สหรัฐฯ กำลังทยอยถอนกำลังทหารและยุทโธปกรณ์สำคัญออกจากอัฟกานิสถานให้ทันกำหนดการถอนทหารอเมริกันภายใน 11 ก.ย.64 ตามที่ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนสั่งการไว้เมื่อ เม.ย.64 เพื่อยุติการทำสงครามในอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี ซึ่งใช้งบประมาณสหรัฐฯ มหาศาล รวมทั้งเพื่อลดความเสี่ยงที่ทหารอเมริกันจะตกเป็นเป้านิ่งให้กลุ่มก่อการร้ายโจมตี ขณะเดียวกันก็เพื่อให้กลุ่มตอลิบันยอมเข้ากระบวนการเจรจาสันติภาพตามที่ตกลงกันไว้กับสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2563 จากนั้น…สหรัฐฯ อาจคงทหารอเมริกันไว้เพียง 650 นาย
การถอนทหารครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐฯ เสี่ยงทำพลาดซ้ำเหมือนตอนที่ถอนทหารออกจากอิรักเมื่อปี 2554 แล้วถัดจากนั้นเพียง 3 ปี กลุ่มก่อการร้าย Islamic State ก็สร้างอำนาจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วในอิรักและซีเรีย
ในปัจจุบัน สถานการณ์ด้านความมั่นคงในอัฟกานิสถานก็กำลังเผชิญภาวะอันตราย ดูจากการที่กองทัพอัฟกานิสถานต้องรับมือกับความเคลื่อนไหวของกองโจร กลุ่มก่อการร้าย กองกำลังชนเผ่าต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มตอลิบัน ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดนิยมอิสลามและมีกองกำลังเข้มแข็ง จนสามารถรุกไล่ทหารอัฟกานิสถาน และยึดครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ Taliban Takeover หรือกลุ่มตอลิบันยึดอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถาน
ดูเหมือนอัฟกานิสถานจะเสี่ยงเข้าสู่ความขัดแย้ง เผชิญกับการสู้รบ การแสวงประโยชน์จากกลุ่มอาชญกรรมข้ามชาติ และเผชิญวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ การถอนทหารอเมริกันยังเท่ากับการถอนกำลังรบด้านการทหารและข่าวกรองของสหรัฐฯ ออกจาก “จุดยุทธศาสตร์” ในเอเชียใต้ด้วย ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ใช้กองกำลังและหน่วยข่าวกรองในอัฟกานิสถานป้องปรามและติดตามความเคลื่อนไหวของอิหร่านและจีนที่เป็นเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถานมาโดยตลอด … ดังนั้น สิ่งที่อาจเกิดขึ้นดูน่าห่วงกังวล จน พล.อ.สก็อต มิลเลอร์ ผบ.กองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานต้องออกมาให้ความเห็นว่า อัฟกานิสถานอาจเกิดสงครามกลางเมือง 6 เดือน หลังจากสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากพื้นที่ ซึ่งความเห็นดังกล่าวอาจเป็นคำเตือนและ “คำถาม” ต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าแน่ใจแล้วหรือ?
ดูจากท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใส่เกียร์ D เดินหน้าไม่มีกั๊ก แถมยังประกาศว่าจะถอนทหารได้เสร็จภายใน ส.ค.64 ตลอดจนมีการเร่งออกวีซ่าช่วยให้ชาวอัฟกานิสถานที่เคยทำงานให้รัฐบาลสหรัฐฯ เดินทางไปอยู่อเมริกาได้ จึงขอเดาว่าคำตอบของรัฐบาลสหรัฐฯ คือ…แน่ใจแล้ว!! เพราะการถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานเป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับได้ และเป็น “คำมั่น” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ไว้กับชาวอเมริกันและฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ที่เฝ้ารอให้มีการถอนทหารอเมริกันออกจากสนามรบที่ไม่มีทางเอาชนะ เพราะคู่ขัดแย้งทางการเมืองในอัฟกานิสถานมีมากเกินกว่าที่สหรัฐฯ จะเข้าถึง …นอกจากนี้ สงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อเหตุวินาศกรรม 9/11 ของชาวอเมริกันนั้นถือว่าจบไปแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่เพียงพอต่อการยื้อให้ทหารอเมริกันอยู่ในอัฟกานิสถานที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอีกต่อไป
ประธานาธิบดีไบเดนจึงยึดมั่นในการตัดสินใจ เพื่อปกป้องชีวิตทหารอเมริกันและงบประมาณของสหรัฐฯ เอาไว้ก่อน…และแน่นอนว่า นโยบายดังกล่าวถูกใจชาวอเมริกัน ซึ่งพร้อมร่วมกันประกาศในโอกาสครบรอบ 20 ปีเหตุวินาศกรรม 9/11 ใน 11 ก.ย.64 นี้ว่า “สงครามของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานจบลงแล้ว”
ต่อจากนี้ สหรัฐฯ จะเน้นใช้เครื่องมือการทูต และเศรษฐกิจในการเกี่ยวพันกับอัฟกานิสถานมากขึ้น ส่วนปฏิบัติการด้านการทหารจะเน้นใช้เทคนิคการโจมตีจากระยะไกลเป็นเครื่องมือหลัก ขณะที่ปฏิบัติการด้านข่าวกรองอาจเป็น “อาวุธสำคัญ” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะใช้ในการดำรงบทบาทผู้เล่นหลักในอัฟกานิสถานต่อไป..แม้ CIA จะปวดหัวไม่น้อยกับการที่ต้องเปลี่ยนวิธีการรวบรวมข่าวสารในอัฟกานิสถาน แต่ 20 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้ CIA ได้สร้างสายลับที่ปฏิบัติการได้เองไว้ในพื้นที่แล้วเรียบร้อย และอาจมีภารกิจหลัก คือ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายที่จะเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ ต่อไป
แม้การถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานจะเสี่ยงทำให้ภูมิภาคเอเชียใต้กลับมาเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย และเกิดสงครามกลางเมือง แต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจบทพื้นฐาน “ผลประโยชน์” ของชาวอเมริกันเป็นหลัก พร้อมกับเตรียมทางหนีทีไล่ และแนวทางรับมือเบื้องต้นไว้แล้ว เช่น กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศในเอเชียใต้และเอเชียกลาง รวมทั้งหารือกับพันธมิตรเนโตอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่ออัฟกานิสถาน
ก่อนจบ …ขอนำเสนออีกมุมมองบนพื้นฐานหลักคิดแบบ “Shared Responsibility” ว่า สหรัฐฯ อาจกล้าเสี่ยงปล่อยให้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานไร้เสถียรภาพและน่าห่วงกังวล เพื่อกระตุ้นให้รัสเซีย จีน และอิหร่าน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน รวมทั้งปากีสถานและอินเดีย ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าควรจะมีบทบาทในการจัดการสถานการณ์ในอัฟกานิสถานมากขึ้น ต้องหันมาสนใจและทุ่มเทเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านความมั่นคงในอัฟกานิสถาน ซึ่งนั่นอาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ในระยะนี้ ที่อาจกำลังหา “ภัยคุกคาม” ใหม่ ๆ ให้ประเทศคู่ขัดแย้งก็เป็นได้
—————————
เรียบเรียงจาก
Taliban Fighters Advance After U.S. Closes Main Afghan Base – WSJ
Afghan War Causes Record Bloodshed Amid US Troop Exit | Voice of America – English (voanews.com)