ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นจนแตะ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/ บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Brent ในทะเลเหนือ ปรับขึ้นแตะระดับ 83 ดอลลาร์สหรัฐ/ บาร์เรล เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2564 โดยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันแล้ว และยังเป็นขาขึ้นที่ติดต่อกันยาวที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นที่เหลือเชื่ออย่างมาก เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อปี 2563 ยังเคยลงไปติดลบอย่างรุนแรง แต่เวลาผ่านไปไม่นานกลับดีดขึ้นมาทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 7 ปี ท่ามกลางวิกฤติพลังงานทั่วโลกที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
การปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดังกล่าว รวมถึงวิกฤตด้านพลังงานของโลก เกิดมาจากสาเหตุสำคัญทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน โดยในฝั่งอุปสงค์ เกิดวิกฤตความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่สูงขึ้นอย่างมาก จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากพิษ COVID-19 ในหลายประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งความต้องการพลังงานในเอเชีย โดยจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคพลังงานขนาดใหญ่ของโลก กำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก เพราะเมื่อต้นปี 2564 จีนเกิดข้อพิพาทกับทางออสเตรเลีย ทำให้หยุดการนำเข้าถ่านหิน ต่อมารัฐบาลจีนยังคุมเข้มการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ทำให้มีการปราบปรามเหมืองถ่านหิน จนมีถ่านหินไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตบางส่วน ขณะเดียวกัน ยังเกิดปัญหาไฟดับในหลายพื้นที่ ด้านประเทศตะวันตก ก็เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องจากการเกิดพายุในสหรัฐฯ ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก นอกจากนี้ การที่ทั่วโลกกำลังขาดแคลนไฟฟ้าในหลายพื้นที่ ยังผลักดันให้ราคาก๊าซธรรมชาติในหลายภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงอีกด้วย
สำหรับฝั่งอุปทาน กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลก ได้แก่ กลุ่มโอเปก (OPEC) และพันธมิตร รวม 23 ประเทศ หรือ OPEC+ ยังคงรักษาโควตาการผลิตน้ำมันไว้อย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยให้มีน้ำมันดิบไหลเข้ามาบรรเทาตลาดที่ตึงตัวอย่างมาก แม้ประเทศผู้ใช้น้ำมันติดอันดับแรกๆ ของโลกอย่างสหรัฐฯ และอินเดีย จะพยายามโน้มน้าว OPEC+ ให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลกแล้วก็ตาม
สำหรับไทย ราคาน้ำมันของไทยก็ปรับขึ้นตามตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันถึง 7 ครั้ง จึงกระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจและค่าครองชีพของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังชะลอตัว การท่องเที่ยวที่ยังคงไม่กลับมาคึกคักได้เหมือนก่อนการระบาดของ COVID-19 พร้อมความเสี่ยงที่ยังรุมเร้ารอบด้าน ทำให้เศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องใช้เวลากระตุ้นเยียวยาต่อไปอีกระยะจนกว่าจะกลับมาฟื้น ซึ่งเมื่อเกิดแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นเร็วและแรง จึงเป็นที่น่าห่วงกังวลว่าจะฉุดเศรษฐกิจไทยให้ดิ่งลงซ้ำอีก นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงยังทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานของไทย ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นในอัตราเร่งอีกด้วย
วิกฤตด้านพลังงาน รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในครั้งนี้ อาจสามารถทุเลาลงได้ หาก OPEC+ เพิ่มกำลังการผลิตให้เท่าทันกับความต้องการที่สูงขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดพลังงานโลก แต่หากยังไม่มีท่าทีจะเพิ่มน้ำมันออกสู่ตลาดโลก ก็มีโอกาสสูงทีเดียว ที่เราอาจจะเห็นราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ภายในสิ้นปี 2564 เพราะทั่วโลกมีแนวโน้มจะยังเผชิญปัญหาด้านอุปทานที่จะชะลอลงจากปัญหาพายุเฮอร์ริเคน ภาวะติดขัดด้านการขนส่ง การเข้าสู่ฤดูหนาว ตลอดจนการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลที่ลดลง ซึ่งทำให้อาจเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานยืดเยื้อได้ ส่วนในไทยเอง แม้รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะมีมาตรการออกมาคุมราคาพลังงานแล้ว แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอีก อาจต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในยามวิกฤต COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย
—————————————-