ก่อนสหรัฐอเมริกาจะประกาศเอกราช อังกฤษไม่อนุญาตให้ชาวอเมริกันครอบครองอาวุธ แนวคิดเสรีภาพในการครอบครองอาวุธปืนของสหรัฐอเมริกา มีที่มาจากความเชื่อเรื่องการมอบเสรีภาพให้ประชาชน เพื่อคานอำนาจกับรัฐผ่านการครอบครองอาวุธปืน แต่เสรีภาพในการครอบครองอาวุธปืนของประชาชนภายในประเทศ เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาโดยตลอด โดยเกิดมาจากข้อบัญญัติ มาตราที่ 2 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา (2nd Amendment) ให้ชาวอเมริกันมีสิทธิครอบครองอาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองและป้องกันการรุกรานจากภายนอก
ความอิสระในการครอบครองอาวุธปืน ทำให้สหรัฐอเมริกามีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับปืนสูงมาก จากรายงานประจำปี Gun Violence Archive ค.ศ. 2021 ขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Gun Violence Archive ระบุมีเหตุการณ์กราดยิงมากถึง 296 ครั้ง และมีการเสียชีวิตจากการใช้อาวุธปืนมากถึง 50 รายต่อวัน ความรุนแรงจากปืนที่มีมากขึ้น ทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน และมีความพยายามในการออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนอย่างต่อเนื่อง กฎหมายที่เป็นเหมือนรากฐานของการควบคุมอาวุธปืน คือ พ.ร.บ.ควบคุมอาวุธปืนปี 2511 ที่ออกมาภายหลังการลอบสังหารนายมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวสีชื่อดัง และวุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เอฟ. เคเนดี
การครอบครองอาวุธปืนอย่างอิสระ ทำให้เกิดกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างมากในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ หรือ National Rifle Association (NRA) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2414 จุดประสงค์ดั้งเดิมคือส่งเสริมการยิงปืนเพื่อความบันเทิง แต่ได้เริ่มมีอิทธิพลทางการเมืองด้วยการล็อบบี้ตั้งแต่ปี 2477 ภายหลังการออก พ.ร.บ.อาวุธปืนแห่งชาติปี 2477 ที่สร้างกรอบของการครอบครองอาวุธปืนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีบทบาทมากขึ้นภายหลัง พ.ร.บ.ควบคุมอาวุธปืนปี 2511 ที่เพิ่มข้อจำกัดการจำหน่ายอาวุธปืนในสหรัฐฯ และในปัจจุบัน NRA ได้มีการใช้เงินเพื่อล็อบบี้เป็นจำนวนมากถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาคม เนื่องจากมีบริษัทผลิตอาวุธเป็นสมาชิกสมาคมอยู่มาก และเพื่อเพิ่มการผลิตและจำหน่ายอาวุธปืนให้มากขึ้น อีกทั้งสมาคมยังเชื่อมั่นว่าการครอบครองอาวุธปืนเป็นสิทธิที่ทุกคนควรมี
การถกเถียงเกิดขึ้นมากมาย เนื่องจากมีชาวอเมริกันมองว่า การครอบครองอาวุธปืนที่เสรีเกินไปทำให้เกิดความรุนแรงได้ง่ายมากขึ้น ส่วนผู้สนับสนุนก็มองว่าเป็นสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ เพื่อป้องกันตนเองและคานอำนาจรัฐตามเจตนารมณ์เดิมของข้อบัญญัติ มาตราที่ 2 ความเห็นแย้งนี้ ทำให้พรรคเดโมแครตที่สนับสนุนการควบคุมอาวุธปืน และพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนการครอบครองปืนเสรี ออกนโยบายเพื่อเอาใจผู้สนับสนุนของตนเองสำหรับหาเสียงอยู่แทบทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทำให้การออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนขึ้นอยู่ว่าประธานาธิบดีมาจากพรรคไหน ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และปัญหาเชิงสังคมของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เป็นตัวกระตุ้นให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น อย่างเช่นการประท้วง Black Lives Matter ที่หลายครั้งมีการกล่าวถึงความรุนแรงในการใช้อาวุธปืนของตำรวจกับคนผิวสี หรือการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียที่รุนแรงขึ้นหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียซื้ออาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองกันมากขึ้น
แนวโน้มของประเด็นเรื่องการครอบครองอาวุธปืนเป็นสิ่งที่ยังต้องจับตามองต่อไป เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมของสหรัฐอเมริกาอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งกระแสของการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่เริ่มมีมากขึ้น อาจเป็นตัวชี้วัดว่าเส้นทางของประเด็นจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
——————————————————————————-
เรียบเรียงจาก
https://www.cbsnews.com/news/2021-deadliest-year-gun-violence/
https://www.washingtonpost.com/nation/2021/06/14/2021-gun-violence/