(การระบาดของ COVID-19: ทฤษฏีหงส์ดำหรือแรดเทา ?)
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แพร่ระบาดเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปลายปี 2562 และยังไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆ ซึ่งนักวิชาการมากมายทั่วโลกพยายามจะอธิบายการเกิดการระบาดของ COVID-19 ด้วยทฤษฎีต่างๆ ซึ่งหนึ่งในทฤษฎีที่ถูกนำมาอธิบายเป็นวงกว้างคือ ทฤษฎี “หงส์ดำ” หรือ “Black Swan” ที่หลายๆ คนคงคุ้นหูกันดี โดยนาย Nassim Nicholas Taleb นักเขียน และอดีตนักวิเคราะห์ความเสี่ยงในภาคการเงินชาวเลบานอน คิดค้นทฤษฎีหงส์ดำเมื่อปี 2550 โดยเสนอว่า มนุษย์ไม่คาดคิดว่ามีหงส์ดำอยู่จริงบนโลก จึงเข้าใจว่าหงส์ต้องเป็นสีขาว จนกระทั่งนาย Willem de Vlamingh นักสำรวจชาวดัตช์ พบหงส์ดำในออสเตรเลียตะวันตกเมื่อปีคริสต์ศักราช 1697 จึงเปรียบทฤษฎีหงส์ดำว่า เป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ หรือไม่มีข้อมูลในอดีตที่จะบ่งชี้การเกิดขึ้น อีกทั้งมีผลกระทบรุนแรง ซึ่งดูเหมือนว่า ทฤษฎีดังกล่าว จะตรงกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ หรือไม่มีข้อมูลในอดีตที่จะบ่งชี้การเกิดขึ้น อีกทั้งมีผลกระทบรุนแรง แต่แท้จริงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎี ที่น่าจะสามารถอธิบายการระบาดของ COVID-19 ได้เป็นจริงมากกว่าทฤษฎีหงส์ดำ นั่นก็คือ ทฤษฎีแรดเทา หรือ Grey Rhino
ทฤษฎีแรดเทา เป็นทฤษฎีที่ Michele Wucker นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหราชอาณาจักร นำเสนอครั้งแรกในการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2556 โดยชี้ว่า แรดสายพันธุ์ที่มีสีขาว ไม่ได้เป็นสีขาวชัดเจนจนเห็นได้ชัด ขณะที่แรดสายพันธุ์สีดำ ก็ไม่ได้เป็นสีดำชัดเจนอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกันว่า แรดทั้งหมดเป็นสีเทา แต่แท้จริงแล้วแรดทั้งหมดดูคล้ายกันเป็นสีเทาเท่านั้น ซึ่งมนุษย์แยกแยะไม่ออก เปรียบเสมือนการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ที่มีผลกระทบรุนแรง หรือมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก แต่ผู้นำองค์กรหรือรัฐบาลกลับแยกแยะไม่ออก หรือมองไม่เห็นสัญญาณ หรือมองเห็น แต่คิดว่าไม่สำคัญและไม่ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งที่สามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นได้ จึงละเลยและมองข้ามการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
ทฤษฎีแรดเทา อธิบายการเกิดการระบาดของ COVID-19 ได้ดีกว่าทฤษฎีหงส์ดำเพราะ โรค COVID-19 ไม่ได้เกิดขึ้นนอกเหนือการคาดการณ์ โดยมนุษย์เคยเผชิญการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อที่เป็นการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เช่น กาฬโรค และไข้หวัดสเปน มาแล้ว อีกทั้งเคยเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ได้แก่ โรคซาร์ส และเมอร์ส มาแล้วเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย จีน ในช่วงแรก ผู้นำและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรับรู้ถึงการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ แต่ละเลย อีกทั้งไม่สามารถพิจารณาคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า โรค COVID-19 จะแพร่ระบาดจนเป็น Pandemic และส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก
นอกจากนี้ ผู้นำและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ยังมองข้ามข้อมูลพื้นฐานสำคัญ อาทิ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะสามารถขยายเป็น Pandemic ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ความเชื่อมโยงด้านการขนส่งมีความสะดวกสบายมากกว่าการเกิด Pandemic ในอดีต จึงไม่มีมาตรการป้องกันการระบาดด้วยการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ และเมื่อการแพร่ระบาดขยายทั่วเอเชีย และประเทศตะวันตกมองว่าโรค COVID-19 เกิดขึ้นเพียงในเอเชียเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาของประเทศตะวันตก จึงเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างทั่วโลก เกิดการกลายพันธุ์ ส่งผลกระทบรุนแรงและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายมิติ ทั่วโลก รวมถึงยังไม่สามารถควบคุมได้จนถึงกลางปี 2564
แม้มนุษย์จะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 ได้อีก แต่ทฤษฎีแรดเทา หรือ Grey Rhino น่าจะทำให้ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ผู้บริหารประเทศ และรัฐบาลทั่วโลก เรียนรู้ที่จะให้ความสนใจ ไม่ละเลย และไม่มองข้าม “ปัญหาเล็กๆ” หรือ “ปัญหาที่ยังเกิดขึ้นอย่างไม่ชัดเจน” มากขึ้น เพื่อหาแนวทางในการป้องกันสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบรุนแรงต่อองค์กร ประเทศชาติ ภูมิภาค และโลกในท้ายที่สุด เหมือนกับวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้
———————————-