เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมามีการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศในเอเชียกลาง 5 ประเทศ (คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน) รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน และจีน ซึ่งเป็นการประชุมแบบ Hybrid ผ่านการหารือห้องประชุม ที่เมืองดูซานเบ ของทาจิกิสถาน ควบคู่กับการหารือผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แน่นอนว่าประเด็นสำคัญของการพูดคุยกันรอบนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “อัฟกานิสถาน” ซึ่งถือเป็นเหตุผลหนึ่งของการก่อตั้งองค์การนี้ด้วย
สำคัญกว่านั้นคือปีนี้ อิหร่านจะเข้ามาเป็นสมาชิกถาวรขององค์การความร่วมมือนี้ ซึ่งสมัครตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยที่จีนเป็นผู้ที่สนับสนุนอิหร่านให้เข้ามาเป็นสมาชิกถาวร ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังขยายบทบาทของตัวเองเข้าไปในภูมิภาคเอเชียตะวันตกมากยิ่งขึ้น ผ่านทางอิหร่าน หลังก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามความร่วมทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างกัน
ยิ่งไปกว่านั้น กาตาร์ อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย จะเข้ามาเป็นผู้สังเกตุการณ์ใน SCO อย่างเป็นทางการในปีนี้ ตอกย้ำให้ชัดมากขึ้นว่า SCO กำลังขยายความสนใจไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันตกมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ในขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันตก และยูเรเซียเข้าหากัน
หนึ่งในประเด็นที่ผู้นำประเทศในกลุ่ม SCO มีความเห็นสอดคล้องกันเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน คือการเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ควรมาจากหลากหลายกลุ่มการเมืองและชาติพันธุ์ ซึ่งรัฐบาลรักษาการในปัจจุบันยังคงอยู่ในอำนาจของตาลีบัน และชาติพันธุ์ปาทานเป็นส่วนใหญ่ สิ่งเหล่านี้ตรงกันข้ามกับคำมั่นที่ตาลีบันเคยให้กับนานาชาติไว้
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียได้เสนอว่าประเทศสมาชิกควรชะลอการรับรองรัฐบาลตาลีบันออกไป จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง ทั้งยังเสนอให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อป้องกันกลุ่มก่อการร้ายที่อาจกลับมาเคลื่อนไหวในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ในสภาพที่อัฟกานิสถานยังไม่มีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตามนายกโมดี เล็งเห็นว่าทุกประเทศควรทำงานร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับคนอัฟกานิสถานที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนักกับในเรื่องเศรษฐกิจและการเข้าถึงสิ่งของจำเป็นในการใช้ชีวิต ซึ่งตรงจุดนี้เองจีนและปากีสถานได้สนับสนุนเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยก่อนการประชุมไม่นานจีนและปากีสถานได้เสนอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลอัฟกานิสถานจำนวนมาก
สำหรับจีนเอง ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ถือโอกาสครบ 20 ปี การก่อตั้งองค์การนี้ เพื่อเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกหันหน้ามาร่วมมือกันในการรักษาสันติภาพในภูมิภาค โดยปฏิเสธการเข้ามาแทรกแซงจากภายนอกผ่านข้ออ้างในเรื่องการก่อการร้ายหรือสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อข้อเสนอนี้ได้กลายเป็นปฏิญญาดูชานเบ (Dushanbe Declaration) ซึ่งเน้นการต่อต้านการแทรกแซงภายใต้ข้ออ้างของการต่อต้านการก่อการร้ายหรือสิทธิมนุษยชน
อธิบายก็คือจีนและประเทศในกลุ่ม SCO จะไม่อนุญาตให้สหรัฐอเมริกาเปิดปฏิบัติการแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้อย่างสะดวกอีกแล้ว โดยอาศัยข้ออ้างเรื่องการก่อการร้ายหรือสิทธิมนุษยชน เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศภูมิภาค ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมากต่อผลประโยชน์ของประเทศข้างเคียงตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้
การประชุม SCO ในรอบนี้สะท้อนให้เห็นว่า SCO มีความสำคัญอย่างมากต่อการวางกรอบเรื่องความมั่นคงภายในภูมิภาคเอเชีย เพื่อป้องปรามการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในภูมิภาคอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกันระหว่างประเทศในภูมิภาคภายนอกมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นการขยายขอบเขตของสมาชิกไปครอบคลุมเอเชียตะวันตกมากยิ่งขึ้นส่งผลให้องค์การความร่วมมือนี้ครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคของเอเชีย ยกเว้นเพียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่มีสมาชิกถาวรในองค์การดังกล่าว อย่างไรก็ตามกัมพูชาก็มีสถานะเป็นหุ่นส่วนด้านการพูดคุยกับองค์การนี้เรียบร้อยแล้ว
—————————-
ผู้เขียน
นายศุภวิชญ์ แก้วคูนอก นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทางที่สถาบันเดียวกัน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน