รัฐบาลออสเตรเลียกำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบมากกว่าเรื่องระบบนิเวศ คือ ปัญหาแนวปะการังใน The Great Barrier Reef ซึ่งเป็นแนวปะการังยาว 2,300 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของท้องทะเลออสเตรเลีย กำลังเผชิญภาวะปะการังฟอกขาว จนทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียสมดุล ปัญหาดังกล่าวได้รับความสนใจจากทั่วโลก เพราะแนวปะการัง The Great Barrier Reef เป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก
สาเหตุหลักของภาวะปะการังฟอกขาว หรือปะการังมีสีซีดจาง มาจากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพราะโลกร้อน ทำให้สาหร่ายขนาดเล็กที่อยู่ในปะการังไม่เติบโต ปะการังจึงสูญเสียเนื้อเยื่อและกลายเป็นสีขาว
ปัญหาปะการังฟอกขาวได้รับความสนใจจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ กลุ่ม Greenpeace รวมทั้งรัฐบาลออสเตรเลียมาตลอดระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ สถาบันวิจัย ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies ระบุเมื่อ ต.ค.63 ว่าปะการังได้รับความเสียหายไปมากกว่าร้อยละ 50 จนทำให้องค์การ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) เร่งการพิจารณากำหนดให้แนวปะการัง The Great Barrier Reef เป็น “พื้นที่เสี่ยงอันตราย (Endangered Site List)” หรือบัญชี UNESCO’s List of World Heritage in Danger แทนที่จะเป็น “มรดกโลก” และสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มหาศาล อย่างที่เป็นมาตั้งแต่ปี 2524
รัฐบาลออสเตรเลียจึงต้องพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ The Great Barrier Reef ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงอันตราย เพราะนั่นจะสะท้อนว่า รัฐบาลออสเตรเลียล้มเหลวในการดูแลและฟื้นฟูสภาพแนวปะการังดังกล่าว ทั้งที่ลงทุนไปแล้วมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ อาจเป็นปัญหาในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาดูแนวปะการังดังกล่าวปีละประมาณ 2 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อีกทั้งปัญหาปะการังฟอกขาวยังถูกเชื่อมโยงกับนโยบาย “สนับสนุนพลังงานฟอสซิล” ของรัฐบาลออสเตรเลียด้วย เพราะนโยบายดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น เพราะมีการสนับสนุนการผลิตและใช้ถ่านหินในออสเตรเลีย ประกอบกับออสตรเลียถูกมองว่ายังไม่จริงจังมากพอที่จะลดคาร์บอน และแก้ไขปัญหาโลกร้อน ตลอดจนไม่ทุ่มเทมากพอเพื่อที่จะลงทุนพัฒนาพลังงานทดแทน หรือพัฒนาคุณภาพน้ำทะเล
ดังนั้น…ปัญหาปะการังฟอกขาวจึงไม่ได้อยู่แค่ในมิติปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป เพราะมันเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของประเทศ การท่องเที่ยว ภาษีของประชาชน และนโยบายพลังงานของรัฐบาลออสเตรเลีย
รัฐบาลออสเตรเลียแก้ไขปัญหานี้ โดยเน้นปัญหาเฉพาะหน้าก่อน คือ การโน้มน้าวไม่ให้ UNESCO จัดให้แนวปะการังดังกล่าวอยู่ในบัญชีรายชื่อพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยรัฐบาลออสเตรเลียเชิญชวนให้นักการทูตและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศมาสวมหน้ากากดำน้ำ และลงไปดูปะการังดังกล่าวด้วยตนเอง หรือ “Snorkel Diplomacy” เพื่อให้พิสูจน์ด้วยตัวเองว่า แนวปะการัง The Great Barrier Reef ยังไม่ถูกทำลาย ตามที่หลายฝ่ายห่วงกังวล …นโยบายนี้ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2558 ทำให้ UNESCO ไม่จัดให้ The Great Barrier Reef อยู่ใน Endangered Site List
ส่วนวิธีแก้ไขปัญหาระยะยาว รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดแผนปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดังกล่าวระยะ 30 ปี โดยให้ทุนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมปะการัง และออกกฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษลงทะเลบริเวณ The Great Barrier Reef อย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ดี ในการประชุมของ UNESCO ใน 23 ก.ค.64 นี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังต้องพยายามอีกครั้งเพื่อไม่ให้ The Great Barrier Reef อยู่ในกลุ่มพื้นที่อันตราย ซึ่งออสเตรเลียใช้ Snorkel Diplomacy ซึ่งดูอีกทีก็เป็นการ “ล็อบบี้” เช่นเดิม โดยเชิญทูตต่างประเทศที่อยู่ในออสเตรเลียอย่างน้อย 15 ประเทศเข้าพักในรีสอร์ทและจัดกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง ก่อนจะให้ความเห็นต่อ UNESCO เกี่ยวกับสภาพแนวปะการังดังกล่าว (ทูต 9 คนจาก 15 คนที่ไปดำน้ำนั้นมาจากประเทศที่มีสิทธิโหวตในการประชุมของ UNECSO และเพื่อให้เห็นภาพ…ความสวยงามของ The Great Barrier Reef ถูกนำไปใช้เป็นฉากแนวปะการังสีสันสวยงามที่เป็นบ้านของปลาหลากชนิดในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Finding Nemo นั่นเอง)
ความพยายามของรัฐบาลออสเตรเลียเรียกได้ว่าเป็นการท้าทายการประเมินของ UNESCO รวมทั้งทำให้เห็นว่า รัฐบาลออสเตรเลียกำลังพยายามควบคุมปัญหาในมิติสิ่งแวดล้อมไม่ให้ขยายไปกระทบความมั่นคงในมิติอื่น ๆ โดยไม่ต้องการให้ต่างประเทศมาวิจารณ์มาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม และนโยบายพลังงานของออสเตรเลีย รวมทั้งไม่ต้องการให้ท่าทีของ UNESCO ทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม และชาวออสเตรเลียรู้สึกว่า “พวกเขาล้มเหลว” ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ จนอาจกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่อนโยบายสนับสนุนพลังงานถ่านหินของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องหนักใจของรัฐบาล เพราะถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และสินค้าส่งออกที่สำคัญของออสเตรเลีย
——————————————————————
เรียบเรียงจาก
Snorkel Diplomacy Is Australia’s New Tactic in Reef Climate Spat – Bloomberg