ภาพรถดับเพลิงฉีดอุโมงค์น้ำต้อนรับเครื่องบินลำแรกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามธรรมเนียม “water salute” ของวงการการบิน เป็นภาพของความพิเศษที่อิงอยู่กับความจริงที่ว่าประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตตั้งความหวังไว้มากกับการทดลองเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ภูเก็ตตกอยู่ใต้ความหวาดกลัวมาปีกว่า เป็นความกลัวระดับสูงสุดของมนุษย์คือความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้ วิกฤติการณ์จากโรค COVID-19 ยังดำเนินต่อเนื่องไปมองไม่เห็นจุดจบ ไม่มีใครรู้ได้ว่าภูเก็ตจะกลับสู่สภาวะปกติเมื่อใด เป็นความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้ในลักษณะเดียวกับที่มนุษย์กลัวความมืด เพราะความมืด (และวิกฤติโรค COVID-19) ทำให้สูญเสียอำนาจในการรับรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเองต่อไป
“ขอโทษนะคะพี่ที่เมื่อคืนทำเสียงดัง”
หญิงสาวในโฮสเทลเดียวกันเอ่ยกับผมในคราวที่ไปเยือนภูเก็ตเมื่อการระบาดเพิ่งเริ่มต้น เป็นคำขอโทษย้อนหลังจากที่เมื่อกลางดึกเพื่อนหญิงของเธอส่งเสียงดังลั่นห้องพักชนิดเตียงรวมเพราะฤทธิ์เหล้า ในยามปกติโฮสเทลแห่งนี้เป็นที่พักราคาถูกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่สัมภาระของหญิงสาวกลุ่มนี้ที่ประกอบไปด้วยพัดลมตั้งพื้น โทรทัศน์ ไม้แขวนเสื้อ ฯลฯ บ่งบอกว่าพวกเธอน่าจะเป็นบุคลากรในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใช้ที่พักราคาถูกแห่งนี้เป็นแหล่งพำนักชั่วคราวเพื่อรอเวลาย้ายกลับภูมิลำเนา ในเวลาที่ภูเก็ตไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งหมายถึงไม่มีงานให้ทำ
อุตสาหกรรมบันเทิงของภูเก็ตชะงักไปอย่างไม่รู้ชะตา ถนนคนเดินบางลาในคืนนั้นมีนักท่องราตรีน้อยกว่าจำนวนสุภาพสตรีที่นั่งรอต้อนรับลูกค้าหน้าบาร์หลายเท่าตัว การเดินเข้าไปในถนนเส้นนั้นจึงเป็นภาวะบังคับให้ประหม่าอย่างไร้เงื่อนไข ด้วยสายตาสุภาพสตรีหลายสิบคู่ที่จ้องมองมาอย่างตั้งความหวัง
ถนนคนเดินบางลาและละแวกหาดป่าตองที่เงียบผิดปกติทำให้ผมกลัว เป็นความกลัวในลักษณะเดียวกับเวลาที่เดินออกจากโรงภาพยนตร์รอบดึกแล้วพบว่าตัวเองอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ปิดทำการแล้ว เป็นความกลัวในลักษณะเดียวกับเวลาที่ต้องเดินขึ้นไปบนสำนักงานในวันหยุด
ถ้าจะพยายามอธิบายความกลัวที่ว่าด้วยแนวคิดในทางมานุษยวิทยา ความกลัวลักษณะดังกล่าวคงเพราะสถานที่นั้นตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “liminal space” ซึ่งหมายถึง “สภาวะกึ่งกลางระหว่างเปลี่ยนผ่าน” ปกติแล้วห้างสรรพสินค้าและสำนักงานถูกคาดหวังว่าต้องมีมนุษย์มากมายเป็นส่วนประกอบ แต่เมื่อมนุษย์ขาดหายไป ผลของความที่มันไม่เหมือนเดิม ไม่ปกติเอาเสียเลย (กำลังเปลี่ยนผ่านจากการเป็นห้างหรือเป็นที่ทำงาน สู่ความเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่คุ้นเคย) ก็เลยกลายเป็นความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จึงเกิดอาการโหวงเหวงในใจจนกลายเป็นความกลัว
ถนนบางลาและละแวกหาดป่าตองอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ แต่ก่อนเคยเป็นย่านแสงสีระดับโลก ในตอนนี้เวลาแค่สองทุ่มก็เรียกได้ว่าเป็นเมืองร้าง ไม่ใช่แค่เพียงผับบาร์เท่านั้น บรรดาร้านค้าประเภทที่จับกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวก็ปิดตัวไปหลายคูหา ทิ้งข้าวของไว้ให้ฝุ่นจับเขรอะเสริมสร้างบรรยากาศของความวังเวงเข้าไปอีก แม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อชื่อดังและร้านฟาสต์ฟู้ดยังปิดตัว ส่วนห้างสรรพสินค้าที่ยังเปิดให้บริการก็คนน้อยเหลือเกิน
สภาวะ “liminal space” ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่พื้นที่เชิงกายภาพตามที่ยกตัวอย่างไป การเลิกกับแฟน เกษียณอายุราชการ เปลี่ยนงาน ย้ายบ้าน ฯลฯ เหล่านี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ทำให้จิตใจโหวงเหวงเช่นกัน เป็นสภาวะของความไม่แน่นอนที่สามารถนำไปสู่ความกลัว เหมือนกันกับภูเก็ตในวันนี้ที่ไม่ปกติ โรคระบาดทำให้เกิดความไม่แน่นอน ภาพอนาคตที่ชัดเจนไม่มีอยู่ในหัว หญิงสาวในโฮสเทลกลุ่มนั้นไม่มีทางตอบตัวเองได้เลยในหลายคำถาม เมื่อไหร่จะได้กลับมาทำงานอีกครั้ง เมื่อไหร่ชีวิตจะกลับสู่สภาวะปกติ ฯลฯ
ภูเก็ตที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นภูเก็ตที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติ การเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเป็นกระบวนการพยายามกลับสู่ความเป็นปกติ เป็นความพยายามครั้งสำคัญที่ต้องเอาใจช่วย (และลงมือช่วยสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง) เพื่อที่ว่าความหวาดกลัวจากความไม่รู้และความไม่แน่นอนจะสิ้นสูญไป มองเห็นอนาคตได้ชัดขึ้น และหญิงสาวกลุ่มนั้นจะสามารถกลับมาควบคุมชีวิตตัวเองได้อีกครั้ง
—————————————————————————