ประชาคมข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ (Intelligence Community-IC) กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากในการทำงาน ทั้งต้องต่อต้านข่าวกรองต่างประเทศจากนานาชาติที่จ้องจะไขความลับในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ และก็ยังต้องพิสูจน์ทราบที่มาที่ไปของโรคระบาดและโรคประหลาดที่เป็นภัยคุกคามของชาวอเมริกันทั้งในประเทศและในต่างประเทศ แม้ว่าการติดตามประเด็นโรคระบาดจะไม่ใช่ภารกิจใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ก็เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่และโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว เห็นได้จากมีการรายงานเกี่ยวกับโรคระบาดในแต่ละพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณางบประมาณดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ เป็นระยะ ๆ แต่การยกระดับประเด็นดังกล่าวมาเป็น priority ในการทำงานไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ
ความท้าทายใหม่ของ IC ครั้งนี้มาจากคำสั่งโดยตรงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ให้หน่วยข่าวกรองรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร และความคิดเห็นของหลาย ๆ ฝ่ายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของโรคระบาดที่เป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของชาวอเมริกัน และรายงานโดยตรงต่อรัฐบาล รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลบางส่วนต่อสาธารณะด้วยเพื่อความโปร่งใส นอกจากนี้ IC ยังต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า โรคที่เป็นภัยคุกคามต่อชาวอเมริกันนี่เป็น “ความตั้งใจ” ของประเทศคู่แข่ง หรือเป็น “ความบังเอิญ” ตามธรรมชาติอีกด้วย
โรคระบาดที่ว่านี้ก็คือ COVID-19 ที่ทั่วโลกคุ้นเคย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่ามันมาจากไหน คนหนึ่งที่ไม่ปล่อยผ่านเรื่องต้นกำเนิดของโรค COVID-19 ก็คือประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ยังคงตั้งข้อสังเกตเรื่อย ๆ ว่าต้นกำเนิดของโรค COVID-19 นี้ต้องมาจากจีน ไม่ว่าจะมาจากสัตว์ทดลอง หรือมาจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของนักวิจัยชั้นนำของจีนในเมืองอู่ฮั่น ..ซึ่งเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่มีรายงานว่าพบการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
ความหวังดีที่จะศึกษาต้นกำเนิดของเชื้อโรคร้ายนี้อย่างจริงจังก็เพื่อประโยชน์ในการหาทางแก้ไขและปกป้องมวลมนุษยชาติ…ประกอบกับเป้าหมายแอบแฝงของผู้นำสหรัฐฯ ที่ต้องการทำให้จีนดูไม่น่าไว้วางใจในสายตาประชาคมระหว่างประเทศ ทำให้มีคำสั่งการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ให้ IC ไปหาคำตอบให้ได้ภายใน 90 วัน และเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 IC ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบแล้วอย่างเป็นทางการ ว่า “ยังไม่มีข้อสรุป” ที่ชัดเจนว่าโรค COVID-19 มีต้นกำเนิดจากอะไร …การที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แปลว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ยังต้องเดินหน้าภารกิจหาต้นกำเนิดของโรค COVID-19 และอาจเป็นเหตุผลให้หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ต้องหาเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายมากขึ้น โดยอาจเปิดรับผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ สาธารณสุขและโรคระบาด เพื่อทำภารกิจสอบสวนการระบาดของโรค (Outbreak Investigation) ไปด้วย
ส่วนโรคประหลาดที่เป็นอีก 1 ความท้าทายของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันในต่างประเทศ และยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ชัดเจนว่ามีต้นเหตุมาจากอะไร ก็คือ “ฮาวานา ซินโดรม” หรือ Havana Syndrome กลุ่มอาการเจ็บป่วยทางร่างกายที่ส่งผลต่อประสาทสัมผัส โดยเฉพาะการได้ยิน ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนหัว และสูญเสียการทรงตัวเฉียบพลัน คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัวรุนแรง และหูอื้อ ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลและวินิจฉัยผู้ป่วยกลุ่มอาการดังกล่าวคาดว่า อาจเกิดจากการได้ยินเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง
มีรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยอาการดังกล่าวครั้งแรกเมื่อปี 2559 ผู้ป่วยเป็นเจ้าหน้าที่การทูต และเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency-CIA) ที่ทำงานอยู่ในคิวบา จากนั้นก็มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มีอาการป่วยแบบ Havana Syndrome อย่างต่อเนื่อง และไม่ได้อยู่ในคิวบาที่เดียว โดยมีรายงานเกี่ยวกับ Havana Syndrome ที่จีน รัสเซีย โปแลนด์ จอร์เจีย ไต้หวัน เซอร์เบีย และเวียดนาม ล่าสุดมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ CIA ที่เดินทางเยือนอินเดียพร้อมคณะนายวิลเลียม เบิร์นส ผู้อำนวยการ CIA เมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 ก็มีอาการดังกล่าวด้วย เรียกได้ว่า อาการประหลาดที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระหว่างปฏิบัติงานในต่างประเทศนี้อาจทำให้ชาวอเมริกันหวาดระแวงไปแล้วว่าจะตกเป็นเป้าหมายของโรคไม่มีที่มาที่ไปนี้มากขึ้น
เรื่องแบบนี้จะมาเป็นภัยคุกคามบั่นทอนสุขภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในต่างประเทศไม่ได้!!แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่รอช้าอีกต่อไป โดยมีการสั่งการ (อีกแล้ว) ให้หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ตั้งทีม Joint Intelligence Community Council (JICC) สืบสวนเกี่ยวกับฮาวานา ซินโดรม หรือที่หน่วยข่าวกรองเรียกว่า “Anomalous Health Incidents” ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 และเมื่อ 8 ตุลาคม 2564 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีการเห็นชอบกฎหมายให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากอาการ Havana Syndrome จำนวนรวมประมาณ 200 คน หรือชื่อกฎหมาย Helping American Victims Afflicted by Neurological Attacks (HAVANA) Act
คาดว่า หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ จะต้องมีการรายงานผลการสืบสวนภายในปีนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้ และเพื่อให้เหล่า “ผู้ไม่หวังดี” ที่ได้ประโยชน์จากโรคประหลาดนี้เห็นว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการปกป้องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก
ความท้าทายเรื่องโรคระบาดและโรคประหลาดนี้น่าจะสร้างความปวดหัวให้หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ไม่น้อย แม้พวกเขาจะมีขีดความสามารถในการสืบหาข้อมูล มีเครือข่ายสายลับมากมาย และสามารถประสานงานกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิของประเทศได้ไม่ยาก แต่การค้นหาข้อเท็จจริงจากสิ่งที่วิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แถมมีการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้อง ควบคู่กับเจอแรงกดดันจากฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ที่ต้องการให้หน่วยข่าวกรองอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เรียกได้ว่า…เราควรจับตามองหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่กำลังจะต้องหาทางออกใหม่ ๆ จากสถานการณ์ที่ภัยคุกคามของประเทศขยายตัวจากเรื่องสายลับจากรัสเซีย ขีปนาวุธเกาหลีเหนือ นักธุรกิจจีน และผู้ก่อการร้ายจากตะวันออกกลางไปเป็นโหมดวิทยาศาสตร์และการแพทย์มากขึ้น…ซึ่งจะสะท้อนการปรับตัวขององค์กรในยุคที่โรคระบาดได้กลายเป็น top priority ด้านความมั่นคงไปแล้ว
———————————————————