ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา สถานการณ์ COVID-19 ยังคงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังเพิ่มสูงขึ้นวันละหลักแสนคน สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ที่สามารถติดต่อได้ง่าย ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง โลกกำลังอยู่ระหว่างความพยายามกระจายและฉีดวัคซีนในทุกภูมิภาค ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ประชากรโลกร้อยละ 15.8 ได้รับวัคซีนครบทุกโดสแล้ว และร้อยละ 30.4 ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ขณะที่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงอยู่ในภาวะควบคุมการแพร่ระบาดด้วยวิธีการล็อกดาวน์ นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่เข้มข้น ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังคงขับเคี่ยวกับตัวเลขการฉีดวัคซีน เป็นความท้าทายที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญ
แต่ท่ามกลางความท้าทายเหล่านั้น ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก ที่มีความไม่พอใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาด มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐ ไปจนถึงมาตรการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ความไม่พอใจเหล่านั้นได้นำมาสู่การชุมนุมประท้วงในทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้หลายประเทศทั่วโลกห้ามการชุมนุมประท้วง นั่นจึงตามมาด้วยมาตรการควบคุมฝูงชนภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ในแทบทุกประเทศ ในวันนี้ เราจะพาไปตามดูว่า ในช่วงไม่นานมานี้ แต่ละประเทศมีมาตรการในการควบคุมการชุมนุม ภายใต้สถานการณ์โลกระบาดอย่างไร จะเหมือน หรือต่างกันเพียงใด
เริ่มกันที่ฝรั่งเศส ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งการประท้วง ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้คนที่นั่นหลายเมืองได้ออกมาแสดงความไม่พอใจกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและแผนการกระจายวัคซีน รวมถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน เกิดการกระทบกระทั่ง ปะทะกันระหว่างตำรวจปราบจลาจลกับประชาชน มาตรการที่ตำรวจปราบจลาจลของฝรั่งเศสใช้ มีตั้งแต่ การใช้สเปรย์พริกไทย การฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้แก๊สน้ำตา การใช้กระบอง ไปจนถึงการใช้กระสุนยาง
ขยับมาที่เยอรมนี ผู้ประท้วงที่มีแนวคิดไม่เชื่อในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อต้านล็อกดาวน์และการฉีดวัคซีน ประมาณ 5,000 คน ได้รวมตัวกันที่กรุงเบอร์ลิน ในบางจุดเกิดความรุนแรง ส่งผลให้ตำรวจปราบจลาจลเร่งเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งทางการเยอรมนีจะเน้นวิธีการทางกายภาพอย่างการใช้มือเปล่าจนถึงกระบองบุกเข้าจับกุมทีละคนเป็นหลัก ทำให้เกิดภาพของการต่อยตีกับผู้ประท้วง ส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมประมาณ 600 ราย
ด้านออสเตรเลีย มีการประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถรับมือการแพร่ระบาดได้ดีก็ตาม โดยผู้ชุมนุมได้ก่อเหตุแสดงความไม่พอใจรัฐบาลในหลายรัฐ ทำให้ตำรวจปราบจลาจลต้องใช้หลายมาตรการในการหยุดการรวมตัวของประชาชน ทั้งแก๊สน้ำตา ตำรวจม้า ตำรวจจักรยาน การบุกเข้าจับกุม ส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมราว 57 ราย ถูกสั่งปรับไปเกือบ 100 ราย
หันกลับมาที่ไทย แม้การประท้วงจะเกี่ยวพันกับกลุ่มการเมือง แต่เหตุผลในการประท้วงยังมีเรื่องของการจัดการวัคซีน และประสิทธิภาพการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาลเช่นกัน และแน่นอน เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่ต่างจากที่อื่นในโลก โดยมาตรการที่เจ้าหน้าที่ของไทยใช้ ไล่เรียงไปตั้งแต่ การฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้คลื่นเสียง การใช้แก๊สน้ำตา การใช้กระสุนยาง รวมถึงการใช้กระบองบุกจับกุม
จากตัวอย่างที่ยกมา จะเห็นได้ว่า มาตรการของตำรวจปราบจลาจลในการควบคุมการประท้วงของประชาชนในยุค COVID-19 ไม่ได้เป็นไปแบบ “New Normal” หรือรักษาระยะห่างแต่อย่างใด มาตรการทุกประการยังคงใช้เช่นเดียวกับสถานการณ์ปกติ และแนวทางการใช้มาตรการมีความใกล้เคียงกันทั่วโลก (อาจจะยกเว้นเยอรมนีที่ตำรวจต่อยกับผู้ประท้วง)
แม้การชุมนุมจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน หากแต่การชุมนุมในสถานการณ์ COVID-19 ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือทำแล้วควรป้องกันอย่างไร แต่ที่สิ่งที่แน่นอนจากประสบการณ์ของโลกและในมุมมองของรัฐหลายประเทศ การชุมนุมในช่วงการแพร่ระบาดไม่สามารถทำได้ ดังนั้นเราจะยังคงเห็นภาพการใช้มาตรการควบคุมการชุมนุมของตำรวจปราบจลาจลทุกที่ในโลกในช่วงสถานการณ์โรคร้ายนี้ต่อไป