ในช่วงปลายกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคม 2564 มีเรื่องราวเกี่ยวกับวงการสื่อมวลชนที่ดุเดือดในสื่อโซเชียลมีเดียของจีน และนักข่าวและนักการทูตจีนทั่วโลกนำไปโหมกระพือต่อในทวิตเตอร์จนพูดถึงกันทั่วโลกอยู่ 2 เรื่อง
เรื่องแรกเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิกที่กำลังแข่งขันกันที่ญี่ปุ่น ปีนี้นักกีฬาจีนทำผลงานได้ดี กวาดเหรียญทองไปแล้ว 30 กว่าเหรียญ รวมถึงโหว จือหุย นักยกน้ำหนักหญิงรุ่น 49 กิโลกรัม สำนักข่าว Reuters รายงานชัยชนะของเธอพร้อมแนบรูปถ่ายขณะที่กำลังออกแรงยกลูกเหล็กเต็มกำลังจนหน้าตาบิดเบี้ยว สร้างความไม่พอใจให้สถานเอกอัครราชทูตจีนในศรีลังกาที่ทวีตประณามทันทีว่า Reuters เลือกรูปภาพโดยมีอคติทางการเมือง และไม่เคารพจิตวิญญาณของกีฬาโอลิมปิก
คำบ่นของจีนฟังดูแปลกไปสักหน่อย ถ้าพิจารณาว่าเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ China Daily ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็รายงานโดยใช้ภาพโหว จือหุย ตอนออกแรงยกจนหน้าตาบิดเบี้ยวเช่นเดียวกัน ให้หลังจากนั้นก็เป็นมหกรรมการจับผิด ที่ชาวเน็ตจีน สื่อจีน และนักการทูตจีน เฝ้ามองหารูปภาพที่สื่อตะวันตกนำเสนอภาพนักกีฬาจีนตอนหน้าตาไม่สวยไม่หล่อ เอามาประณามกันด้วยความไม่พอใจ
วิวาทะในประเด็นบทบาทของสื่อมวลชนอีกกรณีหนึ่ง เกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ที่ถึงตอนนี้มีคนตายแล้วหลักร้อยคน รวมทั้งผู้เคราะห์ร้าย 14 คนที่ติดอยู่ในรถไฟใต้ดินตอนที่น้ำทะลักเข้าไปในระบบ เรื่องราวมาเกี่ยวพันกับวงการสื่อมวลชนตรงที่ปรากฏคลิปวิดีโอมวลชนชาวจีนกลุ่มหนึ่งกลุ้มรุมผู้สื่อข่าวสำนักข่าว DW ของเยอรมนี ขณะกำลังรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ สืบสาวราวเรื่องกันไปมาพบว่าเป็นความเข้าใจผิดเพราะคิดว่าเป็นผู้สื่อข่าวสำนักข่าว BBC ของสหราชอาณาจักร
สำนักข่าว BBC เป็นตัวร้ายในสายตาชาวจีนตั้งแต่ตอนที่รายงานเรื่องราวในเขตปกครองตนเองซินเจียงโดยระบุว่ามีการสร้างค่ายกักกันและบังคับใช้แรงงาน นับแต่นั้นทางการจีนก็โจมตี BBC มาโดยตลอดว่าเป็นสำนักข่าวที่เผยแพร่ “เฟกนิวส์” บ่อนทำลายจีน สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เจิ้งโจว สำนักข่าว BBC แถลงว่านักข่าวของตัวเองถูกข่มขู่ โดยเฉพาะจากสันนิบาตเยาวชนพรรคคอมมิวนิสต์จีน (The Communist Youth League of China – CYLC ) ประจำมณฑลเหอหนานที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียปลุกเร้าให้ประชาชนเฝ้าจับตาการทำงานของผู้สื่อข่าว BBC ในพื้นที่ ลุกลามไปจนมีการคอมเมนท์คุกคามเอาชีวิต ส่วนกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ออกแถลงการณ์เมื่อ 3 สิงหาคม 2564 โจมตีว่า BBC รายงานสถานการณ์น้ำท่วมอย่างบิดเบือน เนื่องจากไม่ได้สนใจรายงานความพยายามของรัฐบาลจีนที่ระดมกำลังเพื่อกู้ภัย และชาวจีนก็ช่วยเหลือกันเองอย่างกล้าหาญ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีเรื่องชวนให้คิดตามอยู่ 