“Mutti Merkel” หรือคุณแม่แมร์เคล ฉายาของ นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีวัย 67 ปี สังกัดพรรค Christian Democratic Union ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศใน 26 กันยายน 2564 ปัจจุบัน สื่อต่างประเทศจับตาบทบาทของนางแมร์เคล เพราะการลงจากตำแหน่งครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนผู้นำของเยอรมนีในรอบ 16 ปี แล้วยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นในห้วงที่เยอรมนีและสหภาพยุโรป (European Union-EU) เผชิญความท้าทายด้านความมั่นคงหลากหลาย ทั้งความท้าทายรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขยายอิทธิพลของรัสเซียที่แข็งกร้าวและมีแนวโน้มจะใช้ hybrid warfare การดำเนินนโยบายที่ไม่แน่ไม่นอนของสหรัฐฯ ปัญหาเอกภาพของ EU ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง คลื่นผู้อพยพและผู้ลี้ภัย การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และวิกฤตโลกร้อนที่กลายเป็น Global Agenda และบังคับให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องปรับตัว
บทบาทของนางแมร์เคลที่ผ่านมามีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศเยอรมนี และความร่วมมือในกรอบ EU แม้เดิมที เยอรมนีจะมีจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางยุโรปที่เอื้อต่อการเป็นมหาอำนาจอยู่แล้ว แต่เยอรมนีก็ค่อนข้างระมัดระวังการแสดงพลังอำนาจเพราะเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เยอรมนีมี “culture of restraint” ที่ไม่ต้องการจะใช้อำนาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีก
อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามที่เข้าใกล้เยอรมนีมากขึ้น ทำให้นางแมร์เคลต้องแสดงบทบาทผู้นำที่เข้มแข็งทั้งในประเทศและในภูมิภาค เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชน และด้วยบุคลิกที่ชาวเยอรมนีให้คำนิยามว่าเป็นธรรมชาติและติดดิน ทำให้ความเป็นผู้นำของนางแมร์เคลได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับฉายาทั้งเป็น “ผู้หญิงที่แกร่งที่สุดในโลก” และ “คุณแม่แมร์เคล” พร้อม ๆ กัน
ตลอดระยะเวลา 16 ปีการบริหารของนางแมร์เคลที่มีความสามารถพิเศษด้านการจัดการภาวะวิกฤตทำให้เยอรมนีสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ความขัดแย้งใหญ่ ๆ ได้ แม้จะถูกวิจารณ์ว่านโยบาย “Strategic Patience and Pragmatism” ที่เน้นการพิจารณาสถานการณ์อย่างละเอียด ระมัดระวัง และใช้การเจรจาจะทำให้เยอรมันมีนโยบายต่างประเทศที่ไม่ชัดเจน เชื่องช้า และเป็นคตินิยมมากเกินไป จนเกิดคำใหม่ในพจนานุกรมวัยรุ่นเยอรมนี คือ merkeln ซึ่งเป็นคำกิริยาที่หมายถึง to do nothing, make no decisions, issue no statements
อย่างไรก็ดี เมื่อดูภาพรวมแล้วก็ต้องยอมรับว่า เยอรมนีประสบความสำเร็จในการเพิ่มบทบาทในประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยได้รับการยอมรับเป็นผู้นำในภูมิภาค ไม่ขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน (ยกเว้นการแก้ไขวิกฤตผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเมื่อปี 2558 ที่อาจทำให้ประเทศยุโรปกลางหวาดหวั่นอยู่ไม่น้อย) ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาช่องทางปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่น ๆ ได้อย่างดี รวมทั้งรัสเซียและจีน
นอกจากนี้ พลังอำนาจด้านเศรษฐกิจของเยอรมนีก็แข็งแกร่งขึ้น นางแมร์เคลสามารถเปลี่ยนแปลงเยอรมนีในฐานะ “sick man of Europe” หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2552 เป็น “Economic Superstar” ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ด้วยการปฏิรูปตลาดแรงงาน อุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการส่งออกและแข่งขันในตลาดโลก จนทำให้เยอรมันสามารถเป็นผู้นำอุตสาหกรรมสำคัญของโลกเป็นประเทศที่มี GDP สูงสุดอันดับ 4 ของโลกได้ในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นผู้นำด้านการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ส่วนในมิติด้านการทหาร นางแมร์เคลสนับสนุนการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารในประเทศอย่างต่อเนื่อง และความเข้มแข็งด้านการทหารของเยอรมนีที่เพิ่มมากขึ้นในมิติด้านการทหารไม่ได้ถูกมองเป็นภัยคุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพราะนางแมร์เคลก็ย้ำภาพลักษณ์ของเยอรมนีเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพ หรือ “pacifist country” มาโดยตลอด และใช้การเจรจา รวมทั้งกฎหมายเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
บทบาทที่ของนางแมร์เคลยังทำให้เยอรมนีเป็นศูนย์กลางด้านความมั่นคงของภูมิภาค โดยยกระดับการประชุม Munich Security Conference ให้เป็นเวทีแสดงบทบาทในประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการย้ำนโยบายด้านความมั่นคงของเยอรมนีที่มีความผสมผสานที่ค่อนข้างลงตัว ระหว่างการเป็นตัวของตัวเอง การให้ความสำคัญกับ EU และการร่วมมือกับประเทศตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส เนโตและสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ทำให้เยอรมนีเพิ่มอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ในกลุ่ม P5+1 เป็นสมาชิกกลุ่ม G 7 และเป็นผู้เล่นในฐานะ “ผู้ไกล่เกลี่ย” และเจรจาความไม่ลงรอยระหว่างสมาชิก EU รวมทั้งปัญหาระดับโลกเป็นระยะ ๆ เช่น ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน สถานการณ์ความไม่มั่นคงในยูเครน อิรัก ลิเบีย ซีเรีย และกลุ่มประเทศบอลข่าน
Mutti Merkel ได้สร้างเยอรมนีที่แข็งแกร่ง เป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน มีภาพลักษณ์ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงผู้นำครั้งนี้อาจทำให้การดำเนินนโยบายของเยอรมนีเปลี่ยนแปลงจาก “Strategic Patience and Pragmatism” ไปเป็นรูปแบบอื่น เพื่อให้เยอรมนีมีบทบาทผู้นำในระดับโลกมากขึ้น ทั้งเรื่องการเป็นผู้นำที่น่าเชื่อถือของกลุ่ม EU การแก้ไขวิกฤตโลกร้อน การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศหลังเผชิญ COVID-19 ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐฯ และรัสเซีย ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ไขปัญหาภายในประเทศ เช่น การปรับตัวของประชาชนสู่สังคมผู้สูงอายุ ความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเยอรมนีมีสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ เป็นช่องทางสำคัญในการสนับสนุนและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไทยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร การศึกษา และวัฒนธรรม ตลอดจนมีงานประชาสัมพันธ์ด้านการเมืองที่มุ่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองเยอรมนี ควบคู่กับมีฝ่ายการเมืองที่ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง และมีหอการค้าเยอรมนี-ไทยที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างกันมาโดยตลอด สำหรับนางแมร์เคลเคยพบกับนายกรัฐมนตรีไทยระหว่างเยือนเยอรมนีอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2561 และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555
——————————