สื่อมวลชนต่างประเทศให้ความสนใจการเดินทางของเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Queen Elizabeth (R08) ของสหราชอาณาจักร ที่ปัจจุบันกำลังเดินทางเข้าสู่น่านน้ำเอเชีย เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่สหราชอาณาจักรส่งเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่เดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ตามวิสัยทัศน์ “Global Britain in a Competitive Age” ของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน
นายกรัฐมนตรีจอห์นสันประกาศว่า ปี 2564 จะเป็นปีที่สหราชอาณาจักรมีบทบาทสำคัญและขยายการมีส่วนร่วมในระดับโลก เพราะนอกจากจะเป็นประธานจัดการประชุม G7 การประชุมโลกร้อน (COP26) สหราชอาณาจักรจะส่งกองเรือพร้อมเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Queen Elizabeth เดินทางทั่วโลกเพื่อแสดงแสนยานุภาพด้านการทหาร รวมทั้งส่งสัญญาณให้ทั่วโลกเห็นว่า สหราชอาณาจักร หลัง Brexit พร้อมจะเป็นผู้เล่นหลักในด้านความมั่นคงทางทะเลที่พึ่งพาได้ และพร้อมจะร่วมมือกับประเทศที่มีค่านิยมสอดคล้องกัน
Global Britain เป็นแนวคิดที่สหราชอาณาจักรต้องการปรับเปลี่ยนจุดยืนของตัวเอง จากเดิมที่อยู่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับสหภาพยุโรป ก็ออกไปมีส่วนร่วมในระดับโลกมากขึ้น เพื่อเสริมสถานะและบทบาทของสหราชอาณาจักรหลังจาก Brexit เริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบเมื่อต้นปี 2564
การเดินทางของกองเรือ HMS Queen Elizabeth ถือว่าเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และ Global มากที่สุดในปัจจุบัน เพราะกองเรือดังกล่าวได้เสร็จสิ้นการปฏิบัติการในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลอาหรับแล้ว โดยมีการฝึกร่วมกับเนโต เผชิญหน้ากับฝูงเครื่องบินรบรัสเซีย รวมทั้งร่วมในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายร่วมกับพันธมิตรในตะวันออกกลางแล้ว และกำลังจะเดินทางเข้าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
สื่อบางแห่งเรียกปฏิบัติการของ HMS Queen Elizabeth และกองเรือ Carrier Strike Group (CSG) ว่าเป็น “Battleship Diplomacy” เพราะตลอดการเดินทางออกจากท่าเรือพอร์ทสมัธของสหราชอาณาจักร กองเรือดังกล่าวจะเดินทางเป็นระยะเวลา 7 เดือนเพื่อจอดเทียบท่าเรือในประเทศต่าง ๆ กว่า 40 ประเทศ ครอบคลุมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลแดง อ่าวเอเดน ทะเลอาหรับ มหาสมุทรอินเดีย จนถึงทะเลฟิลิปปินส์ และจะเข้าร่วมฝึกซ้อมรบทางทะเลกับกองเรือของหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก กรีซ อิตาลี ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อิสราเอล โอมาน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยจะปฏิบัติการอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนานจนถึง ตุลาคม 2564
สำหรับไทยก็ไม่ได้อยู่นอกเส้นทางการทูตทหารครั้งนี้ โดยไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศแรกที่ได้ร่วมมือกับกองเรือดังกล่าวเมื่อ 24 ก.ค.64 โดยเรือรบของไทยได้ฝึกร่วม Passing Exercise กับเรือหลวง HMS Richmond ในน่านน้ำฝั่งทะเลอันดามัน และในโอกาสนี้ นาย Mark Gooding เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทยก็ทวีตข้อความว่า “การซ้อมรบร่วมกันทางเรือที่จะเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบหลายปีนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย-สหราชอาณาจักร และความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค”
…แม้จะมีชาวทวิตเตอร์ให้ความเห็นว่า สหราชอาณาจักรน่าจะส่งวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 มาให้ไทยมากกว่า… แต่การซ้อมร่วมดังกล่าวก็สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อไทยในการสร้างความคุ้นเคยกับสหราชอาณาจักร ที่กำลังจะมาเป็นผู้เล่นหลักในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น ดูจากที่วิสัยทัศน์ปี 2030 ของสหราชอาณาจักรมีเป้าหมายว่าจะเกี่ยวพันกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างแนบแน่น
การใช้ Battleship Diplomacy ของสหราชอาณาจักรครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการแสดงแสนยานุภาพให้ประเทศคู่อริ หรือคู่ขัดแย้งอย่างรัสเซียเห็นว่า สหราชอาณาจักรยังคงมีแสนยานุภาพด้านการทหาร มีเครือข่ายด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งและพร้อมต้อนรับการกลับมาของสหราชอาณาจักร ตลอดจนเป็นโอกาสให้ได้ “โชว์แสนยานุภาพ” ยุทโธปกรณ์ ที่อาจจะเสนอขายให้ประเทศต่าง ๆ ในอนาคต เฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนเครื่องบิน และอุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งอาจเป็นความพยายามของสหราชอาณาจักรที่ใช้ความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นกลไกที่จะเสริมความร่วมมือด้านอื่น ๆ กับต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี HMS Queen Elizabeth และกองเรือขนาดใหญ่เข้ามาในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในช่วงที่สถานการณ์ในทะเลจีนใต้กำลังอ่อนไหว จากการที่ประเทศที่เกี่ยวข้องเคลื่อนไหวทั้งด้านการทหารและการทูตเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวตลอดช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ กับจีนที่ข่มกันด้วยการเดินเรือในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีฟิลิปปินส์ที่ออกมาประท้วงกรณีจีนส่งกองเรือหลายร้อยลำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของทะเลฟิลิปปินส์ ดังนั้น การมาถึงของกองเรือ HMS Queen Elizabeth อาจมีโอกาสทั้งจะมาสร้างสมดุลอำนาจ ความสงบ หรือมาเพิ่มความปั่นป่วนให้ทะเลจีนใต้กันแน่!!
การมาถึงของ HMS Queen Elizabeth จึงน่าจะส่งผลต่อบรรยากาศความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี เพราะเมื่อดูจากปฏิกิริยาของจีนครั้งนี้ก็คือไม่พอใจอย่างมาก พร้อมออกมาสร้างภาพเชิงลบให้การเดินทางของ HMS Queen Elizabeth ทันที โดยสื่อ Global Times ของจีนรายงานว่า การที่สหราชอาณาจักรส่งเรือเข้ามาในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้นตอกย้ำว่าสหราชอาณาจักรยังยึดติดกับสมัยจักรวรรดินิยม พยายามจะหวนคืนบรรยากาศเก่า ๆ ที่สหราชอาณาจักรเป็นมหาอำนาจทางทะเล แต่สหราชอาณาจักรกำลังดำเนินนโยบายผิดพลาด เพราะการเดินตามสหรัฐฯ และยั่วยุจีนมีแต่จะทำให้สหราชอาณาจักรล้มเหลวในการบรรลุวิสัยทัศน์ Global Britain เนื่องจาก HMS Queen Elizabeth อาจเป็นสัญลักษณ์ของการคุกคาม มากกว่าความร่วมมือและความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณอังกฤษที่ยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
——————————————————