คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ทำให้ไต้หวันก้าวหน้ากว่าใครในเอเชียในด้านความเท่าเทียมทางเพศ เพราะนำไปสู่การออกกฎหมายการสมรสของเพศเดียวกันฉบับแรกในเอเชีย ที่อนุญาติให้บุคคลที่มีเพศสรีระ (sex หรือการแบ่งคนเป็นหญิง-ชายตามหลักชีววิทยา) เดียวกันแต่งงานกันได้ คำตัดสินครั้งนั้นบอกว่าการห้ามการสมรสของเพศเดียวกันเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และขีดเส้นเวลากำหนดให้รัฐบาลไต้หวันต้องรีบดำเนินการให้คนที่มีเพศสรีระเดียวกันแต่งงานกันได้ภายใน ๒ ปี ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party-DPP) ของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ก็บังคับใช้กฎหมายที่ว่าเมื่อ 24 พฤษภาคม 2562 และชาว LGBT ของไต้หวันก็ตอบรับอย่างดีด้วยการแต่งงานกันตามกฎหมายดังกล่าวแล้วถึง 4,021 คู่ เป็นเพศสรีระชาย 1,248 คู่ และหญิง 2,773 คู่ (ข้อมูลเมื่อพฤษภาคม 2563)
เส้นทางของชัยชนะของกลุ่ม LGBT ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรค DPP ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งก็สอดคล้องกับอุดมการณ์และฐานเสียงทางการเมืองของพรรค DPP ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ขณะที่กลุ่ม LGBT ในไต้หวันก็รวมตัวเป็นองค์กรภาคประชาชนร่วมผลักดันการออกกฎหมาย เช่น เครือข่าย Taiwan Alliance to Promote Civil Partnership Rights (TAPCPR) และเครือข่าย Marriage Equality Coalition Taiwan
แต่ก็ใช่ว่าหนทางจะราบเรียบไร้อุปสรรค กลุ่มพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็เคลื่อนไหวขัดขวางมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน โดยมีแกนหลักเป็นกลุ่มองค์กรชาวคริสต์เคร่งศาสนา เช่น พรรค Faith And Hope League เครือข่าย Alliance of Taiwanese Religious Groups for Caring Family และองค์กร Happiness of the Next Generation Alliance ซึ่งมีทัศนคติว่ากฎหมายนี้ขัดกับค่านิยมดั้งเดิมของไต้หวัน ทำลายสถาบันครอบครัว ละเมิดสิทธิเด็กที่ถูกอุปการะ และเป็นสาเหตุของโรคติดต่อทางเพศ ฯลฯ แม้ว่าชาวคริสต์ในไต้หวันจะมีเพียงประมาณร้อยละ 5 ของประชากร 23.6 ล้านคน แต่สามารถรวมกลุ่มเข้มแข็งและเคลื่อนไหวโน้มน้าวประชาชนให้คล้อยตามได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความคิดค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม
กลุ่มชาวคริสต์เคร่งศาสนาประสบผลสำเร็จในการชี้นำความเห็นชาวไต้หวัน โดยจัดการเดินขบวนคัดค้านการสมรสของเพศเดียวกันเมื่อปี 2556 (มีผู้เข้าร่วมประมาณ 400,000 คน) และ 2559 (ครั้งนี้ประมาณ 200,000 คน) และความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือการที่องค์กรเคร่งศาสนา Happiness of the Next Generation Alliance ผลักดันให้ทางการไต้หวันจัดการลงประชามติได้สำเร็จเมื่อปี 2561 (หลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2560) ซึ่งผลปรากฏว่าชาวไต้หวันถึงร้อยละ 72.48 คัดค้านการสมรสของเพศเดียวกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลพรรค DPP ก็ตัดสินใจปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
ท่ามกลางบรรยากาศการเคลื่อนไหวต่อสู้กันอย่างดุเดือด ทั้งกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายมีต่างชาติสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยองค์กรเคร่งศาสนา Happiness of the Next Generation Alliance โจมตีว่ารักร่วมเพศเป็นแนวคิดของต่างชาติที่ขัดกับค่านิยมของไต้หวัน และมีองค์กรต่างชาติสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ขณะที่กลุ่ม LGBT กล่าวหาว่ากลุ่มคัดค้านได้รับการสนับสนุนจาก International House of Prayer, Witherspoon Institute และองค์กร MassResistance ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์กรอนุรักษ์นิยมคัดค้าน LGBT ของสหรัฐฯ
แต่เมื่อท้ายที่สุดแล้วการต่อสู้จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสนับสนุนการออกกฎหมาย ปรากฏว่าชาวไต้หวันมีทัศนคติที่ดีขึ้นกับกลุ่ม LGBT อย่างชัดเจน โดยผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื่อของไต้หวันเมื่อธันวาคม 2562 ระบุว่า ชาวไต้หวันร้อยละ 39.2 สนับสนุนการสมรสของเพศเดียวกัน และคัดค้านร้อยละ 33.5 ขณะที่ผลการสำรวจของเครือข่าย Equal Love Taiwan เมื่อ พฤษภาคม 2563 พบว่า ชาวไต้หวันร้อยละ 92.8 เห็นว่าการสมรสของเพศเดียวกันไม่ส่งผลกระทบใดต่อตนเอง และร้อยละ 50.1 เห็นว่าไม่กระทบต่อสังคม ส่วนผลการสำรวจของรัฐบาลไต้หวันเมื่อพฤษภาคม 2563 พบว่า ชาวไต้หวันร้อยละ 52.5 เห็นว่าคู่สมรสเพศเดียวกันควรมีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสต่างเพศ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37.4 เมื่อปี 2561 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ในสหรัฐฯ แคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่ประชาชนยอมรับการสมรสของเพศเดียวกันมากขึ้นหลังจากออกกฎหมายการสมรสของเพศเดียวกัน
การต่อสู้ของกลุ่ม LGBT ในไต้หวันยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากการสมรสของเพศเดียวกันในไต้หวันยังไม่ได้เป็นการ “สมรสเท่าเทียม” ที่เท่าเทียมกันทุกอย่างกับการสมรสของบุคคลที่มีเพศสรีระต่างกัน สิทธิบางประการของกลุ่ม LGBT ยังถูกจำกัด เช่น ไม่สามารถสมรสกับชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่ไม่มีกฎหมายการสมรสของเพศเดียวกัน และไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ (ยกเว้นกรณีเป็นบุตรโดยกำเนิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง) แต่ว่าเพียงเท่านี้ไต้หวันก็ก้าวหน้ากว่าใครในเอเชีย และการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมใหญ่ ๆ ของกลุ่ม LGBT เช่น Asia’s Gay Games และการเดินขบวน Pride Parade ที่มีผู้เข้าร่วมจากทั่วโลก ก็ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไต้หวันในฐานะประเทศประชาธิปไตย ที่เคารพความเท่าเทียมของมนุษย์และเสรีภาพทางเพศ