สถานการณ์เข้ายึดกรุงคาบูลของกลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถานเมื่อไม่นานมานี้ถือได้ว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมากทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมีผลอย่างมากต่อภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนถึงกับเอ่ยว่าเหตุการณ์นี้จะเปลี่ยนฉากทัศน์ของภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียกลาง และเอเชียตะวันตก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
โดยเฉพาะสมดุลของสมการด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียใต้ถือได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่เรียกว่า “พลิกผัน” เพราะตลอดหลายปีมานี้นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2544 นั้น มหาอำนาจในเอเชียใต้อย่างอินเดีย ถือเป็นผู้สนับสนุนด้านมนุษยธรรม และลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากในอัฟกานิสถาน
อินเดียมีจุดยืนตรงข้ามกับกลุ่มตอลิบันมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2539 ที่ตอลิบันเข้าปกครองอัฟกานิสถาน เพราะในช่วงเวลานั้นอินเดียให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือโดยใช้สถานทูตในกรุงดูชานเบ ประเทศทาจิกิสถานในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวเพื่อต่อสู้กับตอลิบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังการล่มสลายของรัฐบาลตอลิบันในปี 2544 อินเดียจะมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร
ทำไมอัฟกานิสถานถึงสำคัญกับอินเดีย
สำหรับเหตุผลที่อินเดียให้ความสำคัญอย่างมากต่ออัฟกานิสถานคงไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ มากนัก นั่นคือประเด็นเรื่องความมั่นคงและการก่อการร้าย ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาอินเดียกล่าวหากลุ่มตอลิบันมาโดยตลอดว่าให้ที่พักพิงกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการในพื้นที่แคชเมียร์ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอินเดีย ฉะนั้นการที่รัฐบาลอัฟกานิสถานไม่อยู่ภายใต้การบริหารของตอลิบันจึงมีส่วนดีอย่างมากต่อการจัดการเรื่องความมั่นคงของอินเดีย
ตลอดหลายปีก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และกลุ่มตอลิบันจะกลับขึ้นมามีอำนาจนั้น อินเดียถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีมากโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความมั่นคงกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ทั้งยังมอบทุนการศึกษาและงบประมาณจำนวนมากให้กับกองทัพอัฟกานิสถานเพื่อฝึกอบรมให้กับกองทัพและหน่วยข่าวกรองของอัฟกานิสถาน
ยิ่งไปกว่านั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาอินเดียได้ลงทุนด้านเศรษฐกิจให้กับอัฟกานิสถานไปมากถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ S Jaishankar รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียถึงกับกล่าวในการประชุมที่เจนีวาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า “วันนี้ไม่มีส่วนใดของอัฟกานิสถานที่ไม่ถูกแตะต้องโดยโครงการมากกว่า 400 โครงการที่อินเดียดำเนินการใน 34 จังหวัดของอัฟกานิสถานทั้งหมด”
อาจกล่าวได้ว่าอินเดียมีความผูกพันอย่างมากกับรัฐบาลอัฟกานิสถานในตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากผนวกมิติทางด้านความมั่นคงข้างต้นร่วมกับมิติทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ชัดว่าอินเดียเป็นประเทศที่อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในวันที่ตอลิบันเข้ายึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ เพราะอินเดียเองก็มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อตอลิบันมาโดยตลอด
ความกังวลของอินเดียและท่าทีในอนาคต
ดังนั้นการขึ้นสู่อำนาจของตอลิบันเหนืออัฟกานิสถานในไม่กี่วันที่ผ่านมานี้จึงสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมากต่อนโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศของอินเดียในภูมิภาคแห่งนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่ากลุ่มตอลิบันเองก็มักถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับปากีสถาน คู่ปรับสำคัญของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้ ยิ่งเมื่อผนวกรวมกับสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นของจีนกับตอลิบันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วยแล้ว
อาจกล่าวได้ว่าอินเดียกำลังเผชิญกับพันธมิตรใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้ซึ่งจะประกอบไปด้วยจีน ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ลักษณะภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้สั่นคลอนสถานะนำของอินเดียในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ยังไม่นับรวมว่าสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่าง South Asian Association for Regional Cooperation (SAARC) ซึ่งในอดีตอินเดียก็เป็นผู้ที่ดึงอัฟกานิสถานเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อปิดล้อมปากีสถานด้วย
วันนี้จึงได้เห็นท่าทีที่เงียบผิดปกติจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศของอินเดียต่อการกลับมามีอำนาจของตอลิบันในอัฟกานิสถาน แม้ก่อนหน้านี้อินเดียจะออกมาระบุว่าจะไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการใช้กำลังทางการทหาร แต่หลังจากตอลิบันยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จอินเดียยังคงสงวนท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ
แน่นอนว่าในมิตินี้อาจวิเคราะห์ได้ว่าในอนาคตอินเดียมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายของตัวเองที่มีต่อกลุ่มตอลิบัน เพราะอินเดียคงไม่ต้องการให้เกิดความสัมพันธ์ที่แนบชิดจนเกินไประหว่างปากีสถานและรัฐบาลอัฟกานิสถานที่จะมีตอลิบันเป็นแกนนำในอนาคต ซึ่งจะเป็นภัยอย่างมากต่อความมั่นคงของอินเดียโดยเฉพาะในพื้นที่แคชเมียร์ เช่นเดียวกันการทิ้งอัฟกานิสถานไปในตอนนี้หมายถึงความสูญเปล่าของเม็ดเงินของอินเดียที่เคยลงทุนไปมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย
ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่าอินเดียจะมีการปรับเปลี่ยนท่าทีทางด้านนโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศที่เคยมีต่อกลุ่มตอลิบัน ซึ่งก่อนหน้านี้อินเดียก็เริ่มมีการพูดคุยกับกลุ่มนี้บ้างแล้วในทางลับ สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ในอินเดียจำนวนมากที่สนับสนุนให้เกิดการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลอินเดียกับกลุ่มตอลิบันในอนาคตเพื่อสร้างสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียใต้ และรักษาเสถียรภาพทางความมั่นคงภายในประเทศ
อ้างอิง
-บทความ The fall of Kabul, the future of regional geopolitics โดย Happymon Jacob
-บทความ Why there was no Northern Alliance 2.0 this time in Afghanistan โดย Kabir Taneja