ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญีปุ่นกลับมาปะทุอีกครั้งหลังนาย โนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNN ถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความพยายามของจีนในการรุกล้ำเข้าไปในเขตหมู่เกาะเซ็งกากุ หรือที่จีนเรียกว่าหมู่เกาะเตียวหยู โดยหมู่เกาะดังกล่าวเป็นหมู่เกาะพิพาทระหว่าง 2 ประเทศมานาน
โดยความขัดแย้งระหว่างจีนและญี่ปุ่นเหนือหมู่เกาะนี้เริ่มมีความรุนแรงอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งในเวลานั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศย่ำแย่จนถึงขนาดมีชาวจีนออกมาเดินขบวนทั่วประเทศ และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยึดหมู่เกาะดังกล่าวคืนจากญี่ปุ่น มีการทำลายธุรกิจและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่ดำเนินการในจีนจำนวนมาก
ปัญหากรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะนี้เป็นผลมาจากมุมมองทางประวัติศาสตร์และข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่แตกต่างกันซึ่งนับย้อนไปได้ไกลถึงยุคราชวงศ์หมิงที่จีนระบุว่าจีนอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะดังกล่าวมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงในยุคสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 อันเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นใช้กำลังเข้ายึดหมู่เกาะดังกล่าว และมีการลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ในปี 2438
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นต้องคืนดินแดนจำนวนมากตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิให้กับจีน อย่างไรก็ตามหมู่เกาะที่เป็นปัญหานั้นเนื่องจากไม่อยู่ในสนธิสัญญาดังกล่าวส่งผลให้เกิดปัญหาอำนาจสิทธิของจีน และสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะผนวกรวมพื้นที่ดังกล่าวให้อยู่ในกำกับดูแลของตนหลังสงครามโลก ก่อนที่จะส่งคืนให้ญี่ปุ่นในปี 2514 อันนำมาซึ่งการพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่น
ในเวลานั้นทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และจีนไทเปต่างประท้วงเรื่องดังกล่าว และอ้างสิทธิของตัวเองเหนือหมู่เกาะดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจและการทหารที่ด้อยกว่าทำให้ทั้ง 2 จีนทำได้เพียงอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพิพาทเท่านั้น เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนขณะนั้นถึงกับกล่าวว่า “คงต้องปล่อยให้ลูกหลานของเรามาจัดการกับปัญหานี้”
และดูเหมือนว่าคำของเติ้งเสี่ยวผิงจะเป็นจริง เพราะนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ท่าทีของจีนก็ดูจะแข็งกร้าวต่อปัญหาหมู่เกาะแห่งนี้มากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเรือประมง และยามฝั่งเข้าไปในน่านน้ำทะเลอาณาเขตซึ่งญี่ปุ่นอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะแห่งนี้ ทำให้รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นออกมาปรามจีนว่าการกระทำดังกล่าวมีแต่จะบั่นทอนความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติ
แต่สำหรับจีนแล้วจีนมองว่านี่คือสิทธิโดยธรรมชาติ และเมื่อไม่นานมานี้จีนพึ่งมีการแก้ไขกฎหมายยามฝั่งซึ่งจะเปิดทางให้เกิดการปฏิบัติการในการสำรวจพื้นที่และรักษาความปลอดภัยในบริเวณจีนตะวันออกมากยิ่งขึ้น ลักษณะเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและญี่ปุ่นในอนาคต และที่สำคัญคือจะส่งผลโดยตรงต่อไต้หวันด้วย เพราะไต้หวันเองก็อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นความร้อนแรงต่อประเด็นปัญหาพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู/เซ็งกากุจะยังคงเป็นเชื้อไฟและขวากหนามชิ้นใหญ่ในความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ต่อไป และจะนำพาให้ความสัมพันธ์ 2 ชาติเดินไปได้อย่างไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก ในสภาพที่ญี่ปุ่นพยายามร่วมมือกับกลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย) เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีน
ผู้เขียน
นายศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน