เสื้อกันหนาวตัวใหญ่ หมวกไหมพรม ถุงมือ กางเกงยีนส์ และรองเท้าผ้าใบ, ดวงตาของผมเป็นเพียงส่วนเดียวของร่างกายที่โผล่พ้นออกมาจากบรรดาเครื่องนุ่งห่ม และในตอนนั้นมันกำลังเพ่งมองผ่านความหนาวเย็น เพื่อมองให้เห็นกลุ่มชายสารพัดวัยราว 30 คน ที่กำลังถอดเสื้อเปลือยให้เห็นขนหน้าอก กอดคอ กระโดด และร้องเพลงร่วมกันกลางอุณหภูมิเลขตัวเดียว ที่สนามกีฬา Tofiq Bahramov กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน
คนกลุ่มนี้คือแฟนฟุตบอลของสโมสรคาราบัค เอฟเค (Qarabag FK) ที่กำลังลงแข่งขันอยู่เบื้องหน้า ผมเลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแฟนฟุตบอลกลุ่มนี้ เพราะตอนนั้น (ปี 2562) ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ที่เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนีย ยังอยู่ในสภาวะสงคราม และรัฐบาลอาเซอร์ไบจานไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าพื้นที่นากอร์โน-คาราบัก ที่ประกาศเอกราชฝ่ายเดียวในนามสาธารณรัฐอาร์ตซัค ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอาร์เมเนีย คาราบัค เอฟเค ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลประจำเมือง Agdam ในดินแดนนากอร์โน-คาราบัค จึงเป็นอนุสรณ์หนึ่งเดียวที่ผมจะพาตัวเองเข้าไปหาประสบการณ์เกี่ยวกับดินแดนแห่งนั้นได้ในกรุงบากู
สนาม Tofiq Bahramov ที่เป็นบ้านหลังปัจจุบันของคาราบัค เอฟเค ตั้งอยู่กลางกรุงบากู หลังจากที่ต้องจำยอมย้ายมาจากสนามเดิมในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค และไม่เคยได้กลับไปยังถิ่นฐานเดิมเลยตั้งแต่ปี 2536 เนื่องจากกองทัพอาเซอร์ไบจานแพ้สงครามให้กับกองกำลังชาวอาร์เมเนีย ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในภูมิภาค และสนับสนุนอยู่เบื้องหลังโดยรัฐบาลอาร์เมเนียที่มุ่งหมายให้ชาวอาร์เมเนียในอาเซอร์ไบจานได้ปกครองตนเอง ผลของสงครามครั้งนั้นทำให้ชาวอาร์เมเนียประกาศเอกราชและปกครองตนเองในทางพฤตินัยในนามสาธารณรัฐอาร์ตซัค ส่วนชาวอาเซอร์ไบจานราว 724,000 คนในภูมิภาคต้องอพยพกระจัดกระจายกลายเป็นคนพลัดถิ่น รวมทั้งสโมสรคาราบัค เอฟเค ที่ต้องหนีมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในเมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน เนื่องจากเมือง Agdam ของพวกเขากลายเป็นเมืองร้างเพราะภัยสงคราม
ผมไปบากูครั้งนั้นช่วงปี 2562 เหตุผลที่ได้เข้ามาอยู่ในสนามเป็นเพราะก่อนหน้านี้ 2 วัน ขณะกำลังหาเสบียงในห้างสรรพสินค้า Park Bulvar ริมทะเลสาบแคสเปียน และเตร็ดเตร่เพื่อโอบเอาบรรยากาศของประเทศมุสลิมที่อนุญาตให้ผู้หญิงใส่เสื้อสายเดี่ยวและมีเบียร์วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ผมบังเอิญเดินผ่านร้านขายเครื่องกีฬาในห้างนั้น ที่ความมาปรากฏภายหลังว่าเป็นร้านค้าประจำสโมสรคาราบัค เอฟเค การตัดสินใจแวะดูร้านนั้น เกิดจากความคุ้นหูชื่อสโมสรฟุตบอลแห่งนี้จากการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรป ทั้งยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก และยูฟ่า คัพ ที่เคยผ่านเข้ารอบไปลงแข่งกับสโมสรดัง ๆ อย่างเชลซี แอตเลติโก มาดริด โรมา ฯลฯ โดยมีหลักฐานย้ำเตือนความทรงจำของผมเป็นผ้าพันคอที่ระลึกติดตราสโมสรเหล่านั้นแขวนไว้อยู่ในร้านเพื่อประกาศความภาคภูมิใจในระดับทวีปยุโรปของทีมเล็ก ๆ จากประเทศในดินแดนคอเคซัส และมีพื้นที่ประเทศคาบเกี่ยวระหว่างเอเชียกับยุโรป แต่เลือกร่วมกิจกรรมระหว่างประเทศทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ กับทางยุโรป
ยาคุบ หนุ่มชาวอาร์เซอไบจาน บอกกับผมว่าถ้าอยากจะไปดูคาราบัก เอฟเค ลงแข่งในสุดสัปดาห์นี้ ก็นั่งรถไฟฟ้าจากย่านที่พักแถว Icherisheher ไปดูที่สนามได้เลยโดยสะดวก ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ระบบรถไฟใต้ดินของอาเซอร์ไบจานที่เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตพาผมมาถึงหน้าสนามในราคาเหมาจ่ายตลอดสายเพียง 0.30 AZN หรือราว ๆ 5 บาท ซึ่งถือเป็นการจัดสวัสดิการสำหรับประชาชนได้รวยสมกับการเป็นประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ลำดับที่ 16 ของโลก