2 ประเด็น อย่างแรกเลยคือการเป็นมหาอำนาจนั้นผูกโยงอยู่กับ “สื่อ” และ “ภาษา” เพราะการใช้อำนาจ (โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่การเอากำลังไปบังคับให้คนอื่นทำตามที่เราต้องการ แต่ยังขึ้นกับความสามารถในการโน้มน้าวจิตใจให้คนอื่นคล้อยตามเราโดยไม่ต้องใช้กำลังด้วย ซึ่งก็มี “สื่อ” กับ “ภาษา” นี่แหละที่เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจลักษณะนั้น
ภาษาอังกฤษ และสื่อมวลชนตะวันตก คือกระแสหลักของโลกมาหลายศตวรรษ (จากการเป็นมหาอำนาจต่อเนื่องกันของสหราชอาณาจักรมาถึงสหรัฐฯ) อำนาจของสื่อมวลชนตะวันตกและภาษาอังกฤษ ทำให้มหาอำนาจตะวันตกสามารถชี้นำ “ความเป็นจริง” มาได้โดยตลอด แต่ในโลกยุคนี้ที่จีนก้าวมาท้าทาย เราจึงได้เห็นการเกิดขึ้นของสถาบันขงจื่อ (Confucius Institute) ที่เน้นการสอนภาษาจีน เราจึงได้เห็นการที่สื่อมวลชนของทางการจีนลงนามความร่วมมือกับสื่อมวลชนไทยเพื่อเอาข่าวที่จีนผลิตมาเผยแพร่ และเราจึงได้เห็นทางการจีนโวยวายไม่พอใจใส่สื่อตะวันตกเหมือน 2 เหตุการณ์ข้างต้น ซึ่งทั้งหมดนั้นก็คือการขยับขยายบทบาทด้านสื่อมวลชนของจีน และลดทอนความน่าเชื่อถือของสื่อตะวันตก ซึ่งก็เพื่อทวงคืนอำนาจในการกำหนดตัวเอง (ชาวโลกจะเห็นภาพจีนเป็นแบบไหน ก็ควรเป็นอำนาจของจีนเองที่จะนำเสนอ ไม่ใช่ผ่านมุมมองของสื่อตะวันตกที่จีนเห็นว่ามีอคติกับจีน) และสร้างอำนาจในการควบคุมการมองเห็น (ชาวโลกควรจะต้องมองเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในแบบที่จีนอยากให้เห็น)
อีกประเด็นหนึ่งก็คืออุดมคติที่ว่า “กีฬาโอลิมปิกกับการเมืองต้องแยกออกจากกัน” ซึ่งเอาเข้าจริงการที่นักการทูตจีนเอาภาพข่าวกีฬามาเป็นเครื่องมือปลุกเร้าอุดมการณ์ชาตินิยมนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่กีฬาเกี่ยวข้องกับการเมือง ที่ผ่านมาสหรัฐฯ (และไทย) ก็เคยคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกที่สหภาพโซเวียตจัด สหภาพโซเวียตก็เคยคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกที่สหรัฐฯ จัดเพื่อตอบโต้ พรรคนาซีเคยใช้การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเร้ากระแสชาตินิยม นักกีฬาชาติอาหรับยังไม่ค่อยจะยอมลงแข่งกับอิสราเอลจนถึงปัจจุบัน นักกีฬาจีนติดเข็มกลัดรูปประธานเหมา เจ๋อตง ขึ้นรับเหรียญ ฯลฯ
ขณะนี้ โอลิมปิกยังไม่อนุญาตให้บริษัทแอปเปิลหรืออาลีบาบาเข้าร่วมแข่ง ต่อให้บริษัทมีมูลค่าประกอบการสูงกว่า GDP หลายประเทศรวมกัน โอลิมปิกยังเป็นเวทีสำหรับการแสดงความเข้มแข็งของแต่ละรัฐชาติ และความภาคภูมิใจในความเป็นชาติก็พุ่งสูงเสมอเวลานักกีฬาของชาติเราเอาชนะคู่แข่งหรือได้เหรียญรางวัล อุดมคติ “กีฬาโอลิมปิกกับการเมืองต้องแยกออกจากกัน” นั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าพิจารณาว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกก็ผูกติดแน่นหนาอยู่กับแนวคิดเรื่องความเป็น “รัฐชาติ” ซึ่งเป็นแนวคิดทางการเมืองอย่างแน่นอน