เว็บไซต์ www.ic3.gov ได้แจ้งเตือนถึงแนวโน้มการหลองลวงเรื่องความรักบนโลกออนไลน์จะมีมากขึ้น ด้วยการชักชวนเหยื่อให้ลงทุนสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) โดยระหว่าง 1 ม.ค.64 – 31 ก.ค. 64 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนอาชญากรรมทางไซเบอร์ของ FBI (IC3) ได้รับเรื่องร้องเรียนการหลอกลวงเรื่องความรักบนโลกออนไลน์ และมีมูลค่าความเสียหายถึง 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักต้มตุ๋นมักจะใช้การล่อลวงผ่านแอปพลิเคชันหาคู่และในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยจะสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อที่หลงกลจนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ และนักต้มตุ๋นจะสร้างเรื่องว่ามีความรู้เรื่องสกุลเงินดิจิทัลและจะล่อลวงให้เหยื่อมาลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร หลังจากที่เหยื่อได้ลงทุนเงินจำนวนแรกบนแพลตฟอร์มแล้ว นักต้มตุ๋นก็ยอมให้เหยื่อถอนเงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากเหยื่อมากขึ้น
หลังจากสำเร็จขั้นตอนแรก นักต้มตุ๋นจะแนะนำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อลงทุนมากขึ้นและเร่งให้ผู้ตกเป็นเหยื่อโอนเงินโดยเร็ว เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะเพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น แต่เมื่อเหยื่อต้องการถอนเงิน นักต้มตุ๋นก็จะสร้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ตกเป็นเหยื่อโอนเพิ่ม เช่น อ้างถึง ภาษี ค่าธรรมเนียม หรือยอดเงินในบัญชีขั้นต่ำไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้ถอนได้ เป็นต้น และเมื่อเหยื่อหยุดส่งเงินให้ ทางนักต้มตุ๋นก็จะหยุดติดต่อและหายไปในที่สุด
FBI ได้เสนอเคล็ดลับในการป้องกันพื้นฐานมีดังนี้
- อย่าส่งเงิน แลกเปลี่ยน หรือลงทุนตามคำแนะนำของผู้ที่เจอบนโลกออนไลน์
- อย่าเปิดเผยสถานะทางการเงินในปัจจุบันแก่บุคคลที่ไม่รู้จักและไม่น่าเชื่อถือ
- อย่าให้ข้อมูลธนาคาร หมายเลขประกันสังคม สำเนาบัตรประจำตัว หนังสือเดินทาง หรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อน แก่ใครก็ตามบนโลกออนไลน์หรือเว็บไซต์ที่ไม่ทราบว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
- เว็บไซต์เกี่ยวกับการลงทุนที่โปรโมตว่าได้กำไรมากมาย ให้สันนิษฐานไว้ว่าไม่ควรเชื่อถือเว็บไซต์นั้น
- ระมัดระวังบุคคลที่แอบอ้างอ้างว่ามีโอกาสลงทุนและได้ผลกำไรอย่างรวดเร็ว