ไทยและประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือประเทศ CLMVT คุ้นชินกับโครงการ BRI ของจีนเป็นอย่างดี แต่ล่าสุด การที่กลุ่ม G-7 ประกาศโครงการ 3BW หรือ Building Back Better World เมื่อกลางปี 2564 ซึ่งเป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมด้านดิจิทัล ลดโลกร้อน สาธารณสุข และความเท่าเทียมทางเพศ ในประเทศกำลังพัฒนา ก็กลายเป็นการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และพันธมิตรครั้งใหม่ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มประเทศ CLMVT
การแข่งขันของความริเริ่ม BRI และ 3BW มีแนวโน้มจะสร้างความซับซ้อนและความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศมหาอำนาจของ CLMVT หลังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลาย ซึ่งประเทศมหาอำนาจมีการแข่งขันอิทธิพลในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอยู่แล้วในหลายมิติ โดยจะส่งผลให้เกิดการแยกตัวออกจากกันของห่วงโซ่อุปทานโลกและภูมิภาค การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาดที่จะมีความแตกต่างกันออกเป็นสองค่ายระหว่างจีน และสหรัฐฯ กับพันธมิตร
3BW เป็นทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ CLMVT แต่ยังไม่น่าสนใจมากพอ เนื่องจากยังไม่เป็นรูปธรรม และสมาชิก G-7 มีความเห็นต่างกันตามผลประโยชน์แห่งชาติที่ต่างกัน ขณะที่มาตรฐานที่สูงและเงื่อนไขของ 3BW เช่น สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใส ประชาธิปไตย และสิ่งแวดล้อม อาจทำให้ CLMVT ยังสนใจร่วมมือกับ BRI ซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่า และมีเงื่อนไขน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม CLMVT ควรศึกษาข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลางว่า BRI ทำให้เกิดปัญหา เช่น กับดักหนี้ ปัญหาความโปร่งใส และความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด
แนวคิดของ G-7 ที่จะใช้ 3BW ต่อต้านจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรเผชิญความยากลำบาก เนื่องจากจีนมีความสำคัญด้านเศรษฐกิจต่อภูมิภาคอย่างมาก อีกทั้ง BRI 2.0 ยังเน้นการลงทุนที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น หาก G-7 ต้องการให้ CLMVT เข้าถึง 3BW จะต้องไม่มุ่งเน้นสกัดกั้นจีนในภูมิภาค แต่ต้องแสดงให้เห็นว่าได้ประโยชน์ เช่น ไม่มีเงื่อนไขแอบแฝง ตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติของ CLMVT ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ดำเนินโครงการตามที่เจรจากันให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และมีความยืดหยุ่นสูงในการเจรจาต่อรองกับ CLMVT
จากมิติใหม่ในการแข่งขันดังกล่าว CLMVT อาจรับมือด้วยการวางยุทธศาสตร์ ดังนี้
1) วางสถานะตนเองเป็นกลุ่มประเทศระดับภูมิภาคที่มีอำนาจระดับกลางและมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรองทั้งกับ BRI และ 3BW
2) เพิ่มการเชื่อมประสานกันทางยุทธศาสตร์ของประเทศ CLMVT โดยอาเซียนมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่แล้ว ก็ควรสร้างช่องทางในการสื่อสารที่เป็นเอกภาพ เพื่อเจรจากับมหาอำนาจและเพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาค
3) วางยุทธศาสตร์ในการลดการพึ่งพาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งจีนและสหรัฐฯ มากเกินไป และเพิ่มความร่วมมือกับภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น เช่น แอฟริกา และเอเชียใต้
4) แม้ CLMVT จะมีแรงจูงใจ เป้าหมาย และผลประโยชน์แห่งชาติต่างกัน แต่ต้องร่วมมือกันและร่วมกับประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อดำเนินนโยบายเชิงรุกในการสร้างอำนาจต่อรอง เชื่อมโยง และแสวงประโยชน์จากทั้ง BRI และ 3BW แบบสองทาง (Interactive) โดยไม่วางสถานะตนเองเป็นเพียงผู้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว
5) ควรคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงของภูมิภาคหลังยุคโรค COVID-19 ในระยะยาว โดยการที่ CLMVT ยังจะต้องพึ่งพาการช่วยเหลือทั้งด้านเงินทุนและด้านเทคนิคในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก จึงควรรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทั้ง BRI และ 3BW แต่ต้องวางยุทธศาสตร์อย่างละเอียดรอบคอบไม่ให้ได้รับผลกระทบ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า CLMVT และอาเซียนจะร่วมมือกันสร้างอำนาจต่อรองและสร้างคุณภาพในการเจรจาต่อรองได้มากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังขึ้นกับเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศด้วย
6) การที่อินโดนีเซียจะเป็นประธานการประชุม G-20 ในปี 2565 น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน เพราะจะสามารถเป็นตัวแทนการเจรจาต่อรองกับ G-7 เรื่อง 3BW ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
7) CLMVT และอาเซียนมีอำนาจต่อรองสูง เพราะเป็นตลาดส่งออกสินค้าและตลาดการลงทุนขนาดใหญ่ของทั้งจีนและสหรัฐฯ CLMVT จึงควรใช้จุดแข็งดังกล่าวและร่วมมือกันเพื่อลดผลกระทบจากการที่ CLMVT และอาเซียนอาจถูกบังคับให้ต้องเลือกข้างระหว่าง BRI และ 3BW เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แต่ละประเทศต้องตัดสินใจเลือกยุทธศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดอย่างละเอียดรอบคอบในการเกี่ยวโยงกับทั้ง BRI และ 3BW
——————————-