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดเครดิตโดยตรงของ FED ผ่านการซื้อกองทุน ETF ซึ่งลงทุนใน Junk Bond ได้สร้างสภาพแวดล้อมในการบ่มเพาะ Zombie Firm
สำนักข่าว Bloomberg รวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียนใน Russell 3000 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดราคาหุ้นของธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ จำนวน 3,000 บริษัท พบว่ามี Zombie Firm ถึง 726 บริษัท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนการระบาดของโรค COVID-19 มากกว่า 200 บริษัท อีกทั้งหนี้สินรวมของ Zombie Firm ยังเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 1.98 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัญหาใต้พรหมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยพบว่าตั้งแต่ ม.ค.64 เป็นต้นมา ราคาหุ้นเฉลี่ยของ Zombie Firm เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 มากกว่าค่าเฉลี่ยดัชนี Russell 3000 ซึ่งให้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น โดยมีหุ้นของ Zombie Firm ถึง 41 บริษัท ที่ราคาพุ่งทะยานมากกว่าเท่าตัว
และตั้งแต่ช่วงปลาย พ.ค.64 ยังเกิดการเก็งกำไรอย่างร้อนแรงในหุ้น Zombie Firm ที่กำลังยื่นขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม Chapter 11 ในกฎหมายล้มละลาย ดังเช่น 1) หุ้นบริษัท GTT Communication Inc. ธุรกิจโทรคมนาคม ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 146 จากระดับ 1.42 ดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 3.49 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลาเพียง 5 วัน ท่ามกลางสภาพกิจการที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งบริษัทต้องเบี้ยวหนี้มูลค่า 575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) บริษัท Washington Prime Group Inc. กองทรัสต์ที่ลงทุนในศูนย์การค้ากว่า 100 แห่ง ซึ่งเผชิญปัญหาจากการระบาดของโรค COVID-19 จนไม่สามารถจ่ายค่าเช่า ทว่าราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 1.84 ดอลลาร์สหรัฐ ถึง 6.73 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราร้อยละ 265 ภายใน 11 วัน รวมถึง 3) บริษัท Medley Management Inc. ที่บริษัทลูกกำลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ แต่ราคาหุ้นกลับเพิ่มขึ้นถึงอัตราร้อยละ 76 ภายใน 6 วัน
ด้วยลักษณะของกิจการที่เผชิญปัญหาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทหลายแห่งยังเผชิญความเสี่ยงในการล้มละลาย ดังนั้นการเก็งกำไรอย่างร้อนแรงใน Zombie Firm มักสะท้อนถึงภาวะความคุ้มคลั่งการเก็งกำไร (Speculative Mania) ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์การเงินตามมา ดังเช่นเหตุการณ์ในอดีตอย่างเหตุการณ์ Black Tuesday เมื่อปี 2472 อันเป็นสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ จนลุกลามไปทั่วโลกที่เรียกว่า The Great Depression รวมถึงเหตุการณ์วิกฤตฟองสบู่ดอตคอมจากการเก็งกำไรในหุ้นเทคโนโลยีที่มีปัญหาในการสร้างผลกำไร เมื่อปี 2543
——————————————-
เรียบเรียงจาก