เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา พันธมิตรสี่ชาติ หรือ The QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ได้มีการประชุมกันของผู้นำระดับสูงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
แถลงการณ์ร่วมระหว่างสี่ชาติได้เน้นย้ำให้เห็นถึงเป้าหมายความร่วมมือกันโดยเฉพาะความพยายามในการผลักดันเรื่องการเปิดเสรีในการเดินเรือของพื้นที่อินโด-แปซิฟิก และการสร้างความมั่นคงร่วมกันในการปกป้องภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเสรีภาพในการเดินเรือและสำรวจ
ที่สำคัญไปกว่านั้นแถลงการณ์ร่วมนี้ยังให้ความสำคัญอย่างมากถึงบทบาทของอาเซียนภายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจภายในภูมิภาค
ทั้งนี้ประเด็นพูดคุยหลักของการพบปะกันของบรรดาผู้นำระดับสูงทั้งสี่ชาติในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การร่วมกันแก้ไขปัญหาโควิด 19 โดยเฉพาะข้อตกลงที่จะร่วมกันบริจาควัคซีนให้กับชาติอื่น ๆ ทั่วโลก การหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนประเด็นเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์และเทคโนโลยี
ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสี่ชาติยังเห็นพ้องกันที่จะร่วมพัฒนาข้อเสนอทางเลือกในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปที่คุณภาพ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ G-7
แม้ว่าในการพูดคุยกันมีการอธิบายถึงภัยคุกคามร่วมกันของทั้งสี่ชาติ แต่ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นประเทศใดเป็นการเฉพาะ แต่สามารถเข้าใจได้ว่าภัยคุกคามที่ว่านั้นคือจีน ซึ่งปัจจุบันขยายอิทธิพลอย่างมากในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการจัดตั้ง The QUAD มีเป้าหมายสำคัญเพื่อปิดล้อม และลดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ที่ปัจจุบันขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาผ่านข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt & Road Initiative-BRI) ซึ่งก่อให้เกิดกับดักหนี้ในหลายประเทศ ซึ่งเอื้อให้จีนเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองในประเทศเหล่านั้นภายหลังไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้
คำถามคือการประชุมในครั้งนี้จะนำพา The QUAD ไปในทิศทางใด โดยเฉพาะนัยต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่นับวันการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อฉกฉวยผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ จนนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเป็นสภาพกึ่งสงครามเย็น
หากวิเคราะห์ถึงการประชุมครั้งล่าสุดอาจกล่าวได้ว่าเราได้เห็นถึงความทะเยอทะยานของบรรดาผู้นำในกลุ่มนี้มากขึ้นที่จะสร้างช่องทางในการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการมากยิ่งขึ้น เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาค
ลักษณะเช่นนี้อาจนำพาให้กรอบความร่วมมือ The QUAD ขยายสมาชิกภาพ หรือมีพัฒนาการความเป็นสถาบันได้ในอนาคต ซึ่งจะไปไกลกว่าการพูดคุยประจำปีเพื่อสร้างเป้าหมายร่วมกัน แต่เรื่องดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาอีกยาวไกลพอสมควร
ที่สำคัญกว่านั้นการพูดคุยหลัก ๆ ของ The QUAD ยังคงจำกัดวงอยู่เพียงไม่กี่ประเด็นทางด้านความร่วมมือเท่านั้น หรือแม้กระทั่งในประเด็นความมั่นคงก็ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนร่วมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงในภูมิภาคไม่เหมือนกัน
ฉะนั้นความร่วมมือในมิติความมั่นคงนั้นยังขยับไปไม่มากนัก และทุกประเทศยังคงหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงจีนอย่างตรงไปตรงมา เพราะทุกประเทศต่างมีผลประโยชน์ร่วมกับจีนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอินเดียที่มีพรมแดนติดกับจีนชาติเดียวในกลุ่ม ย่อมมีความระมัดระวังอย่างยิ่งต่อการกล่าวถึงจีน
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากข้อเสนอด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มนี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะยังโอกาสและเป็นทางเลือกสำคัญให้ประเทศภายในภูมิภาคที่ปัจจุบันมีทางเลือกอย่างจำกัดส่งผลให้ต้องยอมรับข้อเสนอการลงทุนของจีน
นับจากนี้ไปการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ซึ่งการวางท่าทีของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง และต้องรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคในอนาคต
ผู้เขียน
นายศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน