เนปาลประเทศเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาหิมาลัย มีเพื่อนบ้านเพียง 2 ประเทศคือ อินเดีย และจีน ขนาดเศรษฐกิจของประเทศแห่งนี้ไม่ใหญ่มาก และถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อย หลายปีที่ผ่านมาเนปาลได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนมากจากภายนอก ทั้งจากเพื่อนบ้าน และองค์การระหว่างประเทศ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศแห่งนี้
แต่ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในหน้าประวัติศาสตร์โลก เพราะในช่วงปี 2539-2549 ประเทศแห่งนี้เกิดสงครามกลางเมืองที่เป็นการต่อสู้กันทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มนิยมระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง และขบวนการเคลื่อนไหวเหมาอิสต์ที่ต้องการเปลี่ยนให้ประเทศเป็นระบอบสังคมนิยม
การหยิบอาวุธขึ้นต่อสู้กันที่กินเวลาเกือบ 10 ปี ส่งผลให้ประเทศเนปาลถอยหลังเป็นอย่างมาก และประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมายมหาศาล กลายเป็นบาดแผลของหลายครัวเรือนที่ยังคงติดตรึงมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามหลังการเจรจาสมานฉันท์ และผลักดันให้ขบวนการเคลื่อนไหวเหมาอิสต์หันหน้ามาทำการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จหลังสิ้นสุดสงครามเย็น อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็งอกเงยในแผ่นดินแห่งนี้อย่างมาก ในหลายครั้ง หลายวาระพรรคฝ่ายซ้ายของเนปาลประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาล
เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2560 พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล – มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ (Communist Party of Nepal–Unified Marxist-Leninist (CPN-UML)) ซึ่งนำโดยนายKP Sharma Oli และพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล – เหมาอิสต์ (Communist Party of Nepal–Maoist Centre (CPN-MC)) ซึ่งนำโดย Pushpa Kamal Dahal ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้ง
โดยทั้ง 2 สองพรรคการเมืองสามารถมีเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภาเนปาลซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้นนักในระบบการเมืองของเนปาล ปัจจัยทางอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายของทั้ง 2 พรรคนำมาซึ่งการรวมตัวเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเนปาล (Nepal Communist Party (NCP)) ในปี 2561 ทำให้พรรคการเมืองถือเสียงข้างมากในสภาและสถาปนาอำนาจการเมืองฝ่ายซ้ายในเนปาลได้อย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตามด้วยความขัดแย้งภายในพรรค และการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรี KP Sharma Oli ส่งผลให้พรรคนี้แตกเป็นเสี่ยง ๆ และนำมาซึ่งวิกฤตทางการเมืองในประเทศเนปาล เกิดการแย่งชิงอำนาจของขั้วการเมืองต่าง ๆ ภายในพรรค ส่งผลอย่างมากต่อเสถียรภาพทางการเมืองในเนปาล
เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการฉวยโอกาสของนาย Sher Bahadur Deuba จากพรรคคองเกรสแห่งเนปาล (Nepali Congress Party) ที่ดึงขั้วตรงข้ามของอดีตนายกรัฐมนตรี KP Sharma Oli มาเป็นพวกได้สำเร็จ นำมาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้กลายเป็นดราม่าทางการเมืองเนปาลอย่างมาก และส่งผลต่อภาพรวมการผลักดันนโยบายตลอดหลายปีที่ผ่านมาของขั้วการเมืองฝ่ายซ้าย
การต่อสู้กันทางการเมืองของบรรดาผู้แทนราษฎรและผู้นำทางการเมืองในขั้วคอมมิวนิสต์นำมาซึ่งการเสื่อมศรัทธาต่อพรรคการเมืองกลุ่มนี้อย่างมาก ที่แย่ไปกว่านั้นคือประชาชนเนปาลต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่ต่อเนื่องของนโยบายต่าง ๆ ที่ยังคงถูกขัดขวางจากขั้วการเมืองเดิม
จริงอยู่ที่ว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในการเมืองเนปาล แต่ด้วยความขัดแย้งของบรรดาผู้นำในกลุ่มการเมืองส่งผลให้แนวคิดนี้ไม่ถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม เนปาลเผชิญปัญหาการทุจริตที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่งบประมาณด้านรัฐสวัสดิการยังไปไม่ถึงประชาชนเนปาลอีกจำนวนมาก
ยังไม่นับว่าปัญหาการเมืองในเนปาลนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างเนปาลกับเพื่อนบ้านอย่างจีนและอินเดีย สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่ตามมาหลังจากเกิดแผ่นดินไหวทางการเมืองในประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ และความไม่แน่นอนดังกล่าวก็ยังผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสภาวะการระบาดของโควิด19ด้วย
ผู้เขียน
นายศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน