ภาพชาวอัฟกันจำนวนมากที่รายล้อมรอบอยู่นอกบริเวณสนามบินนานาชาติ Hamid Karzai ในกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน ภาพความพยายามในการปีนกำแพงเข้าไปยังสนามบิน การวิ่งไล่ตามเครื่องบิน หรือชาวอัฟกันที่นั่งกันอย่างแออัดในเครื่องบินของประเทศต่างๆ เป็นภาพเหตุการณ์ที่ถูกถ่ายทอดโดยสื่อมวลชนไปยังสายตาผู้คนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กลุ่มตอลิบันเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลอัฟกานิสถานเมื่อ 15 ส.ค.64 ภาพเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความหวาดกลัว ความไม่มั่นใจ และความวิตกกังวลของชาวอัฟกันที่มีขึ้นหลังจากกลุ่มตอลิบันกลับเข้ามามีอำนาจในประเทศอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่ความปรารถนาที่จะเดินทางออกนอกอัฟกานิสถานเพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า สภาพการณ์ดังกล่าวตอกย้ำความกังวลของหลายฝ่ายที่มองว่าการหลั่งไหลออกนอกประเทศของชาวอัฟกันจะนำไปสู่วิกฤติผู้อพยพระลอกใหม่ ที่จะเป็นความท้าทายอย่างมากต่อประเทศซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของชาวอัฟกัน อาทิ อิหร่าน ปากีสถาน และสหภาพยุโรปต้องเตรียมมาตรการรองรับอย่างเร่งด่วนและเหมาะสม
ปัญหาผู้อพยพชาวอัฟกันไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมายาวนานมากกว่า 40 ปีและจัดเป็นหนึ่งในวิกฤติผู้อพยพที่มีความยืดเยื้อมากที่สุดของโลก อัฟกานิสถานเผชิญกับภัยคุกคามและความท้าทายที่หลากหลายในประเทศ ทั้งความขัดแย้ง เหตุรุนแรง ภัยธรรมชาติ (ในปี 2564 อัฟกานิสถานประสบภัยแล้งอย่างรุนแรง) การขาดแคลนอาหาร ความยากจน และล่าสุด คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ชาวอัฟกันจำนวนมากต้องอพยพออกนอกประเทศ สถิติของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR) ชี้ว่า ปัจจุบันมีชาวอัฟกันที่ต้องอพยพออกจากแหล่งที่อยู่อาศัยจำนวนเกือบ 6 ล้านคน โดยแบ่งเป็นชาวอัฟกันที่อพยพอยู่ภายในอัฟกานิสถานจำนวน 3 ล้านคน และผู้อพยพชาวอัฟกันในต่างประเทศจำนวน 2.6 ล้านคน
ผู้อพยพชาวอัฟกันมีจำนวนมากเป็นอันดับ 3 ของผู้อพยพทั่วโลก รองจากผู้อพยพชาวซีเรียและชาวเวเนซุเอลา ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถานยังคงเป็นพื้นที่ที่รองรับผู้อพยพชาวอัฟกันเป็นหลัก โดยเมื่อปี 2563 ผู้อพยพชาวอัฟกันอยู่ในปากีสถานมากที่สุด (จำนวนมากกว่า 1.4 ล้านคน) อยู่ในอิหร่านมากเป็นอันดับ 2 (จำนวน 780,000 คน) ขณะที่เยอรมนีมีผู้อพยพชาวอัฟกันมากเป็นอันดับ 3 (จำนวน 181,100 คน) ตามมาด้วยตุรกีเป็นอันดับ 4 (จำนวน 129,300 คน) และออสเตรียเป็นอันดับ 5 (จำนวน 46,600 คน) อย่างไรก็ดี แม้ในปี 2564 สถิติผู้อพยพชาวอัฟกันที่เดินทางออกจากอัฟกานิสถาน เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะยังมีจำนวนไม่แน่นอน แต่ข้อมูลของ UNHCR แสดงให้เห็นว่าในห้วง ส.ค.64 ชาวอัฟกันจำนวนหลายหมื่นคนอพยพข้ามแดนไปยังประเทศต่าง ๆ
สถานการณ์ด้านความมั่นคงและสิทธิมนุษยชนที่เสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความไม่แน่นอนในอัฟกานิสถาน ส่งผลให้องค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่าง ๆ ออกมาแสดงความห่วงกังวลต่อความปลอดภัย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นกับชาวอัฟกัน เฉพาะอย่างยิ่งสตรีและเด็ก ตลอดจนชาวอัฟกันที่เกี่ยวข้องหรือทำงานให้กับรัฐบาลอัฟกัน องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งกองกำลังนานาชาติ ทำให้ UNHCR ออกมาเรียกร้องให้นานาประเทศอนุญาตให้ผู้อพยพชาวอัฟกันเข้าประเทศได้ ตลอดจนขอให้ประเทศต่าง ๆ ยึดมั่นในหลักการห้ามผลักดันกลับไปประเทศต้นทางที่ผู้อพยพจะเผชิญอันตราย (non-refoulement) อย่างไรก็ตาม การลี้ภัยและอพยพออกนอกประเทศของชาวอัฟกันที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นความท้าทายของประเทศที่ต้องรองรับผู้อพยพ ซึ่งต้องประสบกับความต้องการด้านที่พัก อาหาร น้ำดื่ม และการให้บริการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการผู้อพยพ