โผล่พ้นขึ้นมาจากสถานีรถไฟใต้ดินที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่บึกบึนและโอ่อ่าแบบโซเวียต เดินเรื่อยมาสักพักจนถึงปลายทางคือสนาม Tofiq Bahramov ก็โยนความโซเวียตใส่หน้าผมต่อด้วยเสาขนาดมโหฬาร 10 ต้นวางเรียงกันเป็นประตูเข้าสนาม และที่อยู่เหนือเสานั้นคือสัญลักษณ์ค้อนเคียวติดไว้โดดเด่นให้สมกับที่ครั้งหนึ่งสนามแห่งนี้เคยมีชื่อเดิมว่า “สนามกีฬาสตาลิน” และ “สนามกีฬาเลนิน” ในสมัยการปกครองของสหภาพโซเวียต
บรรยากาศหน้าสนามเงียบเชียบไร้สิ่งบอกเหตุว่ากำลังจะมีการแข่งขันฟุตบอลระดับลีกสูงสุดของประเทศเกิดขึ้นข้างในนั้น ไม่มีแฟนบอลรวมตัวร้องเพลงหน้าสนาม ลานจอดรถร้าง ไม่มีรถเข็นขายลูกชิ้นเหมือนหน้าสนามไทยลีก แม้กระทั่งห้องขายตั๋วยังปิดเงียบ การเดินดุ่มเข้าไปหาตำรวจที่เฝ้าทางเข้าสนามจึงเป็นไปด้วยความลังเลพอสมควรว่าข้อมูลที่ยาคุบบอกกับผมมาถูกต้องหรือไม่
ยาคุบเชื่อถือได้ ตำรวจลูบคลำทั่วทั้งตัวเพื่อให้มั่นใจว่าชายต่างชาติคนนี้ไม่มีอาวุธใดติดตัว ก่อนจะปล่อยผมเข้าสนามไปเจอกับความผิดหวัง ภาพในจินตนาการของผมสำหรับการเข้าสนามฟุตบอลของสโมสรระดับที่เคยลงแข่งระดับยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกไม่ได้เป็นแบบนี้ ผมนึกถึงภาพมวลชนหลักหมื่นเปล่งเสียงร้องก้องสนามเหมือนที่คุ้นตาจากการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกอังกฤษ แต่ที่เห็นอยู่ข้างหน้าคือสนามความจุหลักหมื่นแห่งนี้มีผู้ชมนั่งกระจัดกระจายในหลักร้อย และก่อนจะนั่งต้องควักเอากระดาษชำระมาเช็ดเก้าอี้ที่ฝุ่นจับกรัง ให้อารมณ์เหมือนการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกสมัยที่ครอบงำด้วยทีมหน่วยงานราชการและยังแข่งในสนามกลางยุค 20 ปี ที่แล้ว ที่จำนวนนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่รวมกันแล้วมากกว่าผู้ชมในสนาม
แต่เสียงร้องเพลงของคนกลุ่มเล็กก็ดังก้องสนามตลอด 90 นาทีอย่างเปี่ยมด้วยอารมณ์ กลุ่มชาย 30 คนที่เป็นกำลังหลักของเสียงร้องมีช่วงอายุหลากหลาย สงครามนากอร์โน-คาราบัคครั้งนั้นผ่านมาแล้ว 20 กว่าปี ผมสงสัยเหลือเกินว่าชายกลางคนและผู้สูงอายุเคยวิ่งหนีกระสุนด้วยหรือเปล่า? ส่วนเด็กหนุ่มที่เกิดไม่ทันพวกนั้นเล่า มีญาติพี่น้องเสียชีวิตจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติครั้งนั้นหรือไม่?
อากาศหนาวบรรเทาลงได้บ้างด้วยชาร้อนจากลุงผู้ถือกระติกเดินตะโกน “ชัยๆๆ” ทั่วสนาม ผมพักสายตาจากเกมฟุตบอล จิบชาพร้อมและหวนคิดไปถึงหลุมศพทหารอาเซอร์ไบจานเรียงรายริมทะเลสาบแคสเปียนที่ Martyrs’ Alley ที่ผมไปเยี่ยมมาเมื่อวานนี้ ความแปลกตาของหลุมศพชาวอาเซอร์ไบจานคือการมีรูปเจ้าของหลุมติดไว้ด้วย ทหารที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนั้นส่วนใหญ่อายุราว 20 ต้น ๆ และใบหน้าของพวกเขาก็เยาว์วัยเหมือนกับเด็กหนุ่มที่ถอดเสื้อร้องเพลงอยู่ข้างหน้าผมในตอนนี้
1 ปีให้หลังจากที่ผมไปเที่ยวอาเซอร์ไบจาน สงครามนากอร์โน-คาราบัค ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2563 สงครามเต็มรูปแบบครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตอีกรวมประมาณเกือบ 7,000 คน จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอาเซอร์ไบจานที่ยึดเอาดินแดนนากอร์โน-คาราบัคคืนมาได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งเมือง Agdam ของคาราบัค เอฟเค ที่กองกำลังอาร์เมเนียยึดและปล่อยทิ้งไว้เป็นเมืองร้างตั้งแต่ปี 2536
ประธานาธิบดีอิลฮาม อาลีเยฟ ไปเยือนเมืองร้างแห่งนั้นตอนปลายปี 2563 และประกาศว่าจะฟื้นฟูเพื่อให้ชาวเมืองกลับไปอาศัยได้ในเวลา 2-5 ปี ในตอนที่อ่านเจอข่าวนี้ ผมคิดถึงชีวิตของเพื่อนร่วมสนามของผมในวันนั้นอีกครั้งหนึ่ง
—————————————————————-