หลายท่านอาจได้มีโอกาสอ่านข่าวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาไฟฟ้าดับในจีน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1 ต.ค.64 เป็นช่วงที่ชาวจีนกำลังเฉลิมฉลองวันชาติ ที่ผ่านมาไม่กี่สัปดาห์นี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายมณฑลของจีนพร้อม ๆ กัน ในหลายพื้นที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าที่ระบบไฟฟ้าจะกลับมาเป็นปกติ
แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในจีน ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน หรือภาคเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยไฟฟ้าในการเดินสายการผลิตสินค้า และด้วยจีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในจีนจึงส่งผลกระทบต่อระบบสายพานการผลิตทั้งโลก
คำถามจึงอยู่ที่ว่าอะไรเป็นเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาในประเทศจีนในช่วงเวลานี้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนจีน เพราะนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา ไปจนถึงวันที่ 7 ถือเป็นเทศกาลหยุดยาวของชาวจีนเพื่อฉลองวันชาติ การเกิดไฟดับในช่วงเวลานี้จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนจีนจำนวนมากที่หยุดอยู่บ้าน
ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวอาจสามารถวิเคราะห์และแจกแจงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในจีนได้ดังนี้
1. ปัจจัยแรกซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ไฟฟ้าในจีนคือความต้องการใช้ไฟฟ้าของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วในปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ๆ โดยข้อมูลของสำนักบริหารกิจการพลังงานแห่งชาติจีน ระบุว่าเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาความต้องการใช้ไฟฟ้าของจีนเติบโตมากถึงร้อยละ 14
ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์โควิด 19 ในหลายประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายการสั่งซื้อสินค้าของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมของจีนจึงกลับมาคึกคักอีกครั้ง
โดยเฉพาะความต้องการใช้โลหะสำคัญอย่าง ทองแดงและอลูมิเนียม ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสินค้าดังกล่าว ดังนั้นผู้ผลิตจึงมีแนวโน้มที่จะผลิตมากขึ้น นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างมากในตลาดไฟฟ้า เพราะอุตสาหกรรมหนักเหล่านี้ใช้ไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 40-50 ของกำลังการผลิตทั้งหมด
2. ราคาถ่านหินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ เพราะจีนพึ่งพากำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินมากถึงร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั้งหมด การปรับตัวของราคาถ่านหินทั้งภายในและภายนอกประเทศส่งผลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องแบบรับการขาดทุนเป็นจำนวนมาก
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายในการตรึงราคาไฟฟ้าไม่ให้ขึ้นสูงเกินความจำเป็นเพื่อไม่เพิ่มต้นทุนการผลิตให้ภาคเอกชน แต่ปีที่ผ่านมาราคาถ่านหินปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดถ่านหินที่สำคัญของจีน
ฉะนั้นยิ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตถ่านหินออกมามากเท่าไหร่ โรงไฟฟ้าเหล่านั้นก็จะยิ่งขาดทุนเพิ่มยิ่งขึ้นจากราคาต้นทุนถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน
สุดท้าย 3. นโยบายสิ่งแวดล้อมของจีน ส่งผลให้จีนลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน รวมถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหินภายในประเทศ เพราะในทางทฤษฎีแล้วจีนไม่น่าเผชิญสภาพการขาดแคลนไฟฟ้า เพราะจีนมีถ่านหินสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่ด้วยมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของจีนส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นหลายมณฑลพยายามจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินซึ่งปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นจำนวนมาก ลักษณะเช่นนี้ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลัง
ฉะนั้นปัจจัยทั้งสามนี้ถือเป็นต้นตอหลักของปัญหาไฟฟ้าดับในจีน แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของจีน รวมถึงห่วงโซ่อุปทานโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตามไฟฟ้าดับในจีนรอบนี้นำมาซึ่งข้อถกเถียงมากมายในวงวิชาการ และภาคเศรษฐกิจของจีนโดยเฉพาะประเด็นเรื่องราคาไฟฟ้าที่ควรมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงการผลักดันให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทนไฟฟ้าที่หายไปในระบบการผลิต
นับจากนี้อาจต้องจับตานโยบายพลังงานของจีน เพราะจีนได้ให้คำมั่นกับนานาชาติแล้วว่าจะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทั้งยังระบุว่าจะไม่สนับสนุนโครงการลงทุนด้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย
ผู้เขียน
นายศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน