ประชาชนในกรุงเทพมหานครเผชิญกับความหวาดหวั่นกับสถานการณ์น้ำท่วม หลังจากปริมาณน้ำในแม่น้ำสาขาลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เอ่อท่วมหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความกังวลว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพมหานครเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2554 แต่กรมชลประทานได้ให้ข้อมูลว่าสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2564 มีความแตกต่าง เนื่องจากยังมีระบบชลประทานที่สามารถรองรับน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนที่ยังสามารถจุน้ำได้อีกร้อยละ 53 ของปริมาณที่เขื่อนจะรับได้ (24,783 ลูกบาศก์เมตร) การผันน้ำยังแม่น้ำหรือคลองทางฝั่งทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร และการกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิงและทุ่งรับน้ำ
จากมหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้สร้างมูลค่าความเสียหายกว่า 1.4 ล้านล้านบาท จากการที่น้ำท่วมเข้าหลายพื้นที่ ทั้งชุมชน หมู่บ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรกรรม สนามบิน และพื้นที่หลายส่วนของกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น จึงได้มีการทำแผนการรับมือน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างคลองระบายน้ำหลีกเลี่ยงศูนย์กลางเมือง การสร้างคันกั้นน้ำตลอดแนวแม่น้ำ สร้างพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่ที่ทุ่งบางระกำ จังหวัดสุโขทัย และกำหนดพื้นที่รับน้ำ 12 ทุ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงที่น้ำมีปริมาณมาก เพื่อรอระบายลงสู่ทะเลต่อไป
ที่จริงแล้ว ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น “พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม” โดยธรรมชาติ ด้วยลักษณะตามธรรมชาติของแม่น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นแม่น้ำที่เกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำหลายสายที่มีแหล่งต้นน้ำจากเทือกเขาในภาคเหนือที่มีความลาดชัน เมื่อไหลรวมกันสู่พื้นที่ราบภาคกลาง ทำให้น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ที่มีความลาดชันลดลงแผ่ขยายออกบริเวณกว้างขึ้น ประกอบกับตะกอนในแม่น้ำที่ไหลช้าลง ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านที่ราบลุ่มภาคกลางมีลักษณะตื้นกว่าแม่น้ำสาขาในภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังมีปริมาณน้ำที่เยอะและมีขนาดแม่น้ำกว้างกว่า เชื่อมต่อกับคลองอีกหลายสายในพื้นที่ภาคกลาง ทำให้พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วมโดยธรรมชาติ และน้ำท่วมในแต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายได้มาก เนื่องจากมีกิจกรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้นตลอดแนวลำน้ำที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นที่ตั้งของพื้นที่เกษตรกรรม เมือง และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ
เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้นจะไหลเข้าพื้นที่ทุ่งนา เกษตรกรในอดีตจะปรับตัวด้วยการทำการปลูกข้าวฟางลอย หรือข้าวพันธุ์ที่มีลำต้นสูงพ้นระดับน้ำ และใช้เรือในการสัญจรหรือพายเรือเกี่ยวข้าวในทุ่งนาที่น้ำท่วม พื้นที่ทุ่งนาเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนแก้มลิงตามธรรมชาติ และถูกพัฒนาเป็น “ทุ่งรับน้ำ” ปัจจุบันมี 12 ทุ่ง ตลอดน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท ถึงจังหวัดนนทบุรี รวมพื้นที่ 1,149,898 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ 1.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการกักเก็บน้ำจำเป็นต้องมีการสร้างกำแพงกันน้ำรอบทุ่งรับน้ำ เพื่อใช้ในการควบคุมระดับน้ำ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นทางสัญจรได้เมื่อน้ำท่วม เนื่องจากมีระดับสูงกว่าระดับน้ำท่วม รวมถึงการกำหนดแผนการเพาะปลูก ให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้ 2 รอบ ได้แก่ เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม และช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน และปล่อยน้ำเข้าทุ่งในช่วงปลายเดือนกันยายน-มกราคม เพื่อกักเก็บน้ำ ร่วมกับการส่งเสริมการทำประมงในช่วงที่มีน้ำอีกด้วย
“ทุ่งรับน้ำ” จะมีประสิทธิภาพเมื่อมีการกั้นกำแพงกันน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำในแม่น้ำไม่ไหลเข้าทุ่งก่อนระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้น้ำไม่สามารถท่วมทุ่งนาได้ก่อนถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยว แต่ทั้งทุ่งรับน้ำและกำแพงกันน้ำก็ไม่เพียงพอต่อการทำให้ทุกชุมชนปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วม เนื่องจากวิถีชีวิตเดิมของชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะนิยมตั้งบ้านริมน้ำ ทำให้ชุมชนริมน้ำที่อยู่ระหว่างกำแพงกั้นน้ำและแม่น้ำต้องเผชิญกับน้ำท่วมอยู่เสมอ ๆ แม้จะเป็นบ้านยกใต้ถุนสูงและมีเรือสำหรับการสัญจร แต่น้ำท่วมก็ยังสร้างความลำบากให้กับชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดลำน้ำ
นอกจากการปรับปรุงรูปแบบบ้านและการสัญจร เกษตรกรบริเวณทุ่งรับน้ำต้องปรับตัวเรื่องวิธีการสร้างผลผลิตด้วย เพราะสำหรับพื้นที่นาในทุ่งรับน้ำ จำเป็นต้องแบ่งช่วงเวลาในการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับการกักเก็บน้ำ เพราะทำให้ไม่สามารถทำนาได้ตลอดทั้งปีเหมือนพื้นที่อื่นในที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งโดยปกติจะเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินและน้ำ ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ดี ชาวนาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำต้องทำเกษตรกรรมอย่างมีแบบแผน และเผชิญความเสี่ยงสูงกว่า เพราะแม้ว่าแผนการเพาะปลูกกำหนดแนวทางให้ทุ่งรับน้ำสามารถเพาะปลูกได้ก่อนพื้นที่อื่น ๆ แต่หากปีไหนแล้ง น้ำในเขื่อนเหลือน้อย จำเป็นต้องสำรองน้ำไว้เพื่อกิจกรรมอื่นๆ เช่น การอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม และการดันน้ำเค็ม ก็จะไม่สามารถผันน้ำเข้าทุ่งได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้การเพาะปลูกล่าช้า เกษตรกรต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะไม่สามารถเกี่ยวข้าวได้ทันก่อนที่จะมีการปล่อยน้ำเข้าทุ่ง ทำให้สูญเสียรายได้ไป
แม้ว่าทุ่งรับน้ำสามารถช่วยลดความเสียหายของน้ำท่วมได้ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ชุมชนในพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปทั้งการดำรงชีวิตซึ่งสัมพันธ์การประกอบอาชีพ ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่เกษตรที่น้ำท่วมเป็นประจำให้เป็น “ทุ่งรับน้ำ” ที่ควบคุมน้ำได้เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อื่นๆ จำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชน และให้ความสำคัญกับ “คน” ในพื้นที่รับน้ำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ต่างกับพื้นที่อื่น ๆ
นอกจากนี้ เราควรต้องพึงตระหนักเสมอว่า “ทุ่งรับน้ำ” เป็นหนึ่งในระบบชลประทานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่การบริหารจัดการน้ำยังต้องพึ่งระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้คนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่จะต้องรับผิดชอบดูแลแหล่งน้ำเป็นระบบนิเวศร่วมกัน โดยเฉพาะในยุคที่ความแปรปรวนของสภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมนุษย์ เช่น ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำ แผ่นดินทรุดเนื่องจากการเจาะน้ำบาดาลใช้ ทำให้อุทกภัยรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน แต่ละพื้นที่ยังคงมุ่งป้องกันไม่ให้ท่วมเข้าพื้นที่ตนเอง และแน่นอนว่าต้องมีพื้นที่อื่นๆ ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำแทนอีกต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ถึงจะลดความเสียหายจากอุทกภัยได้ เราจึงอาจต้องมองการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหม่ โดยไม่ใช่แค่การกีดกันน้ำออกไปจากพื้นที่ แต่อาจเป็นการปรับวิถีชีวิตให้อยู่ร่วมกับวัฏจักรของน้ำด้วยความเข้าใจในธรรมชาติมากขึ้นนั่นเอง
————————————————————–