จากวิกฤติด้านความมั่นคงในอัฟกานิสถานและการหลั่งไหลออกนอกประเทศของชาวอัฟกันอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศพยายามออกมาตรการช่วยเหลือผู้อพยพชาวอัฟกัน แต่ยังเป็นการดำเนินการที่มีข้อจำกัด อาทิ อิหร่าน จัดตั้งที่พักพิงฉุกเฉินให้ผู้อพยพบริเวณชายแดนที่ติดกับอัฟกานิสถาน แต่เน้นย้ำว่าผู้อพยพชาวอัฟกันจะถูกส่งกลับประเทศต้นทางเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ทาจิกิสถานประกาศเมื่อ ก.ค.64 เตรียมรองรับผู้อพยพจำนวน 100,000 คนจากอัฟกานิสถาน สหราชอาณาจักร ประกาศแผนจะรับผู้อพยพชาวอัฟกัน 20,000 คนในระยะยาว และรัฐบาลสหราชอาณาจักรมีโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวอัฟกัน (Afghan Citizens’ Resettlement Scheme) ที่ตั้งเป้าจะอนุญาตให้ชาวอัฟกัน 5,000 คนตั้งถิ่นฐานในสหราชอาณาจักรเป็นปีแรก โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มสตรีและเด็ก ตลอดจนชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ตกอยู่ในอันตรายจากกลุ่มตอลิบัน ขณะที่สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะดำเนินการรับผู้อพยพอย่างระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากมีบทเรียนจากวิกฤติผู้อพยพเมื่อปี 2558-2559 ที่ยุโรปต้องแบกรับผู้อพยพหลายแสนคนจากซีเรียซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศในสหภาพยุโรปเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับท่าทีของผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสที่เน้นย้ำการมีส่วนร่วมของประเทศต่าง ๆ ในการแก้ไขวิกฤติผู้อพยพชาวอัฟกันเป็นหลัก
การแก้ไขปัญหาผู้อพยพมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน สืบเนื่องจากลักษณะสำคัญประการหนึ่งของปัญหาผู้อพยพ คือ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ ประกอบกับตัวเลขของผู้อพยพที่มีจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางการแก้ปัญหาผู้อพยพอย่างยั่งยืนในระดับสากลมีการดำเนินการใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1) การกลับประเทศต้นทางด้วยความสมัครใจ (Voluntary repatriation 2) การผสานรวมเข้ากับสังคมของประเทศผู้รับ (Integration) และ 3) การตั้งถิ่นฐานใหม่ (Resettlement) ในประเทศที่ 3 ในสถานการณ์ที่ผู้อพยพไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางหรืออยู่ในประเทศผู้รับได้ ซึ่งทั้ง 3 แนวทางมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป ปัจจุบันจึงมีผู้อพยพจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าสู่แนวทางดังกล่าวได้ เช่นเดียวกับวิกฤติผู้อพยพชาวอัฟกันที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบสำคัญ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือและนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งจากภาครัฐ องค์กรในระดับภูมิภาค องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เข้ามามีส่วนร่วมที่จะให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้อพยพอย่างเหมาะสม รวมทั้งการกำหนดแนวทางให้ผู้อพยพสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างมีโอกาส มีศักดิ์ศรี และสงบสุข ด้วยตัวของพวกเขาเอง
——————————————————
เรียบเรียงจาก
- https://www.euronews.com/2021/08/16/as-chaos-deepens-in-afghanistan-is-europe-on-the-verge-of-a-fresh-refugee-crisis
- https://www.unhcr.org/news/briefing/2021/8/611b62584/unhcr-issues-non-return-advisory-afghanistan.html
- https://www.refworld.org/pdfid/611a4c5c4.pdf
- https://www.aljazeera.com/news/2021/8/23/afghanistan-talibanchaos-and-violence-as-crowds-keep-growing-outside-kabul-airport
- https://www.bbc.com/news/world-asia-58283177
- https://www.unrefugees.org/news/afghanistan-refugee-crisis-explained/
- https://www.unhcr.org/th/en/who-we-are